?>
ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน
The Buddhist Art Conservation Club Of Esan (North Eastern Part Of Thailand)
26 มิถุนายน 2567, 18:30:56 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

กติกาในการ เช่า-แลกเปลี่ยนพระเครื่อง | พระเครื่องเมืองอุบลราชธานี | แจ้งปัญหาการใช้งาน
แจ้งเรื่องการยืนยันตัวตนสำหรับผู้ที่จะให้เช่าพระเครื่องฯ | วิธีสมัครสมาชิกเว็บ

  แสดงกระทู้
หน้า: 1 ... 44 45 [46] 47
676  ห้องพระ / พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ / Re: พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ) เมื่อ: 28 ธันวาคม 2553, 07:09:53
                               พรรษา ๑๔ จำพรรษาที่เดิมสามองค์ด้วยกัน ( พ.ศ. ๒๔๗๙ )

                           การกลับไปครั้งนี้ทำให้เราลำบากใจ เพราะเขาทำความสนิทสนมกับเรามากกว่าท่านอาจารย์ อนึ่ง ท่านอาจารย์ท่านไม่ค่อยถูกกับอากาศเย็น เมื่อไปถูกกับอากาศเย็นเข้าอาพาธของท่านก็กำเริบแทบจะอยู่ไม่ไหว แต่ด้วยใจนักต่อสู้ท่านก็เอาชนะจนอยู่ได้ตลอดพรรษา   คราวนี้เราทำความเพียรดีมากเพราะนอกจากใช้อุบายของตนเองแล้ว ก็ได้อาจารย์ช่วยให้อุบายเราศึกษากับท่านอยู่ตลอดเวลา พอจวนเข้าพรรษาท่านอาจารย์ให้เราลงมาเอาท่านอ่อนสีไปอยู่ด้วย พอเราจากท่านไป ๕ คืน ท่านอยู่องค์เดียวได้วิเวกปรารภความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ  ท่านกลับได้อุบายดีโด่งเลย  อาพาธของท่านก็หายไปพร้อม ๆ กัน   พรรษานี้เราทั้งสามต่างก็ตั้งใจปรารภความเพียรจนเต็มความสามารถของตน ๆ แม้เหตุการณ์บางอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภายนอกหรือเนื่องด้วยอุบายในทางธรรม   ใครมีอะไรเกิดขึ้นเกือบจะเรียกได้ว่ารู้ด้วยกันทั้งนั้น   พรรษานี้ท่านอาจารย์ได้พยากรณ์อายุของท่านอย่างถูกต้อง   บางครั้งท่านก็พยากรณ์ลูกศิษย์ของท่านรูปนั้นบ้าง  รูปนี้บ้างต่าง ๆ นานา  ตามนิมิตและความรู้อันเกิดเองเป็นเองในภาวนาของท่าน  แต่แล้วท่านก็บอกว่า อย่าได้หลงเชื่อทั้งหมด อาจผิดได้ สำหรับเรานั้นตั้งตัวเป็นกลางเฉยๆ   เพราะเรื่องเหลานั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ไม่เหมือนกัน เรื่องนั้นมิใช่จุดประสงค์ของผู้กระทำความเพียรภาวนาอย่างแท้จริง จุดประสงค์ที่แท้จริงคือ การกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปโดยไม่มีเหลือต่างหาก    ในพรรษานี้ท่านอาจารย์ได้อบรมด้วยเล่ห์เหลี่ยมแลอุบายต่าง ๆ  อย่างไม่เคยเห็นท่านทำมาแต่ก่อนเลย   เราก็ได้ทำตามแลทำทันถูกต้องตามอุบายนั้น ๆ ของท่านทุกประการ   จนท่านออกอุทานเปรย ๆ ว่าท่านเทสก์นี้ใจร้อน แล้วท่านแสดงนิสัยตามความจริงของท่านออกมาตรง ๆ เลย นับว่าเป็นโชคดีของเราที่ได้อาจารย์ผู้อบรมเช่นนั้นให้แก่เรา   เราเข้าใจว่าท่านอบรมลูกศิษย์ผู้เช่นอย่างเราคงจะหาโอกาสได้น้อย  เพราะบุคคล  สถานที่  และโอกาส  เวลาไม่อำนวยเช่นนั้น   ถึงแม้ท่านจะอำนวยพรให้เราอยู่ในฐานะธรรมทายาท  เราก็ไม่เคยจะลืมตัวและยอมรับเลย   เราถือเสียว่าความจริงมันก็อยู่แค่ความจริงนั่นแหละ  หาพ้นความจริงไปได้ไม

                                              เรื่องแทรกของคนป่าเข้าบ้าน

                            ในพรรษานี้มีคนป่าซึ่งเรียกกันว่า 'ผีตองเหลือง' แต่พวกเขาเองไม่ชอบคำคำนั้น  เขาบอกว่าอย่าได้เรียกเขาว่า 'ผีตองเหลือง'  เพราะพวกเขากลัวผีเหมือนกัน ให้เรียกพวกเขาว่าคนป่า ชาวมูเซอเขาบอกว่าเขามาอยู่ที่นี่ได้ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว  เขาไม่เคยเห็นพวกเหล่านี้เข้ามาหาเลย   คนเผ่านี้เป็นคนไทยเดิม เท่าที่เคยสนทนากับชาวเมืองยอง เมืองรวง ซึ่งอยู่เหนือเชียงตุงขึ้นไปสำเนียงคำพูดภาษาเหมือน ๆ กัน ที่อพยพลงมาทำมาหากินอยู่เชียงใหม่ด้วยการจักสาน ทำขันโตกขันพาน เรียกว่าขันเขิน (คือฝีมือของคนเผ่าเขินนั้นเอง) เรื่องของคนป่าเผ่านี้แต่เดิมเขาบอกว่ามีราว ๖๐ คน  มาภายหลังเกิดไข้ทรพิษตาย  เดี๋ยวนี้มีหญิงชายรวมกันราว ๓๐ คน พอจะสรุปเรื่องของเขาดังนี้

            ความเป็นอยู่   ไม่มีหลักแหล่ง  ตัดไม้เล็ก ๆ สักแต่ว่าเป็นเสาปัก   แล้วเอากิ่งไม้ใบไม้อะไรปกคลุมพอนอนบังน้ำฝนน้ำค้างเล็ก ๆ น้อยๆ   บางทีก็นอนตามถ้ำเพิงหินหรือใต้ต้นไม้โคนต้นไม้  สักแต่พอบัง ๆ ผ้านุ่มห่มไม่มี  ที่ไปขอมาได้ไว้ปกปิดกายในเวลาเข้าไปในหมู่บ้าน  อยู่เป็นกลุ่ม ๆ กัน กลัวผี กลัวเสือเหมือนกัน ที่อยู่เขาในขณะที่เขาอาศัยอยู่ไม่ค่อยมีคนไปเห็น    หากบังเอิญมีคนไปเห็นเข้าผู้หญิงจะต้องวิ่งหนี    ถ้าวิ่งไม่ทันก็ล้มตัวนอนกลิ้งไป   ถ้ามีผู้ชายจะต้องวิ่งออกมาต่อสู้ด้วยอาวุธหอก (เข้าใจว่าเนื่องจากผู้หญิงไม่มีผ้าหุ้มตัวนั่นเอง)  เขาถือกันว่าผู้หญิงเห็นผู้อื่นนอกจากหมู่ของเขาแล้วเป็นเคราะห์ร้าย  เสือกินตาย   อยู่ที่ไหนถ้าอาหารอุดมสมบูรณ์ก็อยู่ได้นาน  อาหารหมดก็อพยพกันไปอยู่ที่อื่น เขาจึงเรียกชื่อนิมิตว่า ผีตองเหลือง คือพอใบไม้เครื่องมุงเหี่ยวแห้งเหลืองก็หนีไป

            อาหารการกิน   อยู่ได้ด้วยเนื้อสัตว์และหัวมันป่า  รวงผึ้ง  น้ำผึ้ง  สัตว์บางชนิดเขาไม่รับประทาน  เช่น งู เป็นต้น  แล้วก็กินสุก  จี่เผาแล้วจึงกิน  กินแต่กับ ไม่มีข้าวและข้าวสาลีเป็นหลักอย่างพวกคนธรรมดา ถ้าเป็นผึ้งก็จะเอามาคลุกกับไม้ผุหรือดินเพื่อให้มีเนื้อมาก ๆ แล้วจึงจะกิน   ไฟใช้เหล็กตีกับหิน (ที่เรียกเหล็กไฟพราน) หรือมิฉะนั้นก็ใช้ไม้สีกัน  เอาไม้ขีดกล่องให้ก็กลัวเพราะเวลาขีดมันฟู่

            วิธีล่าสัตว์   ล่าด้วยหอกป้ายน้ำยาพิษ (ยางน่อง)   เมื่อเห็นรอยสัตว์ก็จะค่อย ๆ ย่องตามไป   พอเห็นสัตว์นอนกลางวันเข้าใกล้แล้วค่อยพุ่งหอกใส่เลย  ถ้าเห็นสัตว์กำลังหากินอยู่ก็จะค่อย ๆ หาที่กำบัง  แอบเข้าไปให้ใกล้เท่าที่จะใกล้ได้  แล้วพุ่งหอกขึ้นบนอากาศให้ตกใส่เอง  เขาบอกว่าระยะไกลราว ๒๐ - ๓๐ เมตรก็ได้กิน หากหอกเข้าลึกถึง ๑ นิ้วฟุตแล้ว  เนื้อสัตว์เป็นพิษกินไม่ได้ เข้าตื้นกว่านั้นกินได้  เขาเคยเอามาให้เรา เนื้อย่างเหม็นเขียวควันไฟมาก     เขาเอามาวางไว้คาคบต้นไม้ไกลขนาด ๑๐ เมตร    เหม็นเขียวตลอดคืนแทบนอนไม่หลับ    ท่านอาจารย์บอกให้มูเซอเอาไปต้มดู  แหมเป็นดินเกือบครึ่งหนึ่ง  ฉันไม่ได้เลย

                          

                          

                          

                          หลวงปู่ขาว

            ขนบธรรมเนียมประเพณี   อยู่ป่าเป็นพื้น โดยไม่ยอมออกมาให้คนเห็น โดยมากหากจะออกมาก็จะมาขอผ้าขอข้าวแลเกลือแลเหล็กไปทำเหล็กไฟ    คนเผ่านี้บรรพบุรุษเดิมเขาเข้าใจว่าคงจะหนีเจ้าหนีนายเข้าป่ามานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากประเพณีเขาที่ว่า ห้ามเดินผ่านที่เตียนโล่ง และที่ซึ่งเขาปลูกฝัง ไม่ว่าอะไรทั้งหมด แม้แต่ของปลูกในไร่ หรือไร่ที่ได้ปลูกพืชลงแล้ว  พวกเขาเหล่านั้นจะไม่เดินเข้าไปกล้ำกรายเลย ไร่จะกว้างทางแสนจะกันดารเขาก็จะต้องเว้น ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครห้ามเขา  นี่แสดงถึงคนเก่าเฒ่าแก่เขาจะหลอกลวงไม่ให้ออกไปในที่โล่ง กลัวคนจะเห็นเอานั้นเอง และที่ว่าผู้หญิงเห็นคนเข้าแล้วจะต้องถูกเสือกินก็เหมือนกัน  การเข้ามาขอกินข้าวหรือข้าวสาลี หัวเผือกมันต่าง ๆ เขากินจนหมดไม่มีเหลือ เราได้บอกให้เขาเอาไปปันผู้หญิงกินบ้าง เขากลับตอบว่าไม่ได้      เขาได้กินแล้วมันจะติดรสเคยตัว      เมื่อเขาเข้ามาอยู่ในสังคมคนมูเซอ      ดูท่าทีของเขาเหล่านั้นแสดงอาการกลัวคนแปลกหน้าโดยเฉพาะคือกลัวเจ้านายนั้นเอง เดินไปช้าๆ  มีการสำรวมระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลาอย่างน่าสงสาร เวลาเข้าป่าจะคล่องตัวเรามองตามแทบไม่ทัน เห็นแต่ใบไม้ปลิวกับเสียงควบคาบ ๆ เท่านั้นเอง

           การสมรส   หญิงชายต่างมีอิสระในตัวของตนเองเช่นคนธรรมดาสามัญของคนทั่วไป ต่อเมื่อชายมีโชคลาภร่ำรวยได้เนื้อได้อาหารมา  หญิงใดชอบรักก็จะไปนอนเป็นคู่เคียงด้วย  ส่วนจะแบ่งกันอย่างไรเราลืมถามเขา การเลี้ยงลูกจะเป็นภาระของผู้หญิงแต่ฝ่ายเดียว   เขาเคยเข้ามาหาเรา   เราได้สัมภาษณ์เขาหลายเรื่องจึงรู้เรื่องของเขาดี   เราเห็นเขาแล้วคิดสงสาร  เพราะเขาเป็นคนเผ่าไทยเดียวกับเรา  พูดรู้เรื่องกันทุก ๆ คำ รูปร่างหน้าตาก็เหมือนกันกับพวกเราทั้งสิ้นทุกอย่าง ในใจเราคิดอยากสงเคราะห์เขาให้มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง   อย่างน้อยก็ให้เหมือนกับเผ่ามูเซอหรือเผ่าอื่น ๆ  ที่อยู่บนเขา    หากเขาจะรับสงเคราะห์แล้วเราจะตั้งใจจะรายงานเป็นทางการไปหาเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อจะได้สงเคราะห์เขาต่อไปด้วยเครื่องมือและเครื่องใช้ตลอดจนพืชพันธุ์ต่าง ๆ ทีหลังเขามาหาเรา เราได้ทาบทามเขาดูว่า การที่ได้บริโภคข้าวก็ดี บริโภคข้าวโพดและเผือกมัน ตลอดถึงพริกเกลือก็ดี รู้สึกอย่างไร อร่อยไหม เขาตอบว่า อร่อยดี เราบอกว่า ถ้าอย่างนั้นให้พากันมาอยู่เป็นกลุ่มอย่างมูเซอเหล่านั้น แล้วทำไร่ปลูกข้าวและเผือกมันกินเสียจะดีไหม พอเราพูดได้เท่านั้น เขารีบพูดสวนค้านขึ้นมาทันทีว่า  พวกข้าน้อย(ผม) เป็นคนป่า ทำไม่ได้  ถ้าทำเข้า แผ่นดินจะปลิ้น  (เป็นคำพูดของคนรุ่นเก่าที่พูดคัดค้านอย่างรุนแรง)   คือหมายความว่าสิ่งนั้นมันเป็นไปไม่ได้   ถ้าทำได้ก็ต้องทำให้แผ่นดินพลิกกลับเอาข้างล่างขึ้นมาเป็นข้างบน) พอเราได้ยินเขาพูดดังนั้น โครงการของเราก็เลยยุติลงเพียงแค่นั้น
                       เป็นที่น่าเสียดายผู้ที่ได้มนุษย์สมบัติอันล้ำค่า         แต่หาได้ทำให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควรไม่ เพราะเกิดในถิ่นอันไม่สมควร     แต่บุคคลที่น่าสงสารมากกว่านั้น      คือผู้ที่เกิดมาแล้วได้รับความสมบูรณ์พูนสุขพร้อมด้วยประการทั้งปวง  ตลอดถึงการศึกษาแล้วประมาทจมอยู่ในความสุขนั้น ๆ อันหาสาระมิได้  นอนให้กาลเวลาเขมือบอายุชีวิตให้สิ้นไปโดยไร้ประโยชน์ก็ยังมีเป็นอันมาก
                       ในพรรษานี้  นอกจากท่านอาจารย์จะพยากรณ์สิ่งต่าง ๆ แล้ว  ยังปรารภว่า  ท่านยังมีภาระที่จะต้องรับหมู่คณะต่อไปอีก   แล้วก็ปรารภที่จะตั้งสำนักทางเชียงใหม่เสนอให้เราพิจารณาอีกด้วย   เราดีใจที่ท่านคิดจะรับเป็นภาระหมู่อีก แล้วเราจึงปรารภถึงคนทางภาคอีสานว่า  เหมาะสมควรแก่การปฏิบัติธรรมมากกว่าทุก ๆ ภาค  โดยเฉพาะภาคเหนือแล้วได้ผลน้อย  เราได้ชี้ให้ท่านเห็นว่า  ดูแต่ท่านอาจารย์มาอยู่ทางนี้ได้ ๗ - ๘ ปีแล้ว   มีใครบ้างที่ออกปฏิบัติตาม  หมู่ที่ต่าง ๆ ท่านอาจารย์มานี้ล้วนแต่ลูกศิษย์เก่าคนภาคอีสานทั้งนั้น  บัดนี้คนทางภาคอีสานไม่ว่าพระและฆารวาส   มีเจ้าคุณธรรมเจดีย์  เป็นต้น  ต่างก็พากันบ่นถึงท่านอาจารย์   กระผมมานี้ทุกคนร้องขอให้กระผมอาราธนาให้ท่านอาจารย์กลับทั้งนั้น   ส่วนการจะกลับทางไหนเขายอมยินดีรับภาระทั้งหมด  ขอให้กระผมบอกข่าวเขาก็แล้วกัน      แล้วท่านก็ปรารภถึงภูเขาทางอำเภอนาแกว่าน่าอยู่น่าสบายมาก    ท่านชอบภูเขาเช่นนี้ พวกเราพากันไปอยู่ทางโน้นเถอะ  แต่ว่าท่านต้องเป็นนายประตูให้ผมนะ หากใครมาหาถ้าท่านเห็นไม่สมควรขออย่าได้ปล่อยให้เข้ามาหาผม   หลังจากออกพรรษาแล้วท่านได้กลับลงมาทางอำเภอพร้าวอีก (ตามที่เพื่อน ๆ เล่าให้ฟังว่า   ท่านได้มาปรารภกับหมู่คณะในทำนองนั้นอีกเหมือนกัน)        ส่วนเรากับท่านอ่อนสีได้ขออนุญาตท่านอาจารย์อยู่ประกอบความเพียรในบริเวณนั้นต่อไปเพื่อให้สาสมแก่ใจอีก       ต่อมาไม่กี่วันท่านได้พาอาจารย์สาน อาจารย์แหวน อาจารย์ขาว กลับคืนมาหาเราอีก แล้วท่านก็ปรารภในการที่จะจัดตั้งสำนักรับหมู่คณะอีก เราได้ยืนกรานตามคำเดิม  หากตั้งทางภาคนี้ผมไม่เห็นด้วย  แต่ถึงอย่างไร  ถ้าท่านอาจารย์ตั้งอยู่ทางภาคนี้จริงแล้ว  หลังจากท่านอาจารย์ตั้งสำนักแล้วสามปีผมจึงจะไปช่วยเหลือ     คณะของท่านอาจารย์ได้พักอยู่ด้วยสองคืนแล้วก็แยกย้ายกันไป  ท่านอาจารย์สาน  อาจารย์แหวน  และอาจารย์ขาว   กลับลงมาอำเภอพร้าว ท่านอาจารย์มั่นกับท่านมนูเลยลงไปทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แล้วจำพรรษาทางโน้นเลย   ส่วนเรากับท่านอ่อนสียังพากันประกอบความเพียรอยู่ ณ ที่นั้นต่อไป  เมื่อท่านแยกย้ายกันไปหมดแล้ว  เรากับท่านอ่อนสีได้แยกกันอยู่คนละแห่ง คือท่านอ่อนสีอยู่ที่เดิม  เราได้แยกไปอยู่ภูเขาอีกลูกหนึ่ง

                        

                       

                        หลวงปู่แหวน
677  ห้องพระ / พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ / Re: พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ) เมื่อ: 28 ธันวาคม 2553, 07:09:30
                        พรรษา ๑๒ จำพรรษาที่ป่าเมี่ยง แม่ปั๋งเราตั้งต้นเรียนกัมมัฏฐานใหม่ ( พ.ศ. ๒๔๗๗ )

                         พอท่านพูดจบ   เรานึกตั้งปณิธานไว้ในใจว่า  เอาละคราวนี้เราจะเรียนกัมมัฏฐานใหม่  ผิดถูกเราจะทำตามท่านสอน    ขอให้ท่านเป็นผู้ดูแลและชี้ขาดแต่ผู้เดียว   นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา   เราตั้งสติกำหนดพิจารณาอยู่แต่เฉพาะกาย  โดยให้เป็นอสุภเป็นธาตุสี่  เป็นก้อนทุกข์อยู่ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน   เราใช้เวลาปรารภความเพียรอยู่ด้วยความไม่ประมาท สิ้นเวลา ๖ เดือน  (พรรษานี้เราจำพรรษาอยู่ที่นี้) โดยไม่มีความเบื่อหน่าย ใจของเราจึงได้รับความสงบและเกิดอุบายเฉพาะตนขึ้นมาว่า
                        ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น    แต่คนเราไปสมมติแล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันจึงต้องยุ่งและเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง
                        เราได้อุบายครั้งนี้ทำให้จิตหนักแน่นมั่นคง ผิดปกติกว่าเมื่อก่อน ๆ มาก  แล้วก็เชื่อมั่นในตัวเองว่าเราเดินถูกทางแล้ว  
 แต่ยังไม่ได้กราบเรียนท่านอาจารย์  เพราะความเชื่อในอุบายของตนเองว่าเราจะกราบเรียนท่านเมื่อไรก็คงได้
                        ปีนั้นอากาศเย็นจัดมากจนได้สุมไฟนอน ไม้บาดที่มือ เลือดไม่มีเลย ออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์มั่นลงมาที่บ้านทุ่งหมากข้าว เราสองคนกับพระอ่อนสี (พระครูสีลขันธ์) ยังคงอยู่ที่เดิมแต่เปลี่ยนที่กัน คือเราลงมาอยู่ที่ท่านอาจารย์มั่นกับพระอ่อนสีจำพรรษา  พระอ่อนสีขึ้นไปอยู่บนเขาที่เราอยู่จำพรรษา  กลางคืนเสือมานั่งเฝ้าพระอ่อนสีที่นอนข้างกองไฟ  พอไฟดับมันหนาวลุกขึ้นจะใส่ไฟ  เสือร้องโฮกแล้วก็กระโดดเข้าป่าไป ท่านเป็นชาวทุ่งไม่รู้จักเสียงเสือ  เราก็ไม่บอกให้ทราบเลย  กลัวท่านจะกลัว  ต่อมาท่านอาจารย์มั่นมีหนังสือให้พวกเราลงไปหา ราไปช่วยทำธุระท่านอยู่ ๑๐ คืน  เอ๊ะ  อุบายที่เราเคยพิจารณาอยู่ชัดเจนแจ่มแจ้ง  ชักจะไม่ค่อยชัดเจนเสียแล้ว นี่เห็นคนเป็นคนไปตามสมมติเสียอีกแล้ว พอเสร็จธุระเรากับอาจารย์แหวนขอลาท่านออกเที่ยววิเวกอีก ส่วนท่านอ่อนสีให้อยู่อุปัฏฐากท่านอาจารย์มั่น เราพากันออกเดินทางราวสามร้อยเส้นก็แวะเข้าป่าพักรุกขมูลแห่งหนึ่ง คืนวันนั้นได้ยินเสียงเสือร้องบนยอดเขาทำให้ใจเราวิเวกมาก  ระลึกเอาพุทธคุณมาเป็นอารมณ์ ต่อนั้นก็ทำให้เกิดความรู้มหัศจรรย์แปลก ๆ อยู่หลายอย่าง ๆ ไม่คิดและไม่เคยเป็นมาแต่เมื่อก่อนเลย [/b] พวกเราพัก ณ ที่นั้นสองคืนแล้วออกเดินทางต่อไปพบท่านอาจารย์สานที่อำเภอพร้าว  แต่เราอยู่กับท่านไม่ได้นาน  เพราะคิดถึงวิเวก  จึงได้ลาท่านขึ้นไปบนภูเขามูเซอ ไปทำความเพียรอยู่ ๙ คืน  โดยคิดว่าเราจะไปอยู่กับหมู่คนที่พูดไม่รู้ภาษากัน แล้วจะได้ประกอบความเพียรให้เต็มที่ ส่วนอาหารเราทราบดีแล้วว่าเขาใจบุญพอจะได้ฉันแน่

                                                            เกิดวิปลาส
 
                      เราได้ปรารภความเพียรอย่างสุดความสามารถจนเกิดวิปลาสขึ้นว่า พระพุทธเจ้าพระสงฆ์ไม่มี มีแต่พระธรรม  เพราะพระพุทธเจ้าก็คือ พระสิทธัตถะกุมาร มารู้พระธรรมจึงได้เป็นพระพุทธเจ้า แม้ตัวพระพุทธเจ้าเองก็เป็นรูปธรรมนามธรรม   พระสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน  ที่ได้มาเป็นพระสงฆ์ทั้งที่เป็นอริยและปุถุชนก็มาดำรงอยู่ในพระธรรมนี้ทั้งนั้น             แต่เราได้ย้อนมาตรวจดูความสมมติบัญญัติแล้ว  เอ  นี่มันไม่ตรงกันนี่  ความเห็นของเราสองแง่นี้ได้โต้กันอยู่หลายวันไม่ตกลง ดีที่เราไม่ยอมทิ้งสมมติบัญญัติ  ถ้าหาไม่แล้ว ดูเหมือนจะสนุกใหญ่เหมือนกัน พอดีท่านอาจารย์สานให้คนมานิมนต์ให้ลงไปรับไทยทาน  ใจหนึ่งมันก็ยังไม่อยากไป   แต่มาคิดถึงบริขารผ้าสบงว่าเราใช้มาร่วมสามปีแล้ว  เกรงจะใช้ได้ไม่คุ้มพรรษา ไหน ๆ เราไปแสวงหาบริขารให้สมบูรณ์แล้วจึงกลับขึ้นมาใหม่  จึงรับนิมนต์ท่าน  เมื่อลงมาก็ได้สมประสงค์ทุกอย่าง  แลความเห็นวิปลาสนั้นก็หายไปเอง

                                          พรรษา ๑๓ จำพรรษาที่บ้านมูเซอ ( บ้านปู่พญา ) ( พ.ศ. ๒๔๗๘ )

                      เมื่อตัดเย็บสบงย้อมเสร็จแล้วเราจึงได้ขึ้นไปใหม่  แต่ไปคราวนี้มิได้ไปที่เดิม ขึ้นไปทางบ้านปู่พญา เมื่อเราไปถึงเขาพากันใจดีจัดเสนาสนะให้เราอยู่อย่างพร้อมใจกัน โอ้โฮ เบื้องต้นเราผิดหวังไปถนัดทีเดียว เรานึกว่าพูดไม่รู้ภาษากันคงไม่มีใครมายุ่งเกี่ยว ที่ไหนได้ขึ้นไปครั้งแรกพักบ้านร้าง เขาไม่เคยเห็นพระธุดงค์ ทั้งเด็กเล็กหนุ่มแก่พากันมายืนมองดูเรา จากไกลจนใกล้เข้าชิดขนาดจะเหยียบเท้าเราเลย มึงไปกูมา จากเที่ยงถึงราวบ่ายสี่โมงเย็น  จากยืนลงนั่ง  จากนั่งลงนอน  ความสกปรกเหม็นสาบ  ไม่ทราบว่าอะไรต่ออะไร  ทำเอาเราเป็นลมมืดหน้าแทบตาย เขาทำทางให้เดินจงกรม  พอเราออกเดินเท่านั้นแหละแม่เอ๊ยพากันกรูตามเป็นหางยาวเหยียดสุดทาง   เราทนไม่ไหวกลับมานั่งลง  เขายังพากันเดินเป็นกลุ่มสนุกอยู่เลย   ทีหลังทำความเข้าใจกันกับหัวหน้าเขา (ปู่พญาเท่ากับกำนัน) ว่า ไม่ควรเดินตามท่านหากต้องการบุญเมื่อเห็นท่านเดินอยู่เราต้องพากันปึ๊  (ประนมมือ) ก็ได้บุญดอก     คราวนี้เมื่อเห็นเราออกเดินจงกรมทีไร    พากันมาปึ๊เป็นแถวๆ    ผู้ที่ยังไม่มาก็ไปเรียกกันมาเป็นกลุ่ม ๆ   คิดดูแล้วก็น่าสงสารคนบ้านป่าไกลความเจริญแต่ซื่อสัตย์สุจริต    ไม่มีใครไปอบรมเขาเป็นสิบ ๆ ปี หากไม่มีคดีอุกฉกรรจ์แล้ว    เจ้านายก็ไม่ขึ้นไปให้เขาเห็นหน้าเลย     เขาบริหารกันเอง  เชื่อถือหัวหน้ากันเคร่งครัด   ใครไม่ดี เช่น  เป็นคนหัวแข็งหาเรื่องทะเลาะวิวาทเพื่อนบ่อย ๆ หัวหน้าตักเตือนไม่เชื่อฟัง  หัวหน้าต้องขับหนีจากหมู่บ้าน   เมื่อแกไม่ไปเขาก็ต้องหนีจากแกไป    ส่วนการขโมยรับรองไม่มีเด็ดขาด    เมื่อเราเดินทางไปตามภูเขา   เห็นบ้านหนึ่งหลังหรือสองหลัง   เราทายได้เลยว่าแค่นี้อยู่กับเขาไม่ได้เลย   ชาวเขาแถบนี้เขาอดข้าวทำไร่ไม่ได้ผลมาแต่ปีกลาย   หมู่บ้านที่เราไปอาศัยอยู่นี้มี ๑๒ หลังคาเรือน   มีข้าวกินเพียง ๓ เรือนเท่านั้น   เขามีศรัทธาดีมาก เวลาเราออกบิณฑบาตมีคนตักบาตรเพียงสามคนเท่านั้น   แต่เขาใส่มากเราก็พอฉันอิ่ม   ทีหลังหัวหน้าเขามาเล่าให้เราฟังว่า   ทุกคนมีศรัทธาอยากใส่บาตรอยู่   แต่เขาละอายไม่มีข้าว   เขาพากันรับประทานมันป่าต้มแทนข้าว   เราเกิดความสงสารเขา  พอดีเราก็ชอบมันนึ่งอยู่แล้ว  จึงบอกเขาว่า ฉันชอบมันนึ่งจึงได้ขึ้นมาอยู่ด้วยพวกเธอ   ถ้าหาไม่แล้วฉันไม่ได้มาดอก    พอเขารู้เรื่องนั้นแล้ว    วันหลังเขาพากันขุดมันป่ามานึ่งตักบาตรเราเต็มบาตรทุกวัน ๆ แล้วก็พากันชอบใจหัวเราะ   ยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างน่าเอ็นดู   เขากลัวเราจะไม่ฉันให้เขาตามมาดูถึงที่เลย   เราได้แล้วก็ตั้งใจฉันให้เขาเห็น   แม้ปีนั้นปลูกข้าวแล้วฝนไม่ดี   ทำให้ข้าวที่ปลูกไว้เหี่ยวแห้งเหลืองซีดไปหมด   ยังเหลือสิบวันจะเข้าพรรษา  เขาพากันจัดเสนาสนะให้เราอยู่เสร็จเรียบร้อย  ฝนตกลงมาอย่างน่าอัศจรรย์   เขาพากันดีใจอย่างล้นพ้นว่าเป็นเพราะบุญของเขาที่ทำวัดให้เราอยู่   ข้าวได้เขียวขจีงามทันหูทันตา   ปีนั้นเขาทำไร่ได้ข้าวมากจนเหลือบริโภค   บางคนจนได้ขายก็มี แท้จริงแต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยมีพระไปอยู่จำพรรษากับมูเซอ เราอาจเป็นพระองค์แรกในเมืองไทยก็ได้ที่ได้ไปจำพรรษาอยู่ด้วยมูเซอ
            เมื่อเขาจัดเสนาสนะให้เราเรียบร้อยแล้ว เราได้ระลึกถึงพุทธประวัติว่า พระสิทธัตถะบำเพ็ญเพียรได้ตรัสรู้เมื่อพระชนมายุได้  ๓๕ พรรษา    ปีนี้อายุของเราก็เท่ากับพระชนมายุของพระองค์ในกระโน้น (คือเราอุปสมบทเมื่ออายุย่าง ๒๒ ปี)  ฉะนั้นปีนี้เราจะบำเพ็ญภาวนาเพื่อบูชาการตรัสรู้ของพระองค์ แม้ชีวิตของเราจะแตกดับเพราะการภาวนา เราก็จะยอมทุก ๆ วิถีทาง ชีวิตนี้ของเราขอให้เป็นเหมือนดอกบัวบูชาพระฉะนั้นเถิด        แล้วเราก็ทำความเพียรตามที่เราได้ตั้งปณิธานไว้ตลอดพรรษา แต่แล้วการภาวนาของเราก็ไม่เจริญก้าวหน้า เป็นแต่ทรงอยู่  เพื่อให้สาสมแก่เจตนาของเรา จึงได้ทรมานตนด้วยการอดอาหารอยู่ ๕ วัน  ชาวมูเซอเขาไม่เคยเห็น  กลัวเราจะตาย   พากันมาขอร้องให้เราฉันตามปกติ เราได้ปฏิเสธเขาไป แล้วทำตามปณิธานของเราอยู่จนครบ ๕ วัน เขาได้ผลัดเปลี่ยนกันแอบมามองดูเรา  ถ้าเราปิดประตูทำความเพียรอยู่ในห้อง เขาจะมาเรียกให้เราขานตอบเมื่อเห็นเราขานตอบแล้ว  เขาก็กลับไป แท้จริงการอดอาหารมิใช่ทางให้ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าของเราได้ทรงบำเพ็ญมาแล้ว  บอกว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค  แม้ครูบาอาจารย์ของเราทุก ๆ ท่านก็บอกเราเช่นนั้นเหมือนกัน  ตัวเราเองก็เคยได้กระทำมาแล้ว  มันเป็นเพียงเครื่องทรมานกายเท่านั้น  หาได้เกิดปัญญาฉลาดค้นคว้าในธรรมให้ฉลาดเฉียบแหลมอะไรไม่   แต่นี่เราทำเพื่อทดสอบกำลังใจของตนเองดูว่า  ความอาลัยในชีวิตกับความเชื่อมั่นในคุณธรรมที่เราเห็นแล้ว   อะไรจะมีน้ำหนักกว่ากัน เมื่อเราได้ความจริงด้วยใจตนเองแล้ว  เราก็กลับฉันอาหารตามเคย  แต่เราไม่ฉันข้าว ฉันแต่หัวมัน หัวเผือกนึ่ง ฉันอยู่ ๔ - ๕ วัน  แล้วจึงฉันข้าว  ชาวมูเซอเห็นเรากลับฉันอาหารแล้วเขาพากันดีใจ ในพรรษานี้เราได้นิมิตในภาวนาอันแสดงถึงความมั่นคงในด้านอุบายภาวนาเป็นที่พอใจของเรามาก             มูเซอคุยโม้อวดเราว่า ตุ๊เจ้า  (ท่าน)   มาอยู่ด้วยดีมาก   ข้าวไร่อุดมได้มากเหลือกิน   บางคนจนได้ขายวัว  ควาย (เขาเลี้ยงไว้ไม่ได้ใช้งาน) ที่ไม่เคยได้ขายก็ได้ขาย (ปกติเขาเลี้ยงหมูขายเป็นรายได้ประจำครอบครัว) พริกแห้งเป็นรายได้ประเภทหนึ่ง นอกนี้แล้วไม่มีรายได้อะไรเลย เงินทองเราก็เก็บไว้ได้เหลือใช้ ตุ๊เจ้ามาสอนไม่ให้เราเล่น ไพ่ ถั่ว เบี้ย  เราก็ไม่เล่น เมื่อก่อนมีพวกกะเราะ (ชาวเมือง)  เขามาหลอกให้เราเล่น บัดนี้เราฟังคำตุ๊เจ้าสอน เราไม่เล่นแล้ว  ออกพรรษาแล้วหัวหน้าเขาคนเดียวได้นำผ้าขาวหนึ่งพับมาทอดผ้าป่าเรา  แล้วเราได้ลาชาวมูเซอเพื่อกลับลงไปเยี่ยมนมัสการท่านอาจารย์มั่น ที่บ้านทุ่งมะข้าว ตำบลแม่ปั๋ง เขาพากันอาลัยเรามาก พากันร้องไห้ขอให้เรากลับมาอีก   เราไม่แน่ใจได้บอกกับเขาไปว่าให้ไปหาอาจารย์ดูก่อน   บางทีอาจได้กลับมาอีก เมื่อเราไปถึงท่านอาจารย์มั่นแล้ว ได้เล่าพฤติการณ์ต่าง ๆ ถวายท่านทุกประการ  ท่านชอบใจชวนเรากลับไปอีก การกลับไปครั้งนี้เป็นสามองค์ด้วยกัน คือ ท่านอาจารย์ เรา ท่านอ่อนสี เมื่อจะขึ้นไปจริง ท่านอ่อนสีไม่สบายให้รออยู่ข้างล่างก่อน

678  ห้องพระ / พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ / Re: พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ) เมื่อ: 28 ธันวาคม 2553, 07:09:04
                           เมื่อเราได้อนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ที่ได้ผ่านพ้นอันตรายมาอย่างน่าหวาดเสียวแล้ว   ทำให้เราเกิดความปลื้มปีติอิ่มใจจนทำให้ร่างกายสั่นสะท้านอยู่หลายวัน แม้หลังจากนั้นแล้วเมื่อเราปรารภถึงเรื่องนั้นขึ้นมาทีไร ก็เกิดปีติขึ้นมาเช่นเคยตลอดเวลาเกือบยี่สิบปีทีเดียว  เราละอายแก่ใจมาก ไม่อยากจะพูดเลยว่ามาตุคามเป็นภัยอันตรายมากแก่พรหมจรรย์  เพราะมารดาของเราก็เป็นผู้หญิง  และพุทธศาสนาที่เราซุกหัวพึ่งร่มเงาอยู่ในขณะนี้   โดยมากก็อาศัยผู้หญิงค้ำจุนไว้แท้ ๆ ถึงสมัยพุทธกาลนางวิสาขาก็มีนามกระเดื่องเลื่องลือว่าเป็นมหาอุบาสิกาในพระพุทธศาสนาคนหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นเมื่อพระพุทธองค์จะเตือนพระสาวกให้ระวังสังวรในพรหมจรรย์แล้ว  ก็เตือนให้ระวังสังวรในเพศตรงข้ามโดยส่วนมาก  เช่น  ในปัจฉิมโอวาทคราตรัสตอบคำถามของพระอานนท์ที่เกี่ยวถึงการปฏิบัติต่อสตรีเพศหลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว  "การที่ไม่ได้เห็นไม่ได้ยินนั้นแลดี   หากจะมีการได้เห็นได้ยิน ก็อย่าทำความสนิทแลพูดคุยด้วย หากจำเป็นจะต้องพูดคุยด้วยแล้ว ก็จงสำรวมใจไว้ให้ดี"   ดังนี้เป็นต้น ส่วนสตรีเพศเล่าผู้อบรมใจของตนให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้       ก็มาปรารภบุรุษเพศที่ตรงกันข้ามอันเป็นอิฏฐารมณ์จนให้เห็นโทษแล้วเบื่อหน่ายเหมือนกัน   ดังเรื่องนางอุบลวรรณาเถรีภิกษุณีกล่าวตอนหนึ่งใจความว่า "เราเห็นโทษในกามทั้งหลาย  เมื่อกามเข้าไปกลุ้มรุมอยู่ในหัวใจของคนใดแล้วย่อมทำให้บอดให้มืด  แม้บิดาก็สามารถสังวาสกับบุตรสาวของตนได้"
                          เป็นอันสรุปได้ว่า ภัยอันตรายที่ร้ายกาจของพรหมจรรย์ตัวสำคัญตัวหนึ่งคือ กามโลกีย์ แต่มิได้หมายเอาเพศตรงข้ามแต่อย่างเดียว     เพราะมนุษย์สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในกามภูมินี้ย่อมเกิดจากบิดามารดาสองคนจึงเกิด  ฉะนั้นใคร ๆ จะทำอย่างไร ๆ ก็ต้องหนีไม่พ้นเพศตรงข้ามอยู่ดี ๆ นี่เอง แต่ผู้จะไปให้พ้นจากกามทั้งหลาย ต้องยกเอากามมาเป็นเหตุมาเป็นเครื่องปรารภทั้งนั้น โดยเฉพาะก็คือเพศตรงข้าม อันเป็นวัตถุที่ตั้งเครื่องหมายของกามราคะ เพราะความใคร่ความกำหนัดเป็นนามธรรมซึ่งมีอยู่แล้วในจิตของทุก ๆ คน เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องเพ่งลงไปในรูปธรรม ให้เป็นเครื่องหมายแล้วก็ยึดเอาเป็นอารมณ์ อนึ่งรูปธรรมที่จิตไปเพ่งเล็งอยู่นั้น ก็มีพร้อมที่จะสนองความใคร่ความกำหนัดทุกประการ เป็นต้นว่า รูป เพศ สี สัณฐาน กิริยา มารยาท และวาจา
                          ฉะนั้น เพศที่ตรงกันข้ามก็ดี หรือวัตถุกามทั้งหลายก็ดี จึงได้ชื่อว่าเป็นของมีอุปการะแก่ผู้ซึ่งเห็นโทษในกามทั้งหลายแล้วจะทำตนให้พ้นจากกามโลกนี้ได้เป็นอย่างดี   ถ้าหาไม่แล้วพระธรรมวินัย พุทธบัญญัติ หรือการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานทั้งหลาย ตลอดถึงอุบายและปัญญาทั้งปวง ก็จะไร้ค่าหาประโยชน์มิได้
                          มนุษย์สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในกามภพนี้ ทุกคนจำจะต้องต่อสู้กับภัยอันตรายพรรค์นี้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าผู้อยู่ในสมณะเพศหรือฆารวาส  อย่างน้อยถึงจะไม่มีอาวุธทันสมัย  ก็ต้องใช้อาวุธที่บิดามารดาปั้นให้  (คือกำปั้น) ต่อสู้ ผู้ใดไม่ลุกขึ้นทำการต่อสู้ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ไร้สาระในชีวิตที่เกิดมา แต่ยุทธวิธีของสมณะกับของฆารวาสมีผิดแผกกันอยู่ที่ตรง สมณะต่อสู้เพื่อชิงชัย ฆารวาสต่อสู้เพื่อปราชัย ผู้ไม่ต่อสู้เสียเลย คือผู้ที่เน่าทั้งเป็น ๆ เรื่องทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้บวช   เพื่อรักษาซึ่งพรหมจรรย์   อันจะสืบศาสนาของพระพุทธเจ้าต่อไป  อันมาตุคามเป็นภัยแก่พรหมจรรย์อย่างมหันต์  แต่ก็มีคุณอนันต์แก่พระศาสนาเท่ากัน  เพราะมาตุคามเป็นเรือนร่างที่เกิดของพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย  และยังเป็นที่ปรารภให้เกิดธรรมของท่านเหล่านั้นด้วย   ในทัศนะของเราแล้ว ภิกษุผู้ล่วงละเมิดในพระวินัยที่น่าเกลียดที่สุด  คือสิกขาบทที่เกี่ยวด้วยรูปิยะ เรื่องความรัก ๆ ใคร่ ๆ ที่เรียกว่ากามโลกีย์นี้ นับประสาอะไรแต่สมณะผู้ละกามทั้งหลายแล้วออกบวช แม้แต่ฆารวาสผู้หมกมุ่นข้องใจอยู่ในกามคุณ 5 แท้ ๆ หากผู้ใดไปปรารภหรือแสดงปฏิกิริยาออกมาในที่ประชุมชนผู้ดีแล้วเขาถือกันว่าเป็นคนเลว
         เราได้นำท่านผู้อ่านเข้าบุกป่าฝ่าภัยอันตรายที่ร้ายแรงมาจนอ่อนเพลียแล้ว      บัดนี้ขอวกเข้ารายการติดตามท่านอาจารย์มั่นต่อไป

                          

                          วัดเจดีย์หลวง3

                          

                          วัดเจดีย์หลวง

                          

                          ท่านพ่อลี

                                                 ตามท่านอาจารย์มั่นเข้าเขตพม่า ( พ.ศ. 2476 )

                          พวกเราพากันอยู่วัดเจดีย์หลวง 2 - 3 คืน  แล้วก็ลาสมภารท่านออกเดินทางเพื่อตามหาท่านอาจารย์มั่นต่อไป   เมื่อสืบถามดูตามสำนักต่าง ๆ  ที่ท่านเคยพักอาศัยไม่ได้เรื่องแล้วเพื่อสิ้นความสงสัย   พวกเราจึงตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ    เข้าเขตพม่าไปทางเมืองหาง - เมืองต๋วนหมอกใหม่รางเครือ  ขึ้นไปถึงผาฮังฮุ้ง (รังรุ้ง) ติดเขตเมืองปั่นแม่น้ำสาละวิน แต่ก็ผิดหวัง ไม่ปรากฏวี่แววว่าท่านจะไปทางนั้น พวกเราทนหนาวไม่ไหว พักอยู่ด้วยชาวเขาเผ่าปะหล่อง 2 คืน แล้วก็กลับลงมาหนาวอะไรถึงขนาดเดือนมีนา - เมษาแท้ ๆ   นอนกองไฟตลอดกลางวันกลางคืนเลย หากเป็นฤดูหนาวหรือปีที่หนาวจัดแล้วจะขนาดไหนกัน   เหตุที่ท่านอาจารย์มั่นจะหนีเข้าป่า เนื่องด้วยเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) นับถือท่านอาจารย์มั่นมาก เมื่อท่านเห็นว่าจะมีชีวิตอยู่ไม่รอดแล้ว   พร้อมทั้งขณะนั้นพระผู้ใหญ่ผู้ซึ่งสมควรจะครองวัดเจดีย์หลวงไม่มี   ท่านจึงมอบภาระวัดเจดีย์หลวงให้ท่านอาจารย์มั่นต่อไป     ท่านอาจารย์มั่นท่านชอบสงบไม่ต้องการความยุ่ง    ท่านได้อยู่จำพรรษาเพื่อสนองเจตนาของเจ้าคุณอุบาลี ฯ เพียงพรรษาเดียว   ออกพรรษาแล้วก็ลาเข้าป่าหายไป  พอดีกับท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ ท่านก็มรณภาพในพรรษานั้น ต่อจากนั้นสองพรรษาไม่มีใครทราบข่าวคราวว่าท่านไปอยู่ไหน เราทั้งสองกับท่านอ่อนสีจึงได้ค้นหาตามไปพบท่าน
                          การเดินรุกขมูลคราวนี้   เป็นการแสวงหาท่านอาจารย์มั่นไปในตัว  อยู่ในเขตเมืองไทยของเราถึงแม้จะกันดารด้วยนานัปการก็เป็นธรรมดาของผู้เดิน รุกขมูล   พอออกนอกเขตเมืองไทยเราไปแล้วแสนจะรำคาญและกันดารหลายอย่าง  เช่น   คำพูดและขนบธรรมเนียมประเพณี  ซึ่งบางอย่างทั้งๆ  ที่ถือพุทธด้วยกัน    แต่การถือผิดแผกจากที่เราเคยถือมาจนบางอย่างไม่ตรงกับธรรมวินัยพุทธบัญญัติ เลยก็มี         มันลำบากใจแก่เราผู้เป็นอาคันตุกะอย่างยิ่ง  ยิ่งเที่ยวไปตามหมู่บ้านชาวเขาต่าง ๆ  แล้วแสนจะกันดาร  หนทางยิ่งแล้วใหญ่ บางแห่งต้องเดินตามลำธารหุบเขา  มิฉะนั้นก็เดินเลียบหน้าผาที่สูงชัน  ตอนขากลับลงมาลื่นก้อนหินหกล้มหัวเข่าแตกเหวอะหวะ  ต้องอุตส่าห์เดินกะเผลก ๆ จึงถึงบ้านโป่งป่าแขม  อันเป็นเขตแดนไทยพม่าติดต่อกัน แล้วมานอนรักษาตัวอยู่ที่ถ้ำปล่อง 10 คืน
                         เมื่อเราเข้าไปในพม่ามีสิ่งที่น่าชมคือเขาเป็นชอบสงบ  ใจบุญ ไม่มีขี้ขโมย ขี้โกง  แม้เป็ดไก่สุกรเขาก็ไม่เลี้ยง เพราะเขาไม่ฆ่าสัตว์ รับประทานผักปรุงด้วยพริกเกลือและถั่วงาเป็นพื้น นานทีปีครั้งจะมีปลากรอบจากเขมรขึ้นไปให้ชิม ได้ข่าวว่าหลังสงครามญี่ปุ่น จอมพล ป. บังคับให้เลี้ยงสัตว์เดือดร้อนกันมาก  เราชอบใจน้ำใจศรัทธาเขามาก และความสงบเรียบเขาก็ดี ขนาดวัดติดเขตรั้วบ้านเขา กลางคืนก็ไม่มีเสียงอึกทึกเลยเหมือนกับไม่มีบ้านอย่างนั้นแหละ
                         แผลที่หัวเข่าเราหายพอเดินได้แล้ว  เราสองคนเดินตัดข้ามเขาม่อนอางขาง  ( ขาง หมายความว่า หวง เขาผีหวงหรือดุ ) วันนั้นพวกเราเดินไม่ถึงหมู่บ้านชาวเขา  เพราะภูเขาลูกนี้สูงมากเที่ยงวันถึงยอดเขา ขาลงมาชันมากถึงตีนเขามืดพอดี   เดินมากลางทางได้ยินเสียงเสือร้องอยู่ไม่ไกลนักจากพวกเรา  เรากลัวเสือแทบตายแต่ก็ไม่บอกให้เพื่อนของเรารู้ว่าเป็นเสียงเสือ   เพราะท่านเป็นคนบ้านทุ่ง ไม่รู้จักเสียงเสือ หากเราบอกให้ท่านทราบ เดี๋ยวท่านจะกลัวไปด้วยอีกคน พ้นจากเสือร้องไปแล้วสักครู่หลงทางเลยพากันแวะนอนในป่านั้นเอง คืนนั้นเรากลัวเสือจนนอนไม่หลับตลอดคืน น้ำค้างก็แรง หนาวก็หนาว เพื่อนเรานอนกรนโครก ๆ ตลอดคืน เรากลัวเสือได้ยินจะตาย ท่านนอนสบายไปเลย เช้ามืดพากันเก็บเครื่องบริขารแล้วก็หอบทั้งเปียก ๆ นั่นเองออกเดินทางต่อไป ขณะเดินทางเราได้บอกท่านว่า   ที่ร้องเมื่อคืนนี้ทำเสียงดังเหมือนกับสุนัขเจ็บจะตายนั่นแหละ   คือเสียงเสือโคร่ง เมื่อมันได้กินอาหารอิ่มแล้ว มันก็สนุกร้องอย่างนั้นเอง พวกเราเดินทางราว 2 โมงเช้าจึงถึงหมู่บ้าน เตรียมตัวออกบิณฑบาต ฉันจังหันแล้วก็ออกเดินทางต่อไปอีก  มาพักอยู่ที่ถ้ำตับเต่าชั่วระยะหนึ่ง เพื่อพักเอากำลัง หายเหนื่อยแล้วจึงออกเดินทางไปทางอำเภอพร้าว

                          

                           เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)

                                               ลางร้ายของผู้เดินทาง

                         สิ่งที่ไม่น่าเชื่อแต่มันได้เป็นไปแล้ว  กล่าวคือ  วันนั้นพวกเราฉันจังหันแล้วออกเดินทางจากถ้ำตับเต่า  มีอีเก้งวิ่งผ่านหน้าพวกเราออกจากข้างบ้านสองหลังคาเรือน     ซึ่งเขาปลูกอยู่กลางทุ่งหญ้าแฝกริมประตูวัดนั้นเอง แล้วเขาวิ่งช้า ๆ อย่างขี้เกียจอย่างนั้นแหละ  พวกเราก็ไม่สนใจถือเสียว่าเรามาหาบ้านเมืองของเขา พอเดินผ่านหมู่บ้านแล้วตัดข้ามทุ่งนา ซึ่งจะไปเข้าปากทาง อีเก้งสองผัวเมียปนฝูงควายอยู่  เห็นพวกเราก็วิ่งออกหน้าอีกแล้วพวกเราก็ไม่สนใจเช่นเคย พอพ้นจากนั้นไปไม่กี่เส้น ทั้ง ๆ ที่พวกเราก็เดินเข้าทางเดินเท้า แล้วทำไมพากันแวะออกจากทางเดิมแล้วเข้าทางเก่า ๆ เข้าไปในหุบเขาได้
                         พวกเราเดินตามลำธารไปไม่มีทางขึ้นตลิ่งเลย อยู่ราว 10 ชั่วโมง  เพราะสองข้างเป็นภูเขาสูงชัน ตลอดเวลาเดินทางแดดไม่ส่องเลย   พวกเราไม่ได้พักแม้แต่ฉันน้ำ  พอเหนื่อยเพลียชวนเพื่อนกลับทางเก่าเพื่อนก็ไม่ยอม  ในใจเรานึกว่ายอดห้วยมันต้องเกิดจากน้ำไหลจากโคกมารวมกัน  เหมือนห้วยทางภาคอีสาน ที่ไหนได้ พอเดินไปถึงยอดห้วยมันเป็นหน้าผาเสียฉิบไปเจาะรอยกวางและหมูป่านอนปลัก   เราหมดหนทางเดินต่อ   พอย้อนหลังกลับเท่านั้นแหละ   เจ้ากรรมเราเหยียบก้อนหินพลาดหกล้มหินบาดพื้นเท้าแผลลึก   พอดีจวนจะมืดอยู่แล้ว หยิบเอาผ้าอังสะมาพันแผล   แล้วตัดสินใจพากันปีนป่ายขึ้นตลิ่งชัน ๆ กอปรด้วยหินลูกรัง   แม่เอ๋ย เหยียบลงตรงไหนคอยแต่จะกลิ้ง
                         พอถึงยอดเขาราวหนึ่งทุ่ม ได้เห็นทางคนเดินวกไปวนมาตามยอดเขาพอราง ๆ  เราดีใจว่ามีทางคงใกล้ถึงหมู่บ้านแล้ว  ทันใดนั้นกวางมันเห็นแสงเทียนโคมผ้าพวกเรา มันตื่นตกใจร้องปี๊บปี๊บพร้อมทั้งกระทืบเท้า เราก็ตกใจแทบหัวใจหยุดเต้น พอตั้งสติได้เอ๊ะนี่เสียงกวางแน่ แล้วมองไปที่เสียงเห็นหน้าอกมันขาว ๆ จึงเชื่อแน่ชัดลงไปอีกว่ากวาง ทีหลังมันร้องปี๊บอีกแล้วมันก็กระโดดลงเขาหายไป เมื่อพิจารณาดูทับนอนของเขาที่อยู่ตามทางที่ผ่าน ๆ ไปแล้วเห็นว่ายังไกลบ้านคนนัก   อนึ่งก็เป็นเวลาดึกพอพักนอนแล้วจึงได้พากันจัดหาที่นอนตามชอบใจในป่าหญ้าที่รก ๆ นั้นเอง  แต่ตลอดคืนนอนไม่หลับ กลดมุ้งกางไม่ได้ ลมแรง ทางพื้นดินนอกจากปลวกจะมารบ กวนแล้ว เจ้ามดก็พากันแห่มารุมกินเลือดที่แผลและเหงื่อตามตัว ที่ตาต้องเอาผ้าพันไว้ มิฉะนั้นแล้วมันจะมารุมกินน้ำตาเรา  พอสว่างมาลุกขึ้นมองดูข้างหลังทางเข้ามาเห็นทุ่งนาเท่าบิ้งนานิดเดียว เรากำหนดทิศได้ว่าถ้าตรงไปทางนี้คงเจอะทางที่เราหลงนั้นแน่         จึงเดินลัดป่าลัดโคกตามกำหนดหมายไว้      แหมเท้าเจ็บ เราเดินฝ่าก้อนกรวดหินลูกรังกลางโคกแทบจะไปไม่รอดอยู่แล้ว  แต่กัดฟัน  จำเป็นจำใจต้องเดินเพราะไม่มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ เดินไปพักใหญ่ ๆ ก็ไปตกทางที่คาดไว้จริง ๆ เดินไปกว่าจะถึงหมู่บ้านก็ราว 3 โมงเช้า  เราค่อยโล่งใจหน่อยแล้วได้พากันปลงเครื่องบริขารไว้ริมท่าน้ำข้างๆ บ้านเขานั้นเอง  สักครู่มีคนเดินออกมาหา   เราได้เล่าพฤติการณ์ทั้งปวงให้เขาทราบ  เราคิดจะขอข้าวเขาฉันโดยตรง ๆ  ก็กลัวจะเป็นโทษ  จึงพูดเป็นอุบายว่า  พวกเรายังไม่ได้ฉันข้าวเลย แล้วก็เจ็บเท้าจะไปบิณฑบาตก็ไม่ได้ เราอยู่ ณ ที่นี้จะได้ฉันข้าวไหม เขาบอกว่า ได้ฉันเจ้า แล้วเขากลับเข้าไปในบ้าน   พวกเราเชื่อว่าเขาคงจะนำข้าวมาให้ฉันแล้วก็พากันลงอาบน้ำ   พอลงอาบน้ำแล้วขึ้นมาเท่านั้นแหละ  แม่โอ๊ย  แผลที่เท้าเจ็บเดินไม่ได้เลย เมื่อคืนนี้ตลอดคืนมันก็ไม่เจ็บ เช้านี้เดินมาก็พอทนไหว นี่ทำไมจึงเจ็บเอาจนลุกไม่ได้   ท่านอ่อนสีเพื่อนคู่ทุกข์ก็เป็นลมหน้ามืดลุกไม่ขึ้น    คอยเขาจะเอาข้าวมาให้ฉันก็หายเงียบ ความหิวความเพลียก็ประดังเข้ามา ดีที่มียาแก้ลมติดถุงย่ามไปด้วย ช่วยกันพยาบาลท่านอ่อนสี กว่าจะลุกขึ้นได้ก็สายร่วม 10 โมงเช้าแล้ว เราจึงให้ท่านไปถามเขาดู เห็นแต่เด็กสองคนเฝ้าบ้านอยู่ ถามได้ความว่าผู้ใหญ่เข้าป่าไปหากินหมดแล้ว   หมู่บ้านนี้มีสองหลังคาเรือน  อาชีพเขาไปหาตัดยอดตองอ่อนมารีดขายมวนบุหรี่กิน  พอท่านอ่อนสีมารายงานแล้ว  เราให้ท่านไปตามเอาเด็กสองคนนั้นมาแล้วถามแลกข้าวด้วยไม้ขีดไฟ  เพราะสมบัติอะไรเราไม่มี ยังเหลือแต่ไม้ขีดไฟคนละสองกล่อง แลกข้าวได้ข้าวเหนียวสองกระติบ น้ำพริกถั่วเน่าสองจาน กับผักต้มชะอมสองมัด  พวกเราพากันฉันอย่างเอร็ดอร่อยนี่กระไร  พอฉันเสร็จแล้วเท้าเรายิ่งเจ็บใหญ่ เจ็บเอาจนเนื้อแข็งเต้นเลย  เราพากันทนทรมารอยู่ที่นั้นจนตะวันบ่ายสามโมงเศษ ๆ  จึงได้พากันเดินเขยก ๆ ไปอีกราว 3 กม. จึงถึงอีกหมู่บ้านหนึ่ง   แล้วพยาบาลแผลและพักเอาแรงอยู่ ณ ที่นั้น 11 คืน  จึงได้เดินข้ามเขาบ้านกะเหรี่ยงมาตกเขตอำเภอพร้าว ณ ที่บ้านมโนรา (ลูกสั้น)
                        เย็นวันนั้นพวกเราได้ทราบข่าวดี มีคนมาบอกว่าท่านอาจารย์มั่นอยู่ที่ป่าเมี่ยง แม่ปั๋ง ท่านอาจารย์สานอยู่ที่ปากทางเข้าไปถ้ำคอกคำ พวกเราดีใจคิดว่าสมความปรารถนาแล้วครั้งนี้ ฉันเช้าแล้วเตรียมตัวออกเดินทาง ค่ำถึงถ้ำคอกคำที่อาจารย์สานอยู่พอดี พักอยู่ด้วยท่านคืนหนึ่ง สนทนาธรรมสากัจฉาและเรื่องราวต่าง ๆ พอควรแล้ว เช้าฉันแล้วท่านแนะทางให้พวกเราสองคนจึงได้ลาท่านไป
                        พวกเราไปถึงที่อยู่ของท่านอาจารย์มั่นราวบ่าย  4 โมง  ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่  พอท่านมองมาเห็นเราท่านจำได้แม่น  เรียกชื่อเราเลย  แล้วท่านก็พักเดินจงกรม  เดินเข้าไปนั่งที่อาศรมของท่าน   พวกเราปลงเครื่องบริขารไว้ข้างนอก ท่านไม่ยอมท่านให้เอาไปไว้ที่เฉลียงอาศรมของท่าน   แล้วพวกเราเข้าไปกราบนมัสการท่าน ท่านได้ถามสารทุกข์สุกดิบพอเป็นเครื่องระลึกเล็กน้อย   แล้วเราจึงได้กราบเรียนท่านว่า   "ที่ต้องตามหาท่านอาจารย์ในครั้งนี้     ด้วยจุดประสงค์อยากจะมาขอความกรุณาให้ท่านอาจารย์ได้ช่วยแก้อุบายภาวนาให้   เพราะกระผมได้คิดและได้ศึกษาจากหมู่คณะมามากแล้ว    เห็นว่านอกจากท่านอาจารย์แล้ว คงไม่มีใครแก้อุบายนี้ของกระผมได้แน่ "              แล้วก็ได้เล่าความเป็นมาของเราถวายให้ท่านทราบทุกประการ    เริ่มต้นแต่ได้ปฏิบัติมาจนกระทั่งถึงเรื่องที่ได้นำเข้าเรียนท่านอาจารย์สิงห์ที่โคราช ท่านจึงเล่าถึงการที่ท่านได้อบรมสานุศิษย์มาแล้วเป็นทำนองว่าให้เราทบทวนดูหมู่เพื่อนที่ท่านอบรมว่า
            "ถ้าองค์ไหนดำเนินตามรอยของผมจนชำนิชำนาญมั่นคงองค์นั้นย่อมเจริญก้าวหน้า อย่างน้อยก็คงตัวอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ถ้าองค์ไหนไม่ดำเนินตามรอยของผม องค์นั้นย่อมอยู่ไม่ทนทานต้องเสื่อมหรือสึกไป ผมเองหากมีภาระมาก ๆ ยุ่งกับหมู่คณะ  การประกอบความเพียรไม่สม่ำเสมอ  เพ่งพิจารณาในกายคตาไม่ละเอียด จิตใจก็ไม่ค่อยจะปลอดโปร่ง   การพิจารณาอย่าให้จิตหนีออกนอกกาย   อันนี้จะชัดเจนแจ่มแจ้งหรือไม่ก็อย่าได้ท้อถอย เพ่งพิจารณาอยู่ ณ ที่นี่ละ จะพิจารณาให้เป็นอสุภหรือให้เป็นธาตุก็ได้ หรือจะพิจารณาให้เห็นเป็นขันธ์หรือให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ได้ทั้งนั้น แต่ให้พิจารณาเพ่งลงเฉพาะในเรื่องนั้นจริง ๆ ตลอดอิริยาบถทั้งสี่ แล้วก็มิใช่ว่าเห็นแล้วก็จะหยุดเสียเมื่อไร  จะเห็นชัดหรือไม่ชัดก็พิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ  เมื่อพิจารณาอันใดชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยใจตนเองแล้ว สิ่งอื่นนอกนี้จะมาปรากฏชัดในที่เดียวกันดอก "  ท่านบอกว่าอย่าให้จิตมันรวมเข้าไปภวังค์ได้


                          
679  ห้องพระ / พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ / Re: พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ) เมื่อ: 28 ธันวาคม 2553, 07:08:45
                                          พรรษา ๙ จำพรรษาที่อำเภอพล ( พ.ศ. ๒๔๗๔)

                         พรรษานี้ท่านเกตพี่ชายของเราก็ได้ไปอยู่ด้วย  เรื่องการอบรมญาติโยมก็เป็นไปตามปกติ ด้านความเพียรส่วนตัวและพระเณรที่อยู่ด้วยก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอ    มีพิเศษอยู่ก็ที่โยมผู้หญิงคนหนึ่งแกเป็นหมอผี    มีลูกน้องสิบกว่าคน   แกเที่ยวรักษาคนป่วยเป็นอาชีพ   เราได้แนะนำให้แกทิ้งผีเสีย  แล้วมาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ถือผีเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่เป็นบุญ   ถือเอาคุณรัตนตรัยไว้เป็นสรณะ  จึงเป็นบุญเป็นกุศล   และได้ชื่อว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกา   เป็นสัมมาทิฏฐิในพุทธศาสนาด้วย   แกบอกว่า  ของแกก็ดี เวลาผีเข้าทรงแล้วนำไปเอาทรัพย์ในดินแลกระโดดเข้าไปในกอไผ่หนามไม่เกี่ยวเลย  เราบอกแกว่า อันนั้นก็ดีดอกสำหรับผู้เชื่อ  แต่ผีไม่เคยสอนให้ผู้ถือละบาปบำเพ็ญบุญ และรักษาศีลเลย มีแต่จะบอกให้เซ่นด้วยหัวหมูและเป็ดไก่เท่านั้น  มันสอนให้เซ่นแล้วมันก็ไม่กิน แต่คนเป็นผู้ฆ่าสัตว์แล้วเซ่นผี  เมื่อผีไม่กิน  คนก็เอามากินเสียเองผีไม่ต้องรับบาป   คนเป็นผู้รับบาปแล้วผีจะมาช่วยอะไรเราได้ พระพุทธเจ้านิพพานแล้วมิได้ไปเกิดเป็นผี นิพพานแล้วทิ้งคำสอนไว้สอนคนให้ละความชั่ว  บำเพ็ญแต่ความดี ทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น  แล้วพระสงฆ์นำคำสอนนั้นมาสอนพวกเรา   ตามแนวที่พระพุทธเจ้าสอนไว้  เราจึงได้รู้จักบาปบุญคุณโทษมาจนตราบเท่าทุกวันนี้มิใช่คำสอนของผี
                        แกตัดสินใจตกลงทิ้งผีมาปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัย   ในคืนวันนั้นแกนำเอาคำสอนของเราไปปฏิบัติตามได้ผลเป็นที่น่าอัศจรรย์   คือก่อนนอนไหว้พระสวดมนต์แล้วนั่งกัมมัฏฐานปรากฏว่าแกเห็นเด็กสองคน  ผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ชายคนหนึ่ง มาโหนชิงช้าอยู่ที่ราวมือจับกระเดื่องตำข้าวที่ตีนบันไดบ้านแกนั้นเอง ไม่พูดไม่ทำอะไรทั้งนั้น การเห็นครั้งนี้คล้ายกับว่าเห็นด้วยตาเปล่า  แต่ขณะนั้นแกยังหลับตาอยู่   แกเลยมั่นใจว่าเออนี้ ผีมันเข้ามาหาเราไม่ได้แล้วนี่  คุณพระรัตนตรัยนี้ดีจริง  สามีของแกก็เป็นหมอวิชาเหมือนกัน ถือเคร่งขนาดไม่ไหว้พระ ก่อนจะเข้าวัดต้องยกเท้าขึ้นไหว้ก่อน ( ขอโทษ )   เมื่อถือได้เคร่งตามครูสอนจริง ๆ เหนียวทดลองได้เลย   ฟันแทงตีไม่เข้าไม่แตกจริง  คืนวันนั้นแกนอนไม่หลับ  พอเคลิ้ม ๆ  ทำให้สะดุ้งตื่นตกใจเหมือนกับมีอะไรมาทำให้กลัว  ฉะนั้นรุ่งเช้ามาจึงถามภรรยาว่า   เธอไปหาอาจารย์ได้ของดีอะไร   เมื่อคืนนี้ฉันนอนไม่หลับทั้งคืน  ภรรยาบอกว่าอาจารย์ให้ของดีฉันมา   ฉันจะพาไปหาอาจารย์ ในที่สุดได้พากันทิ้งผี  มาปฏิญาณตนขอถึงพระรัตนตรัยทั้งสองตายาย   นี่เป็นเหตุการณ์ในพรรษานั้น


                    

                                     พรรษา ๑๐ จำพรรษาที่โคราช ( พ.ศ. ๒๔๗๕ )

                    จังหวัดนครราชสีมา พระกัมมัฏฐานคณะลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นไม่เคยไปกล้ำกรายเลยแต่ไหนแต่ไรมา  เพราะเคยได้ยินมาว่า  คนในจังหวัดนี้ใจอำมหิตเหี้ยมโหดมาก กลัวจะไม่ปลอดภัย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็น   พระธรรมปาโมกข์   ได้นิมนต์ท่านอาจารย์สิงห์  พระมหาปิ่นลงไปแล้ว  พ.ต.ต. หลวงชาญนิคม    ผู้กองเมืองสองเกิดศรัทธาเลื่อมใสได้ถวายที่สร้างวัดป่าข้างหัวรถไฟโคราช   ท่านอาจารย์สิงห์จึงได้เรียกลูกศิษย์ที่อยู่ทางขอนแก่นลงไป  เราพร้อมด้วยคณะได้ออกเดินทางไปพักที่สวนของหลวงชาญ ฯ   พาหมู่จัดเสนาสนะชั่วคราวขึ้น   ซึ่งเวลานั้นท่านอาจารย์สิงห์ไปกรุงเทพฯ   ยังไม่กลับ   พอท่านกลับถึงแล้ว   เราได้ไปช่วยพระอาจารย์มหาปิ่น  สร้างเสนาสนะในป่าช้าท ี่ ๒ แล้วได้อยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น ( วัดศรัทธาราม )  พรรษานั้นมีพระผู้ใหญ่ด้วยกันหลายองค์  คือเรา  อาจารย์ฝั้น  อาจารย์ภูมี   อาจารย์หลุย   อาจารย์กงมา   โดยมีท่านอาจารย์มหาปิ่นเป็นหัวหน้า พรรษานี้เราและอาจารย์ฝั้นได้รับภาระช่วยท่านอาจารย์มหาปิ่นรับแขกและเทศนาอบรมญาติโยมตลอดพรรษา ปีเดียวเกิดมีวัดป่าพระกัมมัฏฐานขึ้นสองวัดเป็นปฐมฤกษ์ของเมืองโคราช     และเป็นปีประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย
                     ออกพรรษาแล้ว    เราพร้อมด้วยคณะออกเที่ยววิเวกไปทางอำเภอกระโทก   กิ่งแฉะ     แล้วย้อนกลับมาที่อำเภอกระโทกอีก   ได้พานายอำเภอขุนอำนาจ ฯ   สร้างที่พักสงฆ์ขึ้น  ณ  ดอนตีคลี   แต่ยังไม่เรียบร้อยดี มีเหตุจำเป็นต้องกลับมาจำพรรษาที่  อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย   ในพรรษานั้นได้ทราบว่าท่านอาจารย์สิงห์ให้อาจารย์ลีไปอยู่พรรษาแทนที่อำเภอกระโทก
                    
                      

                      อจ.ฝั้น อาจาโร

                      

                      หลวงปู่หลุย

                                               ความปริวิตกที่ไม่เป็นธรรม

                     ในขณะที่เราได้พาหมู่เพื่อนจัดเสนาสนะอยู่ที่วัดป่าสาลวันนั้น     อากาศมันร้อนเป็นบ้าเลย     เราไม่ชอบอากาศร้อน  แต่กัดฟันอดทนต่อสู้ทำความเพียรไม่ท้อถอย สติที่เราอบรมดีแล้วสงบอยู่ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนนั้น บางครั้งก็รวมเข้าภวังค์แล้วก็หายไปเลยเป็นเวลานานนับชั่วโมงก็มี       แล้วไม่ทำให้เกิดปัญญาอะไรเลย
                     เราพยายามแก้ด้วยตนเองแลให้ผู้อื่นแก้เป็นเวลานานก็ไม่เป็นผลสำเร็จ มาคราวนี้เราแก้ได้แล้วด้วยตนเองนั่นคือ  คอยจับจิตที่มันจะรวมเข้าเป็นภวังค์ ซึ่งมีอาการเผลอๆ สติ  แล้วน้อมส่งไปยินดีในความสงบสุขจนเผลอสติ   แล้วก็รวมเข้าภวังค์   เมื่อเราจับตรงที่มันกำลังเผลอๆ   น้อมไปหาความสงบสุขอันละเอียดนั้นแล้ว รีบตั้งสติให้แข็งแกร่งปรารภอารมณ์ที่หยาบ ๆ เพ่งพิจารณานอก ๆ อย่าให้เข้าไปหาความสงบสุขได้ก็จะหายทันที  พูดง่าย ๆ ว่า  อย่าให้จิตรวมได้  ให้เพ่งพิจารณาอยู่เฉพาะกายนี้แห่งเดียว  อาการอย่างนี้เราเป็นมาตั้งแต่ออกป่าครั้งแรก พึ่งมาแก้ตนเองได้ ถ้าจะคิดรวมเวลาประมาณ ถึง ๑๐ กว่าปี ราหัดได้ถึงขนาดนั้นแล้วเมื่อมีอารมณ์มากระทบเข้าจิตของเราก็ยังหวั่นไหวได้   ผู้ปฏิบัติบางคนแม้แต่ความสงบสุขของจิตก็ยังไม่ทราบเสียเลย เมื่อมีอารมณ์กระทบเข้าแล้วจะเป็นอย่างไรกัน         เกิดความสงสัยในธรรมวินัยขึ้นมาว่า  ความบริสุทธิ์มรรคผลนิพพาน อันสุดยอดในพุทธศาสนานี้เห็นจะไม่มีเสียแล้วกระมัง  คงยังเหลือแต่ฌานสมาบัติอันเป็นโลกีย์เท่านั้นเอง   แต่เราก็ปรารภความเพียรไม่ท้อถอยทั้งๆ ที่อากาศร้อนแทบเป็นบ้าตาย
                     วันหนึ่งจิตรวมอย่างน่าประหลาดใจ  คือรวมใหญ่เข้าสว่างอยู่คนเดียว  แล้วมีความรู้ชัดเจนจนสว่างจ้าอยู่  ณ  ที่เดียว  จะพิจารณาอะไรๆ  หรือมองดูในแง่ไหนในธรรมทั้งปวง   ก็หมดความลังเลสงสัยในธรรมวินัยนี้ทั้งหมด คล้าย ๆ กับว่าเรานี้ถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งปวงแล้ว  แต่เราก็มิได้สนใจในเรื่องนั้น มีแต่ตั้งใจไว้ว่า [/color] ไฉนหนอเราจะชำระใจของเราให้บริสุทธิ์หมดจด  เราทำได้ขนาดนี้แล้วจะมีอะไรแลดำเนินอย่างไรต่อไปอีก เมื่อมีโอกาสจึงเข้าไปศึกษากับท่านอาจารย์สิงห์  ท่านแนะให้เราพิจารณาอสุภะเข้าให้มาก  เพ่งให้จนเป็นของเน่าเปื่อย แล้วสลายเป็นธาตุสี่ในที่สุด เราได้สอดขึ้นโดยความสงสัยว่า ก็เมื่อจิตมันวางรูปยังเหลือแต่นาม   แล้วจะกลับมายึดเอารูปอีก   มันจะไม่เป็นของหยาบไปหรือ  แหม   ตอนนี้ท่านทำเสียงดังมาก  หาว่าเราอวดมรรคอวดผลเอาเสียเลย   ความจริงนับตั้งแต่ออกปฏิบัติมา  เราไม่มีความชำนาญในการพิจารณาอสุภะจริง ๆ   อะไร ๆ  ก็กำหนดเอาที่จิตเลยโดยเข้าใจเอาเองว่ากิเลสเกิดที่จิต  เมื่อจิตไม่ส่งส่ายวุ่นวายสงบดีแล้ว สิ่งอื่นใด ๆ มันก็บริสุทธิ์ไปหมด เมื่อเราสอดแทรกขึ้นด้วยความสงสัยเท่านั้น  เป็นเหตุให้ท่านขึ้นเสียงดังตามอุดมคตินิสัยของท่านอย่างนั้นแล้วจะทำอย่างไร เราก็นิ่งนึกขยิ่มอยู่ในใจแต่ผู้เดียว  โดยคิดว่า  มติของท่านทำไมไม่ตรงตามความคิดเห็นของเราเสียนี่กระไร เรื่องนี้อย่างไรเสีย นอกจากท่านอาจารย์มั่นแล้วเราคงไม่มีที่พึ่งแน่
                       สักพักใหญ่เสียงของท่านเบาลงแล้วหันมาถามเราว่า ยังไง
                       เราก็ยังยืนกรานว่า ยังไม่เห็นด้วย ที่ว่ากระผมมาอวดมรรคอวดผลนั้น ขออย่าได้สงสัยเลยครับ กระผมเคารพนับถือครูบาอาจารย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ   ที่มาเปิดเผยความเห็นและความจริงใจในครั้งนี้ก็เพราะหมดหนทางจริง ๆ ว่า   อาการของจิตอย่างนี้พึ่งได้ประสบเป็นครั้งแรก  ก็ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด  แล้วจะแก้ไขหรือดำเนินการอย่างไรต่อไปอีก   กระผมไม่ถือโกรธครูบาอาจารย์   หากท่านยังมีอุบายอะไรอีกที่จะแก้ไขความข้องใจของกระผมได้  กรุณาโปรดได้เมตตาให้เต็มที่เลยครับ   แล้วท่านปลอบใจว่า  ค่อยทำค่อยไปนั่นแหละมันหากจะเป็นไป     แหมวันนั้นใจเลยหมดที่พึ่งเอาเสียจริง ๆ   ไม่มีความเยื่อใยอาลัยในหมู่คณะเสียเลย    ตามปกติท่านอาจารย์ไม่อยากให้หมู่คณะแตกแยกกัน  อยากให้ช่วยกันเผยแพร่พระศาสนาในจังหวัดนี้ แต่เราอยากปลีกตัวหาวิเวกมานานแล้ว    ตั้งแต่ได้พบเพื่อนเมื่ออยู่ขอนแก่นโน้น    เพราะรู้ตัวดีว่าความเพียรและอุบายของเรายังอ่อนพยายามจะปลีกตัวอยู่เรื่อยมา   โดยมิให้ครูบาอาจารย์และหมู่เพื่อนสงสัยว่าเราไม่ชอบหมู่    แต่ก็ไม่สำเร็จสักที คราวนี้ออกพรรษาแล้วจึงได้มีโอกาส


                        

                         หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ
                                
                    
                          พรรษา 11 จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ หนองคาย ( พ.ศ. 2476 )

                         ในพรรษานี้ เราเตรียมพร้อมที่จะไปตามท่านอาจารย์มั่นที่จังหวัดเชียงใหม่  ตลอดพรรษาเราปรารภความเพียรและอุบายแนวเดิมที่ใช้อยู่วัดป่าสาลวัน โคราช   แล้วก็ยึดเหนี่ยวเอาท่านอาจารย์มั่นมาเป็นเครื่องเร่งเร้าทำความเพียร แต่จิตก็ไม่ละเอียดเหมือนเดิม เมื่อออกพรรษาจึงปรารภกับท่านอ่อนสี ( พระครูสีลขันธ์สังวร ) ว่า ผมจะไปตามท่านอาจารย์มั่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ท่านจะไปด้วยผมไหม ถ้าจะไปด้วยผมขอกติกาไว้ก่อนว่า
          (1)  การไปอย่าได้บ่นถึงความทุกข์ลำบากต่างๆ  เป็นต้นว่า  การเดินทาง  อาหาร  ที่อยู่อาศัย  แม้ที่สุดถ้าอาพาธ เราสงเคราะห์กันจนสุดความสามารถแล้วตายเป็นตายกัน
          (2)  เมื่อคิดถึงบ้าน หรือหมู่คณะ มีบิดามารดา เป็นต้น จะไม่ยอมนำส่ง
          (3)  ต้องเป็นผู้ยอมสละตายในที่ทุกสถาน ไม่ว่าจะเพราะกรณีใด
         ถ้าท่านตัดสินตกลงปลงใจจะทำตามกติกาทั้ง  3  ข้อนี้ได้จึงไป  ถ้ายังไม่สามารถทำตามได้ก็อย่างไปเลยท่านจะเสียใจภายหลัง  และก็จะเป็นเรื่องทำให้ผมเป็นทุกข์อีกด้วย           ท่านบอกว่า    ผมชอบใจผมขอไปด้วย   ยังมีโยมอีกคนหนึ่งบวชเป็นชีปะขาวขอร่วมเดินทางไปกับเรา
                         พวกเราได้ลงเรือยนต์จากนครเวียงจันทน์  ทวนกระแสน้ำขึ้นไป นครหลวงพระบาง  พักแรมคืนตามบ้านบ้าง กลางหาดทรายบ้าง    สามคืนสี่วันจึงถึงนครหลวงพระบาง    ตามระยะทางสองข้างริมแม่น้ำโขง   เราชมวิวธรรมชาติ อากาศเยือกเย็นทำให้ใจเราวิเวกวังเวงมีความสุขมาก  ประกอบกับคนโดยสารน้อย เขาพากันนอนหลับหมด ยังคงเหลือแต่กัปตันกับลูกเรือไม่กี่คน  ภาพทิวทัศน์อันปราศจากหมู่บ้าน  มีแต่ป่าดงพงไพรและชะโงกหินที่ยื่นออกมาคลุมแม่น้ำ ทั้งบางทีมีสัตว์  เช่น ลิง ค่าง  กระโดดโลดโผนไล่เย้าหยอกกันสนุกตามประสาสัตว์  พอเรือเข้าไปใกล้ต่างก็จับกลุ่มชุมนุมกันมองดูพวกเรา   ภาพอันนั้นทุกวันนี้เราเข้าใจว่าหาดูได้ยาก  เราอนุสรณ์ถึงภาพอันนั้นแล้วทุกวันนี้ก็ยังวิเวกใจอยู่เลย   พวกเราถึงนครหลวงพระบางแล้ว   ได้ขอเข้าพักที่วัดใหม่ใกล้กับพระราชวังพระเจ้ามหาชีวิต ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบาง   อันเป็นมิ่งขวัญของชาวนครหลวงพระบาง   พอดีเป็นวันที่อัครมเหสีท่านทรงฉลองแท่นพระบางอีกด้วย นับว่าเป็นโชคดีของพวกเราที่จะได้ชมประเพณีการทำบุญของชาวหลวงพระบาง   แต่เราจะไม่ขอกล่าวในที่นี้   หลังจากฉลองแท่นพระบางเสร็จแล้ว   เราขอลาท่านสมภารไปพักวัดหนองสระแก้ว  ซึ่งอยู่บนภูเขาคนละฟากฝั่งแม่น้ำโขงตรงกันข้ามกับนครหลวงพระบาง  เพื่อรอเรือที่จะขึ้นไป อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย   พวกเรารออยู่ 4 คืนจึงได้ลงเรือขึ้นไปอำเภอเชียงแสน ระยะทางก็สี่คืนเท่ากันกับลงมานครเวียงจันทน์ พวกเราพักอยู่ที่อำเภอเชียงแสน 4 - 5 คืน จึงได้เดินทางไปเชียงราย ลำปาง แล้วได้อยู่ที่สวนของแขกพระบาทตากผ้า ปากทางจะเข้าเขา  เวลานั้นปะขาวที่ไปด้วยป่วยไม่มีไข้แต่เมื่อยอ่อยเพลีย  น้ำปัสสาวะข้นแดงคล้ายน้ำล้างเนื้อ  พวกเราไกลหมอ ใช้ยาพระพุทธเจ้ารักษากันเอง กล่าวคือให้เธอฉันน้ำมูตรของตนเอง ทั้ง ๆ ที่มีสีแดงร่า ๆ นั้น พอถ่ายออกมาอุ่น ๆ ก็ดื่มเข้าไปเลย แหมวิเศษจริง ๆ ดื่มอยู่ไม่ถึง 10 วันหายเป็นปกติเลย หลังจากนั้นพวกเราออกเดินทางด้วยเท้าเปล่าได้ระยะทางราว  35  กิโลเมตร ต่อจากนั้นขึ้นรถบ้างเดินบ้างถึงลำพูน เชียงใหม่ เมื่อเข้าไปที่วัดเจดีย์หลวง สืบถามดูเรื่องราวของท่านอาจารย์มั่นก็ไม่ค่อยได้ความ มิหนำซ้ำพระบางองค์ยังพูดเป็นอาการดูถูกเหยียดหยามท่านเสียด้วยซ้ำไป

                        

                          วัดในหลวงพระบาง

                                                    ชีวิตผจญภัยในสมณเพศ

                         เราขออภัยท่านผู้อ่านสักเล็กน้อย   ในการที่จะเล่าเรื่องชีวิตผจญภัยในสมณเพศนี้  ดูจะหาสาระอันใดมิได้ และเมื่อกล่าวไปก็เป็นที่อับอายขายขี้หน้าตนเอง หากจะไม่กล่าวหรือ ชีวประวัติก็จะไม่สมบูรณ์
                         อตีเต กาเล ขณะเมื่อเราพักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่นั้น  รู้สึกว่าสุขภาพของเราสมบูรณ์ดี ซึ่งไม่เคยดีมาแต่กาลก่อนเลย เห็นจะเพราะเราชอบอากาศเย็นก็ได้ เราได้ไปถ่ายภาพเป็นอนุสรณ์ หลังจากนั้นมาสองวันเราได้ไปรับภาพที่ร้านด้วยตนเอง ขณะที่เราเอาภาพมาดูอยู่นั้นเอง  มีผู้หญิงคนหนึ่งไม่ทราบว่าเป็นคนชนิดไหนเดินมาข้างหลังแล้วพูดว่า คุณพี่ขา ดิฉันขอสักแผ่นบ้าง พร้อมทั้งแสดงกิริยาส่อไปในทางยั่วยุ  เราได้ยินเสียงดังนั้นก็ตกใจ  เพราะเราเพิ่งมาไม่รู้จักกับใครทั้งนั้น พอมองไปดูอาการ ดังนั้นเราจึงทำปฏิกิริยาที่ตรงกันข้าม แล้วเขาก็หันกลับหลบหน้าหนีไป
                        หลังจากได้ฟังคำพูดและเห็นอากัปกิริยาของเขานั้นแล้ว   เหมือนกับได้รับฟังธรรมเทศนากัณฑ์ใหญ่  เราจึงมาจินตนาการถึงเรื่องของมาตุคามอย่างกว้างขวาง ซึ่งกิริยาในทำนองนี้ของมาตุคามเราได้พบเห็นมามากต่อมากแล้ว  แต่หากเราไม่สนใจ  เพราะเรามุ่งมั่นอยู่แต่ในธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้า เห็นมาตุคามเป็นภัยของพรหมจรรย์อย่างเดียว   เมื่อมาประสบเหตุการณ์ครั้งนี้เข้า   จึงเป็นเหตุให้เราทบทวนย้อนหลังกลับไปถึงเหตุการณ์ในอดีตเป็นตอน ๆ ไป  คือ   มีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเราก็นับถือเขาว่าเป็นผู้มีจิตศรัทธาแลเขาก็มีอายุมากพอสมควร เราได้หัดให้เขาอบรมภาวนาตามวิธีของเราดังได้เคยอบรมคนอื่น ๆ มาแล้ว ทีหลังเขาบอกว่า ถ้ามาอยู่ใกล้ๆ เรา จิตค่อยหายกลุ้มหน่อย บางทีหมู่มาอยู่ด้วยเรามาก ๆ เขาก็มานั่งอยู่ด้วยเป็นเวลานาน ๆ ตอนนี้เรารู้เล่ห์ของเขาแล้ว เราได้สอนให้เขาแก้จิตด้วยวิธีภาวนา แต่ก็ไม่ได้ผล เราใช้วิธีพูดขู่และกล่าวคำหนัก ๆ เพื่อให้เขาโกรธก็ไม่ได้ผลอีก วันหนึ่งเป็นเวลาจวนจะค่ำโพล้เพล้ เขาได้ผลุนผลันขึ้นไปบนกุฏิของเรา เราจะห้ามอย่างไร ๆ ก็ไม่เชื่อ   ขึ้นไปแล้วนั่งซึมไม่พูดอะไร   เราได้เรียกให้ญาติของเขามากระชากแขนลงไป   เขาโกรธใหญ่ ตอนเช้าเรากำลังเดินจงกรมอยู่  เขาได้เดินตรงขึ้นมาหาเราแล้วยืนอยู่ในที่ไม่ไกลนัก  แล้วตะโกนใส่เราบอกว่า สอนกัมมัฏฐานทำไมแบบนี้ สอนให้คนเป็นบ้า อาจารย์ไหน ๆ ก็ไม่พ้นจากกามกิเลส ว่าแล้วก็หันหลังกลับไป เราเห็นแล้วไม่สบายใจเลย ญาติของเขาได้เอาไปที่โรงพยาบาล หมอตรวจดูแล้วก็บอกว่าไม่มีอะไร  ต่อจากนั้นก็ได้ไปอยู่ในสำนักชีอีกแห่งหนึ่ง  ซึ่งเขาเคยสนิทคุ้นเคยมาแต่เมื่อก่อน สามเดือนล่วงไปแล้วเขาจึงได้กลับมาหาเราอีก ตอนนี้เขารู้สำนึกรู้สึกความผิดของเขาเอง ได้มาสารภาพรับผิดโดยคิดว่า เรามีมหานิยม ได้ทำให้เขาหลงรักเรา แล้วเขาก็ได้ขอขมาโทษเราไปแล้ว เป็นอันจบเรื่องที่หนึ่ง
                        เรื่องที่สอง   หลังจากนั้นอีกนาน   เราได้อบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนไปตามชนบทในที่ต่าง ๆ  โดยความเมตตาปรารถนาดีด้วยความจริงใจ ไม่เห็นแก่ความลำบากตรากตรำ ตอนกลางคืนบางทีเราอบรมสั่งสอนเขาสองยามสามยามเราก็ทนได้  โดยเฉพาะสงสารผู้หญิงที่ยังสาว ๆ ไม่มีพันธะอะไร อยากให้เขาเห็นทุกข์ในภาวะเพศของตน แล้วรักษาศีลพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์     เมื่อตายแล้วเกิดใหม่จะได้พ้นจากภาวะเดิม    หรือเกิดเป็นผู้ชายแล้วจะได้บวชเป็นพระเณรต่อไป   ความนึกคิดอันโง่ ๆ  ของเรานี้ได้มีต่อสตรีเพศทั่วไป   มิใช่เฉพาะคนนั้นคนนี้ ความเมตตานั้นได้กลายเป็นมหานิยมไปโดยเราหาได้รู้ตัวไม่    กล่าวคือมีผู้คนนิยมนับถือเรามาก    จนมีผู้หญิงผู้ชายทั้งหนุ่มแก่แลเป็นสาวมาบวชอยู่ป่ากับเราด้วยเป็นอันมาก       ซึ่งบางคนภาวนาก็ได้ผลเป็นที่น่าอัศจรรย์ประจักษ์แก่ตนเองและหมู่คณะด้วย แต่ผู้ที่ภาวนาไม่เป็นนั่นซิมาทำเหตุกลับมาสร้างกิเลสให้หนักขึ้น วันหนึ่งเรามีธุระต้องจากที่นั้นไป มีแม่ชีคนหนึ่งมาขอติดตามไปด้วย  เราได้ห้ามแล้วก็ออกเดินทางไป หลังจากนั้นแม่ชีคนนั้นงงเซ่อไปเลย ไม่พูดอะไรทั้งหมด  ใครจะถามอย่างไร ๆ ก็ไม่พูด มีแต่ยิ้ม ๆ อย่างเดียว   เราไปเสียหลายวัน พอกลับมาเห็นอาการอย่างนั้น เราได้พยายามพูดคำหนัก ๆ ให้แกโกรธ เพื่อให้ลืมอารมณ์เดิม แกก็ยิ้มอยู่อย่างนั้น เราใช้วิธีทางศาสนาช่วยก็ไม่ได้ผล เราจึงใช้ให้คนนำไปส่งญาติ ๆ ของเขา ตอนนี้เราไม่สนใจอะไรมาก คิดได้แต่ว่า  เหตุทั้งหลายนี้เกิดจากความใคร่ในกามเท่านั้น          หลังจากนั้นเราได้อบรมศีลธรรมแก่พุทธศาสนิกชนด้วยความเมตตาปรารถนาดีเป็นทุนมาโดยลำดับ เรื่องภัยอันตรายแก่พรหมจรรย์ของเราเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยทำนองนี้เราได้ผ่านมามาก แต่เราไม่สนใจและไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ ทั้งในใจก็ละอายต่อเหตุการณ์เช่นนี้มากเสียด้วย จึงไม่ขอกล่าว
                        จะไปกล่าวถึงเหตุการณ์อันน่าหวาดเสียวที่สุดในชีวิตพรหมจรรย์   คือเมื่อครั้งเราเข้ามาในเพศบรรพชิตใหม่ ๆ ปกติกลางคืนเวลาว่าง บางทีเราก็พาเด็กไปเยี่ยมบรรดาโยมซึ่งเคยอุปัฏฐากค้ำจุนเรามา มาวันหนึ่ง พอเราขึ้นไปบนบ้านของโยมผู้หนึ่ง แกออกมาปิดประตูเลย เราตกใจ เวลานั้นแกอยู่กับลูกเล็ก ๆ คนหนึ่ง แล้วเราก็เริ่มคุยสนทนากันในเรื่องที่ต่าง ๆ  ตามประสาของคนนับถือกัน แต่ไหนแต่ไรมาไปทีไรแกมักถามเสมอว่า  เราอยากสึกไหม  เราคนใจซื่อแล้วก็ขี้อาย จะบอกทุกครั้งว่า ไม่ แล้วก็พูดเรื่องธัมมะธัมโมเรื่อยไป มาคราวนี้ก็เช่นกันแกถามอย่างเดิมแล้วแกยังคุยถึงเรื่องอดีตของแกว่า   เมื่อก่อนแต่งงานมีพระมารักมาชอบแกแต่ไม่ได้แต่งงานกัน สามีคนปัจจุบันแต่งงานกันเพราะญาติทั้งสองฝ่ายเห็นชอบด้วยกัน แล้วจัดการให้ แล้วก็อยู่กันไปอย่างนั้นแหละ ไม่ทราบว่าจะแตกร้าวกันเมื่อไร เราก็นั่งฟังเฉย ๆ โดยถือว่าคนคุ้นเคยกัน พูดกันโดยความสุจริตใจ
                        แต่แปลกที่กิริยาของแกมีกระเถิบเข้ามาใกล้ทุกที แสงไต้หรี่จวนจะดับไม่ดับแหล่  บอกให้เขี่ย แกก็ยิ้มๆ เฉย ๆ ( สมัยจุดไต้ ) เราชักใจไม่ดีแลร้อนด้วยความใคร่ขึ้นมาบ้าง แลความกลัวบาปพร้อมทั้งกลัวคนจะรู้เข้าก็มาก ในขณะนั้นถึงแม้จะให้เราพูดเวลานี้ก็พูดอะไรไม่ถูกเลย มันตื้อไปหมด ถึงตัวแกเองเท่าที่สังเกตดูก็เป็นอันมาก ๆ ทีเดียว ดูสีหน้าแล้วเกือบจะไม่มีสติเอาเสียเลย แกทนไม่ไหวต้องลุกออกไปข้างนอกดื่มน้ำ เอาน้ำลูบหน้า แล้วจึงกลับเข้ามาใหม่ตั้งหลายหน แต่กลับเข้ามาทีไรนั่งใกล้ชิดเราเข้าทุกที เราใจไม่ดี มันงงมึนไปหมด ทำให้เราหงุดหงิดรำคาญจึงลากลับวัด   ที่ไหนได้มองดูเด็กที่ไปด้วยนั่งพิงฝาหลับแล้ว  แกขอร้องให้เรานอนพักที่บ้านด้วย เช้าจึงกลับ  เรายิ่งงงใหญ่พร้อมด้วยความกระดากใจเอามาก ๆ ทีเดียว  เราบอกให้ปลุกเด็ก  ครั้งที่สองจึงยอม  เด็กตื่นแล้ว เราสองคนกับเด็กเดินลงบันไดบ้านด้วยความมึนงงและละอายแก่ใจตนเองมาก กลัวหมู่เพื่อนแลครูบาอาจารย์จะรู้เข้าด้วย  ถึงวัดราวเที่ยงคืนแล้วปรารภถึงเรื่องนั้นว่า  อะไรหนอ ๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นอนไม่หลับจนสว่าง เป็นอันว่าเราตลอดปลอดภัยพ้นอันตรายมาได้อย่างปาฏิหาริย์
                         เรื่องทั้งหลายแหล่ในอดีตที่เราเล่ามาทั้งหมดนั้นเกิดจากผู้หญิงสาวที่เราไม่เคยรู้จักหน้าตาเขามาก่อนเลย ซึ่งเดินเข้ามาขอรูปภาพของเราในวันนั้นเท่ากับเทศนาให้เราฟังแท้ ๆ อ๋อเล่ห์เหลี่ยมของหญิงทั้งหลายผู้ยังหลงมัวเมาอยู่ในกามโลกีย์ในโลกนี้เป็นอย่างนี้แลหนอ เราจึงขอขอบพระคุณเขาไว้เป็นอย่างมาก ณ โอกาสนี้ด้วย เรื่องแรกที่เรายกมาเล่านั้นเกิดขึ้นเหมือนเราได้ฟังเทศน์เขา จึงไม่มีแปลกอะไร สองเรื่องหลังต่อไปนั้นจะเป็นเพราะเราไม่สนใจในเรื่องโลกีย์วิสัย หรืออีกทีเขาก็เรียกกันว่าโง่ก็ได้ แต่เรายอมเป็นคนโง่ในเรื่องพรรค์นั้นแล้ว จึงยอมสละชีวิตออกบวช แล้วก็บวชอย่างชนิดที่ยอมถวายชีวิตเพื่อบูชาพระพุทธศาสนาเอาจริง ๆ ด้วย อนึ่ง หากเราไม่โง่เช่นนั้นก็ดี หรือบุญกุศลของเราไม่ช่วยค้ำจุนไว้ก็ดี และเราไม่ยอมสละชีวิตเพื่อบูชาพระศาสนาก็ดี ป่านนี้ตัวของเราคงจะเป็นมูลเหยี่ยวมูลกาไปแล้วแต่นานก็ได้

                        

                         เชียงใหม่ อายุ ๓๒ พรรษา
                  
                        
680  ห้องพระ / พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ / Re: พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ) เมื่อ: 28 ธันวาคม 2553, 07:08:25
                                     พรรษา ๖ จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพระนาผักหอก ( พ.ศ. ๒๔๗๑ )

                     เราได้พาเอาโยมพ่อไปอยู่ถ้ำด้วย ตั้งแต่ท่านบวชเป็นชีปะขาวมาได้ ๑๑ ปีแล้ว เรายังไม่เคยได้ให้ท่านอยู่จำพรรษาด้วย และก็ไม่เคยมาจำพรรษาใกล้บ้านอย่างปีนี้เลย ปีนี้นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้อุปการะท่านในด้านทางธรรม   และท่านก็ได้ทำภาวนากรรมฐานอย่างสุดความสามารถของท่านได้ผลอย่างยิ่งจนท่านอุทานออกมาว่า  ตั้งแต่เกิดมาในชีวิตพึ่งได้ซาบซึ้งในรสชาติของพระธรรมในครั้งนี้เอง  ท่านนั่งภาวนากัมมัฏฐานได้นานเป็นเวลาถึง ๓ - ๔  ชั่วโมงทีเดียว เราดีใจมากที่ได้สังเคราะห์ท่านสมเจตนารมณ์ของเรา  แต่เมื่อถึงกาลเวลาเข้าแล้ว  คนเรามันมักมีอันเป็นไป  กล่าวคือ  ท่านมาเกิดอาพาธ ลูกหลานเขามองเห็นความลำบากเมื่อเจ็บมากในเวลาค่ำคืน เพราะอยู่สองคนพ่อลูกด้วยกันเท่านั้น ไม่ทราบว่าจะวิ่งไปพึ่งใคร  เขาจึงได้พากันมารับเอาลงไปรักษาที่บ้าน  แต่ท่านก็ไม่ยอมกลับไปอยู่ที่วัดเดิม ให้เขาเอาไปไว้ที่ห้างนาของท่านกลางทุ่ง  เราได้ตามไปให้สติบ่อย ๆ
                    ในปีนั้น มีสิ่งที่น่ามหัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่งสำหรับโยมพ่อของเรา   กล่าวคือ    ข้าวกล้าในนาของชาวบ้านทั้งหมดแถบนั้นไม่ดีเลยทั้ง ๆ  ที่ฟ้าฝนก็พอปานกลาง   ต้นข้าวแดงไปหมด  มีข้าวที่เขียวงามผิดหูผิดตาของคนทั้งหลายเฉพาะทุ่งนาที่ท่านอยู่เท่านั้น  จนชาวบ้านพูดกันว่า  คุณพ่อปะขาวคงจะไม่รอดปีนี้  แล้วก็เป็นความจริงอย่างที่เขาพูด  วันนั้นเราได้ไปให้สติและอุบายต่าง ๆ จนเป็นที่พอใจของท่าน  ท่านก็ยังแข็งแรงดี  จวนค่ำเราจึงกลับที่อยู่ถ้ำพระนาผักหอก    กลางคืนวันนั้นเองท่านได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการมีสติสงบอารมณ์อยู่ตลอดหมดลมหายใจ รุ่งเช้าเขาได้ไปตามเรามา แล้วก็ทำการฌาปนกิจศพของท่านให้เสร็จเรียบร้อยในวันนั้นเอง ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑  อายุได้ ๗๗ ปี  บวชชีปะขาวอยู่ ๑๑ ปี
                     ก่อนโยมพ่อของเราจะไปอยู่ด้วย เราอยู่คนเดียว หลังจากโยมพ่อของเราถึงแก่กรรมแล้วเราก็อยู่คนเดียวอีกนับว่าหาได้ยากที่จะได้วิเวกอย่างนี้  เราได้กำหนดในใจของเราไว้ว่า ชีวิตและเลือดเนื้อตลอดถึงข้อวัตรที่เราจะทำอยู่ทั้งหมด  เราขอมอบบูชาพระรัตนตรัยเหมือนกับบุคคลเด็ดดอกไม้บูชาพระ  ฉะนั้น แล้วเราก็รีบเร่งปรารภความเพียรอย่างแรงกล้า  ตั้งสติกำหนดจิตมิให้คิดนึกส่งออกไปภายนอก ให้อยู่ในความสงบเฉพาะภายในอย่างเดียว ตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ก่อนจะนอนตั้งสติไว้อย่างไรตื่นมาก็ให้ได้อย่างนั้น    แม้บางครั้งนอนหลับอยู่ก็รู้สึกว่าตัวเองนอนหลับแต่ลุกขึ้นไม่ได้  พยายามให้กายเคลื่อนไหวแล้วจึงจะรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาโดยความเข้าใจในตนเองว่า  จิตที่ไม่คิดนึกส่งส่ายออกไปภายนอก  สงบนิ่งอยู่ ณ ที่เดียว นั่นแลคือความหมดจดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ปัญญาก็เอามาใช้ชำระใจที่ส่งส่ายแล้วเข้ามาหาความสงบนั่นเอง ฉะนั้นจึงไม่พยายามที่จะใช้ปัญญาพิจารณาธาตุ ขันธ์ อายตนะ เป็นต้น  หาได้รู้ไม่ว่า กายกับจิตมันยังเกี่ยวเนื่องกันอยู่ เมื่อวัตถุหรืออารมณ์อันใดมากระทบส่วนใดส่วนหนึ่งเข้าแล้ว มันจะต้องกระเทือนถึงกัน ทำให้ใจที่สงบอยู่แล้วนั้นหวั่นไหวไปตามกิเลสได้            เราทำความเพียรเดินจงกรมจนเท้าทะลุเลือดออกแล้วก็เป็นไข้ตลอดพรรษา     แต่เราก็หาได้ท้อถอยในการปรารภความเพียรไม่  เราเคยได้อ่านเรื่องของพระเถระบางองค์ในสมัยก่อนเดินจงกรมจนเท้าแตก   เราไม่ค่อยจะเชื่อ คำว่า แตก คงหมายเอาไปกระทบของแข็งอะไรเข้าแล้วก็แตก ก็เดินจงกรมสำรวมในทางเรียบ ๆ จะไปกระทบอะไร  ความจริงศัพท์บาลีคำว่า  แตกหรือทะลุ   ใช้ศัพท์เดียวกันนั่นเอง และที่ว่าพระอาพาธ (ไข้)  เกิดจาก กรรม ฤดู น้ำดีกำเริบ  การกระทบสิ่งภายนอก แลเกิดจากทำความเพียร ก็เพิ่งมาเข้าใจเอานี่เองว่า  ความเพียรที่มีจิตกำลังกล้า ไม่มีปัญญา  แต่นี่เราอยู่คนเดียวไม่มีกัลยาณมิตร  กล้าแต่ความเพียรจิตไม่กล้าปัญญาไม่ค่อยดี จึงทำให้เป็นไข้
                      ออกพรรษาแล้ว   เราจึงได้ย้อนกลับไปหาพี่ชายของเราและพระอาจารย์เสาร์ที่นครพนม   เพราะเราห่างจากหมู่เพื่อนและครูบาอาจารย์มาสองปีแล้ว  ตั้งแต่ท่านอาจารย์เสาร์และท่านอาจารย์มั่น  พร้อมทั้งหมู่คณะจากท่าบ่อไปในแถบนี้ยังเหลือพระคณะนี้เฉพาะเราองค์เดียว
  
                                                เรื่องของหลวงตามั่น
  
                      ขณะนั้นหลวงตามั่นบ้านค้อ ได้มาจำพรรษาบ้านนาสีดา อันเป็นบ้านเกิดของเรา แกเที่ยวคุยและอาละวาดพระที่มีความรู้น้อยกว่าว่า   แกเป็นผู้เก่งทางศาสนา   สามารถโต้ตอบกับใครต่อใครให้ปราชัยไปได้   แม้พระกัมมัฏฐานทั้งหลายเห็นหน้าแกแล้วก็หลบหน้า  ดูซิ พระกัมมัฏฐานทั้งหลายอยู่ไม่ได้หนีไปหมดเพราะกลัวเรา ยังเหลือแต่คุณเทสก์องค์เดียว นี่อยู่ไม่กี่วันก็จะไปแล้ว    เขาได้ยินแล้วเบื่อไม่อยากพูด   ถึงพูดแกก็ว่าถูกแต่แกคนเดียว โต้กันไปเป็นเรื่องเป็นราว
                      พอดีพรรษานั้นเกิดอธิกรณ์กับพระบ้านกลางใหญ่   เขาแอบไปนิมนต์เราให้ลงมาจากถ้ำพระเพื่อมาชำระอธิกรณ์  พอเราลงมาแกกลับให้ล้มเลิกอธิกรณ์นั้นเสีย  แกชวนทำอย่างนี้อยู่ร่ำไปจนเป็นเหตุให้พระแถวนั้นเอือมระอาไปหมด  นี่จะเป็นเพราะบ้ายอดังคนปักษ์ใต้พูดก็ได้  เพราะเขาขี้เกียจพูด  พูดไปก็ไร้สาระประโยชน์
                      พอดีวันนั้นเป็นวันปวารณา  เขาทำบุญตามประเพณี   เขาไปนิมนต์แกมาร่วมเทศน์ด้วย   และเขาได้ไปนิมนต์เราลงมาร่วมด้วยเหมือนกัน   แต่เขาไม่ได้บอกให้แกรู้   พอดีเราเดินผ่านบ้านมาไม่เห็นมีคน   เขาไปรอคอยเราอยู่ที่วัดหมดแล้ว   ซึ่งผิดปกติจากทุกวัน   ก็แต่ไหนแต่ไรมาพอรู้ว่าเราจะเดินผ่านบ้านเขาจะมารอดูเราเต็มไปหมดสองข้างทาง  บางคนร้องเรียกจ้าละหวั่น  จนเราไม่อยากจะเดินผ่านบ้านกลางใหญ่
                      พอแกเทศน์จบ เราเรียกประชุมสงฆ์ทั้งหมดแล้วปรารภเรื่องที่แกพูดว่า ไหว้พระเอาอะระหังขึ้นก่อนนั้นผิด เราไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ไหว้อรหันต์ไม่ได้ ให้แกอ้างเหตุผลประกอบ  แกบอกว่า ต้องว่า นะโมขึ้นก่อนซิแล้วว่า นะโม อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ   เราชี้ให้แกเห็นว่า  มันก็ไหว้อรหโตเหมือนกัน หลวงตาเป็นพระอรหันต์หรือ  จึงไหว้อรหโต           ถึงตอนนี้  แกชักจะโกรธอย่างแรงทีเดียวว่า ถ้าไม่ได้เป็นพระอรหันต์แล้วไม่บวชอยู่อย่างนี้ดอก สึกออกไปนอนกับเมียดีกว่า  และพูดหยาบคาย?หลายอย่าง  ล้วนแต่คำไม่น่าฟังทั้งนั้น  จึงย้อนถามต่อไปว่า  ที่เราเป็นพระอรหันต์มีอะไรเป็นเครื่องวัด แกตอบว่า ดูดินเป็นเครื่องวัด เราบอกว่า ดินใคร ๆ ก็ดูได้ แม้แต่วัวควายมันก็กินหญ้าก้มดูดินอยู่ตลอดวันยังค่ำ มันเป็นอรหันต์หมดด้วยกันละซิ หลวงตานี่อวดอุตริมนุสสธรรมแล้ว  พอเราพูดเท่านี้แกตกใจหยุดชะงักพูดอะไรไม่ได้เลย  เราได้พูดหลายเรื่อง  เป็นต้นว่า แกพูดท้าทายหมู่เพื่อนและพระกัมมัฏฐานต่าง ๆ นานา เป็นจริงไหมขอให้พูดออกมา แกไม่พูดเลยเด็ดขาด
                       เวลานั้นจวนค่ำแล้ว พระเขาจะปวารณา แกเข้าไปในอุโบสถจะปวารณากะเขาบ้าง แต่พระไม่ให้ปวารณาด้วย แกเลยกลับบ้านนาสีดาคนเดียว   วันนั้นคนทั้งบ้านแทบจะไม่มีคนอยู่เฝ้าบ้านเลย  มารวมกันที่  ณ  ที่วัดนั้นหมด กำนันตัวเอกซึ่งไม่เคยเข้าวัดเลยแต่ไหนแต่ไรมา  ก็เข้าวัดตั้งแต่วันนั้นมาจนกระทั่งวันตาย พอดีเย็นวันนั้นเราไม่ได้กลับถ้ำพระ   แต่นอนวัดบ้านนาสีดา   หลวงตามั่นได้กระหืดกระหอบมาหาเราแล้วพูดแทบไม่เป็นศัพท์เป็นแสงด้วยความน้อยใจ  แล้วจะหนีไปในคืนนั้น  ได้บอกว่าอับอายขายหน้าเขา อยู่ไม่ได้ เราได้ร้องขอให้อยู่ต่อไป รุ่งเช้าจึงไป ผมพูดตามเหตุผล ผมไม่มีความอิจฉาริษยาอะไรดอก คืนนั้นแกนอนไม่หลับหมดคืน เช้ามืดแกก็ไปโน่นไปหาเจ้าคณะอำเภอเขาโน่น  แกไปขอลาสึก  คืนเดียวเสียงกระฉ่อนดังไปหมด  เจ้าคณะอำเภอเขาก็รู้เรื่องนี้ด้วย บอกว่าไม่ต้องลาก็ได้ สึกเลยแกมาบ้านค้อ ลาพระเป็นครูสอนนักธรรม  พระเขาก็รู้อีกเหมือนกัน เขาบอกว่าไม่ต้องลาก็ได้  สึกเลย
                       ผลสุดท้าย สึกแล้วเข้าห้องนอนเงียบอยู่บ้านภรรยาเก่าเป็นตั้งหลายวัน จึงค่อยมาให้คนเห็นหน้า
                       เรื่องไร้สาระนำมาประกอบอัตตโนประวัติเพื่อให้สมบูรณ์ฉบับไม่นำมาหรือก็จะขาดเรื่องไม่สมบูรณ์ไป

                                                       เรื่องของหลวงเตี่ยทองอินทร์

                       นำเรื่องไร้สาระมาเล่าสู่กันฟังแล้ว  ทีนี้จะนำเอาเรื่องที่มีสาระมาเล่าสู่กันฟัง  หลวงเตี่ยทองอินทร์เดิมแกเป็นคนโคราช  บ้านโคกจอหอ   แกมาค้าขายอยู่ท่าบ่อ  เป็นพ่อค้าใหญ่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในแถบนี้   แกเป็นคนมีศรัทธาทั้งผัวทั้งเมีย คนท่าบ่อรู้การรักษาศีลก็เพราะแก แกถวายสวนทำเป็นวัดชื่อ วัดอัมพวัน เอาชื่อของสองผัวเมียใส่ด้วย เพราะผัวชื่ออินทร์ เมียชื่ออ่ำ แล้วแกก็บวชทั้งสองผัวเมียอยู่มาได้ ๔ - ๕ พรรษา  แกเป็นโรคฟกบวมไปไหนไม่ได้ นอนอยู่กับที่ ถึงปีมาลูก ๆ เขาจะต้องทำบังสุกุลเป็นให้แก เราเลยถูกนิมนต์ไปทำบุญด้วย ทั้งที่เราไม่เคยเห็นหน้ามาแต่ก่อนเลย   เราได้ ๕ พรรษา   แกได้ ๗ พรรษาแก่กว่าเรา ๒ พรรษา  แกบอกว่า  เวลานี้ผมเหมือนคนตายแล้วครับ  เราบอกว่า คนตายแล้วมันดีซิ  แกบอกว่า ผมไม่ห่วงอะไรทั้งหมด จิตจดจ่อแต่มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เท่านั้นแหละ เราบอกว่า  ถ้ายังปรารถนาอยู่ก็เรียกว่ายังไม่ตาย คนตายแล้วไม่ปรารถนาอะไรเลย   ตอนนี้แกชักอึ้งแล้ว   แกซักว่า  ไม่ให้ปรารถนาจะให้ผมทำอย่างไร   เราบอกว่า ให้ภาวนาพุทโธ ๆ เป็นอารมณ์เดียว
                      ตอนนี้เรามองดูข้างล่างมีพระมาอยู่เต็มไปหมด   เราจึงรีบทำพิธีเสร็จแล้วก็ลงไป  ให้พระวัดอื่นมาทำพิธีต่อ (ตามปกติแล้ว เมื่อแกดี ๆ  อยู่ขยันไหว้พระสวดมนต์มาก ๗ วันจึงจะรอบของเก่า  เวลาพระอาจารย์ผู้ใหญ่มา เช่น อาจารย์มั่น อาจารย์เสาร์ เป็นต้น แกเข้าไปหาแล้วออกมาบอกลูกและเมียว่า ทำบุญทำทานตักบาตรเท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องอะไรหนักหนา แต่ลูกสาวปฏิบัติได้ดีมาก)
                      พอรุ่งเช้าขึ้นมีคนมาบอกว่า นิมนต์ไปหาหลวงเตี่ยด้วย แกมีเรื่องที่จะเล่าให้ฟัง เราบอกว่า ฉันเช้าแล้วจะไปให้รอประเดี๋ยว  พอเราไปถึงแกรีบเล่าเรื่องมหัศจรรย์ให้ฟังว่า  อาจารย์คืนนี้ผมแปลก  ไก่ซึ่งแต่ก่อนมันขันเสียงว่า เอ้กอี๊เอ้ก - เอ้ก แต่เมื่อคืนนี้ไม่ยักเป็นอย่างนั้น มันบอกว่า จิตเจ้าเป็นเอก ๆ ดังนี้(เมื่อจิตเป็นเอกคตารมณ์แล้ว เสียงมันจะปรากฏเป็นอย่างนั้น)
                      อาจารย์ - ตุ๊กแก  เมื่อก่อนมันร้องว่า  ตุ๊กแก ๆ คืนนี้มันบอกว่า  ตัวเจ้าแก่แล้ว ๆ   (เป็นธรรมเทศนาเสียงอะไรซึ่งมีอาการคล้ายกันเป็นเครื่องสอนและจะสอนทันที)    เราได้บอกแกว่า   ถูกแล้วให้ตั้งใจภาวนาเข้า ทำใจให้แน่วแน่ ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน อย่าให้เผลอได้ ไหน ๆ เราก็ตั้งต่อความตายแล้ว
                      วันหลังมีคนมาบอกว่า ขอให้อาจารย์รีบไปเร็ว หลวงเตี่ยจะสึกแล้ว  เราตกใจ  เรื่องอะไรทำไมจึงจะสึกเสียแล้ว ภาวนาพึ่งเป็น เราบอกว่า  เดี๋ยวก่อนอย่าพึ่งสึก ฉันข้าวเสร็จแล้วจะไป พอเราไปกุฏิแกมีลูกกรงกั้นสองชั้น  เราเปิดชั้นนอกเข้าไป  แล้วให้เด็กเฝ้าแกอยู่นั้น  เปิดอีกชั้นหนึ่ง  แกได้ยินเสียงของเราเท่านั้นแหละ ความสงสัยหายหมดเหมือนปลิดทิ้ง  แล้วเล่าให้ฟังว่า  ผมได้เล่าเรื่องต่าง ๆ  ที่ผมภาวนาเป็นให้ลูกสาวฟังดังผมได้เล่าถวายอาจารย์นั้น  พอเล่าไปเกิดวิตกขึ้นมาว่าตายจริง กูนี่ เป็นปาราชิก ข้อที่ว่าอวดอุตริมนุสสธรรมให้คนฟังแล้ว  เกิดความร้อนใจแล้วจะสึกให้ได้  พอดีได้ยินเสียงอาจารย์มา  ความเดือดร้อนอันนั้นเลยหายวาบไป  ผมไม่สึกแล้วคราวนี้  เราได้บอกว่า ไม่เป็นการอุตริมนุสสธรรมดอก เราไม่ได้หวังลาภหวังยศและความสรรเสริญ  เราพูดเพื่อศึกษาธรรมกันต่างหาก ไม่เป็นอาบัติ            หลังจากนั้น    เราเป็นห่วงคิดถึงครูบาอาจารย์เพราะเราหนีจากอาจารย์มาได้  ๒  ปี     จึงได้ลาท่านไปนครพนมเพื่อเยี่ยมพระอาจารย์เสาร์

                                                  อยู่ด้วยท่านอาจารย์เสาร์

                   ท่านอาจารย์เสาร์ตามปกติท่านไม่ค่อยเทศนา    ถึงจะเทศน์ก็เป็นธรรมสากัจฉา ปีนี้เราไปอยู่ด้วยก็เป็นกำลังของท่านองค์หนึ่ง  คือเดิมมีท่านอาจารย์ทุมอยู่แล้ว  เราไปอยู่ด้วยอีกรูปหนึ่ง  จึงเป็นสองรูปด้วยกัน และเราก็ได้ช่วยท่านอบรมญาติโยมอีกแรงหนึ่ง   ปีนี้เราได้ขออาราธนาให้ท่านถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก   ทีแรกท่านก็ไม่อยากถ่าย    พอเราอ้อนวอนอ้างถึงเหตุผลความจำเป็นเพื่อให้บรรดาศิษยานุศิษย์และลูกหลานยุคต่อไปได้มีโอกาสกราบไหว้เคารพบูชาท่านถึงได้ยอม นับเป็นประวัติการณ์   เพราะแต่ก่อนมาท่านไม่ถ่ายรูปเลย    แต่กระนั้นเรายังเกรงท่านจะเปลี่ยนใจ ต้องรีบให้ข้ามไปตามช่างภาพมาจากฝั่งลาวมาถ่ายให้ เราดีใจมาก ถ่ายภาพท่านได้แล้วได้แจกท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์   และท่านพระครูสีลสัมปัน  ( ภายหลังได้เลื่อนเป็นเจ้าคุณธรรมสารมุนี )   รูปท่านอาจารย์เสาร์ที่เราจัดการถ่ายครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นรูปของท่านครั้งเดียวที่มีโอกาสถ่ายไว้ได้       แม้ท่านอาจารย์มั่นก็เช่นเดียวกัน  การถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกเป็นเรื่องที่ท่านปฏิเสธเสมอ  เราอาราธนาอ้อนวอนบ่อย ๆ ท่านก็ว่า  ซื้อขนมให้หมากินดีกว่า  แต่เมื่อเราอ้อนวอนชี้แจงเหตุผลหนักเข้า สุดท้ายท่านก็ใจอ่อน ทำให้เป็นบุญของคนรุ่นหลัง ๆ ได้มีโอกาสมีรูปของท่านไว้กราบไหว้สักการะ  ออกพรรษาแล้วท่านพระอาจารย์เสาร์ได้เที่ยวไปฟากโขงฝั่งโน้น  ไปพักอยู่ถ้ำส้มป่อย  ซึ่งถ้ำนี้เมื่อท่านออกวิเวกครั้งแรก ท่านได้มาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น เป็นถ้ำใหญ่ มีหลายซอกหลายถ้ำติดกัน มีตู้พระไตรปิฎกอยู่ในนั้นด้วยแต่ไม่มีหนังสือ  เราได้ตามท่านไป แต่ท่านไม่ได้อยู่เสียแล้วท่านเข้าไปในถ้ำเสือ ซึ่งเดินไปอีกไกลจึงจะถึง  ทางเข้าไปเป็นเขาวงกต  มีภูเขาสลับซับซ้อนกันเป็นคู่ ๆ ถ้ำที่ท่านอยู่มีเสือมาออกลูกทางใต้ถ้ำ  เขาจึงเรียกถ้ำเสือ  ทางบนขึ้นไปสูงราวเส้นหนึ่งเป็นถ้ำยาวไปทะลุออกฟากโน้น ชาวบ้านเขาบอกว่าจุดไต้ไปหมด ๕ เล่ม  จึงทะลุออกฟากโน้น  ท่านอยู่ปากถ้ำนี้ มีพระเณร ๒ - ๓ รูป  ไปด้วย  มีตาแก่คนหนึ่งตามไปปฏิบัติท่าน ตาแก่คนนี้แกสุมไฟนอนอยู่ปากถ้ำ    กลางคืนวันหนึ่งได้ยินเสียงดังฮือ ๆ  แกลุกขึ้นมาก็ไม่เห็นมีอะไร แกสงสัยรุ่งเช้าเดินไปดูตรงที่ได้ยินเสียงนั้น   ปรากฏว่าเห็นรอยเสือมายืนอยู่ตรงนั้น    เข้าใจว่ามันจะเข้าไปในถ้ำ พอเห็นคนนอนอยู่มันเลยกลับ
                      ถ้ำนี้ราบเกลี้ยงสองข้างเป็นเหมือนหิ้งตู้รถไฟ     มีน้ำย้อยอยู่ข้างใน    พระไปตักเอาน้ำที่นั้นมาฉัน  ไม่ต้องกรอง   สะอาด  ไม่มีตัวสัตว์   พระพาเราไปจุดเทียนไขหมดราวครึ่งเล่มสบายมากไม่มีอึดอัดใจ  ห่างไกลจากหมู่บ้านราวหนึ่งกิโลเมตร   เราอยู่ด้วยท่านสองคืนแล้วเดินทางกลับ   เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเราได้ข่าวว่าพวกคอมมิวนิสต์ขนครัวไปซุกอยู่ในนั้น  อเมริการู้เข้าเอาลูกระเบิดไปทิ้งใส่ถ้ำ   ลูกระเบิดถล่มปากถ้ำเป็นเหตุให้พวกคอมมิวนิสต์ตายอยู่ ณ ที่นั้นเป็นอันมาก  ไม่มีใครไปรื้อออกน่าสลดสังเวชชีวิตของคนเรานี้  หาค่าไม่ได้เสียเลย
 
                                              พรรษา ๗ จำพรรษาบ้านนาทราย  ( พ.ศ. ๒๔๗๒ )

                      จวนเข้าพรรษาท่านอาจารย์เสาร์ได้ให้เราไปจำพรรษาที่บ้านนาทราย  พระอาจารย์ภูมีไปจำที่บ้านนาขี้ริ้นเพื่อฉลองศรัทธาญาติโยม    พรรษานี้สุขภาพของเราไม่ดีเลย     แต่เราก็ไม่ท้อถอยในการทำความเพียรภาวนากัมมัฏฐาน  จนถึงขนาดพลีชีพเพื่อบูชาพระรัตนตรัยเอาเลย  มันให้คำนึงถึงอนาคตภัยทั้งส่วนตัวและพุทธศาสนาว่า   บรรพชาเพศของเราจะอยู่ตลอดไปได้หรือไม่หนอ    บางทีบ้านเมืองเกิดจลาจลประเทศชาติถูกข้าศึกรุกราน เราอาจถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร    หรือมิฉะนั้นชาติบ้านเมืองตกไปเป็นขี้ข้าของชาติอื่น    เราจะบวชอยู่ได้อย่างไร ถึงแม้จะอยู่ไปก็ไม่สะดวกแก่การปฏิบัติธรรมวินัย    เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะทำอย่างไร    อนึ่งเวลานี้ครูบาอาจารย์ของเราก็ยังมีหลายท่านหลายรูปอยู่    เมื่อท่านเหล่านั้นแก่เฒ่าชราล่วงโรยไปหมดแล้วใครหนอจะเป็นผู้นำหมู่นำคณะในทางปฏิบัติศีลธรรมเล่า  แสงแห่งพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีแต่จะหรี่ลงทุกที    เมื่อคิดไป ๆ ก็ทำให้ใจเศร้าสลดสังเวชทั้งตัวเองแลพุทธศาสนาคล้าย ๆ  กับว่ากาลนั้นจะมาถึงเข้าในวันสองวันข้างหน้า   ทำให้ใจว้าเหว่ยิ่งขึ้นทุกที  พอมาถึงจุดนี้เราหวนระลึกย้อนกลับเข้ามาหาตัวว่า  ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองยังปกติดีอยู่    ครูบาอาจารย์ผู้นำก็ยังมีอยู่พร้อม   และเราก็ได้อบรมมาพอสมควรแล้ว  เมื่อมีโอกาสเช่นนี้    เราจะต้องรีบเร่งทำความเพียรภาวนา   จนให้เข้าใจในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจนพึ่งตนเองได้  หากจะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นข้างหน้า  ไม่ว่าจะเป็นส่วนตัวหรือพระพุทธศาสนา  เราก็จะได้ไม่เสียที       พอได้อุบายอันนี้ขึ้นมามันทำให้ใจกล้าปรารภความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว     ทั้ง ๆ ที่ในพรรษาเรานั่งไม่ได้ ต้องใช้อิริยาบถเดินเป็นส่วนใหญ่  ออกพรรษาแล้วได้ทราบข่าวว่าคณะท่านอาจารย์สิงห์และพระมหาปิ่นกลับจากอุบลไปถึงขอนแก่นแล้ว  เราจึงได้ไปลาท่านอาจารย์เสาร์แล้วออกเดินทางไปเพื่อนมัสการท่านทั้งสอง  พอดีในปีนั้นทางราชการได้ประกาศไม่ให้ประชาชนนับถือภูตผีปีศาจ ให้พากันปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัย  ทางจังหวัดจึงได้ระดมคณะของท่านอาจารย์สิงห์ให้ช่วยปราบผี เมื่อเราไปถึงก็เลยเข้าขบวนกับท่านบ้าง

                      

                                        พรรษา ๘ จำพรรษาที่บ้านพระครือกับพระมหาปิ่น ( พ.ศ. ๒๔๗๓ )

                      เราได้พาชาวบ้านย้ายวัดจากริมห้วยบ้านพระครือ  ไปตั้งตอนกลางทุ่งริมหนองบ้านแอวมอง  ภายหลังท่านอาจารย์มหาปิ่นจึงได้มาร่วมจำพรรษาด้วย   ในพรรษานี้พระผู้ใหญ่มี   พระอาจารย์ภูมี อาจารย์กงมา แลเรา โดยพระอาจารย์มหาปิ่นเป็นหัวหน้าตลอดพรรษาเราได้รับภาระแบ่งเบาเทศนาและรับแขก ช่วยท่านเป็นประจำทุก ๆ วันพระ พระเณรและญาติโยมก็พากันตั้งใจปรารภความเพียรโดยเต็มความสามารถของตน ๆ นับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก บางคนภาวนาเห็นนั้นเห็นนี่ต่าง ๆ นานา  จนลืมบ้านลืมลูกเมียด้วยการเพลินใจในการภาวนา  ออกพรรษาแล้วเราพร้อมด้วยอาจารย์ภูมีและคณะได้ลาท่านอาจารย์มหาปิ่นออกไปเที่ยววิเวกทางบ้านโจด   หนองบัวบาน อำเภอกันทรวิชัย ( โคกพระ )  จังหวัดมหาสารคาม เขาได้นิมนต์ให้ไปพักที่หนองแวง ข้างโรงเรียนนั่นเอง ได้เทศนาอบรมประชาชนอยู่ ณ ที่นั้นพอสมควร  แล้วญาติโยมทางบ้านโจด หนองบัวบานไปตามกลับมาภายหลัง ณ ที่นั้นได้กลายเป็นวัดถาวรไปแล้ว การกลับมาบ้านโจด หนองบัวบานครั้งหลังนี้ ได้ไปพักที่ป่าดง ข้างหนองตอกแป้น คราวนี้มีผู้คนมาอบรมกัมมัฏฐานมากแลเป็นแม่ชีและชีปะขาวก็มาก  ผู้ที่เข้ามาอบรมได้ผลเป็นที่อัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง  ลูกหลานผิดด่าว่าร้ายกันอยู่ในบ้านโน้น  ภาวนาอยู่ที่วัดก็รู้ได้  คนที่ภาวนาเป็นก็เป็นอย่างน่าอัศจรรย์ คนที่ภาวนาไม่เป็นเพียงแต่บวชกับเพื่อนไปก็มี วันหนึ่งพระภาวนาได้นิมิตแม่ชีสาวมาขอจับเท้าพระ เราได้เรียกแม่ชีมาเทศน์   ให้เห็นโทษในกามทั้งหลายว่า  เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วชี้ลงที่รูปเป็นเหตุให้ติดหลายอย่าง  จนเป็นเหตุให้แม่ชีคนนั้นรู้ตัว  แกได้พูดว่า  รู้ได้อย่างไร
         จวนเข้าพรรษา  ท่านอาจารย์สิงห์ได้สั่งให้เราไปจำพรรษาที่อำเภอพล   ให้อาจารย์ภูมีอยู่แทนต่อไป

                      

                                                             พระอาจารย์ภูมี ฐิตธัมโม

                      

                                                             พระอาจารย์กงมา


  

681  ห้องพระ / พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ / Re: พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ) เมื่อ: 28 ธันวาคม 2553, 07:08:06
                                              ตำรานอนหลับหรือไม่หลับ

                      ในระยะเดียวกันนี้   ได้พยายามจับอาการของคนนอนหลับว่าเป็นอย่างไร  โดยมากเราไม่รู้ตัวขณะที่มันจะหลับจริง ๆ  ตื่นแล้วจึงรู้ว่าตนนอนหลับ  คนเราก่อนหลับจะมีอาการเมื่อยอ่อนเพลียและง่วงซึมเซ่อทั้งกายและใจ ความนึกคิดสั้นเข้า   ที่สุดปล่อยวางสติอารมณ์ทั้งหมดแล้วหลับผล็อยไปเรียกว่าหลับ    เมื่อมาตั้งสติคอยจับอาการ ขณะที่มันปล่อยวางขั้นสุดท้ายนั้น สติจะยังเหลือน้อยมากแทบจะจับไม่ได้เลยทีเดียว อารมณ์ต่าง ๆ ไม่มีเหลือเลย  จะยังเหลือสติตามเพ่งดูจิตซึ่งปรากฏในขณะนั้นนิดเดียว คล้าย ๆ กับว่าจิตจะตกภวังค์ ตอนนี้ถ้าหากเราไม่ต้องการจะให้มันหลับ พยายามค้นหาอารมณ์อันใดอันหนึ่งให้มันเอามายึดแล้วคิดค้นและปรุงแต่งต่อไป  จิตใจก็จะแช่มชื่นเบิกบานหายจากความง่วง  ไม่หลับแล้วจะมีคุณค่าเท่ากับเรานอนหลับตั้ง ๔ - ๕ ชั่วโมง   ถ้าเราประสงค์จะให้มันหลับเราก็ปล่อยสติที่ว่ายังเหลืออยู่นิดเดียวนั้นเสียแล้วจะหลับไปอย่างสบาย  แต่ดีไม่เสียเวลา  จะหลับน้อยหลับมากไม่เกิน  ๕ - ๑๐  นาที  หรือถ้าเราตั้งสติกำหนดได้ดังอธิบายมานี้จริง ๆ แล้ว  รับรองว่าไม่เกิน ๕ นาที
                      อนึ่ง  ถ้าเราไม่ต้องการให้มันหลับละ   แต่จะพักกายพักจิตใจเฉย ๆ   ก็ให้หาที่พักอันสงัดพอสมควร  จะเป็นที่ลับตาหรือท่างกลางผู้คนก็ตาม  แล้วเอนกายนอนทอดเหยียดให้สบาย อย่าให้เกร็งส่วนใด ๆ  ทั้งหมดของร่างกาย   แล้วให้กำหนดจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียวในความปล่อยวาง   ให้มันว่างอยู่เฉยๆ เฉพาะมันสักพักหนึ่ง แล้วเราลุกขึ้นมา อาการทั้งหมดก็จะเหมือนกับว่าเราได้นอนหลับไปแล้วตั้ง ๔ - ๕ ชั่วโมงก็เหมือนกัน
                      ความจริงคำที่ว่า 'นอนหลับ' นั้นใจมิได้หลับ  แต่กายพักผ่อนไม่ต้องเคลื่อนไหวทั้งหมดต่างหาก แม้ท่านที่เข้านิโรธสมาบัติก็มิใช่อาการของคนนอนหลับ เป็นอาการของท่านคุมสติให้จิตแน่วอยู่ในอารมณ์อันเดียว แล้วละอารมณ์นั้นๆ   ละเอียดลงไปโดยลำดับพร้อมทั้งสติและจิตด้วย   จนขาดจากความรู้สึกนึกคิดอะไรทั้งหมด   ด้วยอำนาจการอบรมของท่าน   ขณะนั้นสติไม่มีงานทำ   สติจึงหมดไป   แม้ลมในร่างกายจะเดินอยู่ แต่ก็เป็นของละเอียดที่สุดจนจะเรียกว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ คือมี แต่ไม่ปรากฏเดินทางจมูก ถ้าจะอุปมาก็เหมือนกับลมภายนอก ลมมีอยู่ไม่ถึงกับพัดเอาใบไม้หรือสิ่งใด ๆ ให้หวั่นไหวปรากฏ  ลักษณะเช่นนั้นใครจะพูดว่าลมไม่มีไม่ได้ ถ้าลมไม่มีคืออากาศไม่มีนั่นเอง   มนุษย์สัตว์ทั้งหลายที่อยู่อาศัยในโลกนี้ก็ต้องตาย  ท่านเรียกว่า  เข้านิโรธสมาบัติ ตอนนี้ประสาทในอายตนะทั้ง ๖  ไม่ยอมรับสัมผัสอะไรทั้งนั้น  แต่มิใช่นอนหลับ การนอนหลับถ้ามีอะไรมากระทบอาจรู้สึกขึ้นมาได้ทันที ส่วนท่านผู้ที่เข้านิโรธสมาบัตินั้น เข้าด้วยอาการอบรมฝึกฝนจิตของท่านให้ชำนาญแล้วจึงเข้า   เมื่อเข้าแล้วจึงมีปาฏิหาริย์มาก   ถึงแม้ใครๆ  จะมาทำร้ายท่านในขณะนั้น   ขนาดเอาไฟมาเผาก็ไม่ไหม้ ส่วนนิพพานธาตุแตกขันธ์ดับได้   หากท่านจะออกจากนิโรธสมาบัติด้วยอำนาจแรงอธิษฐานของท่าน   เมื่อถึงกำหนดแล้วลมหายใจจะค่อยๆ  หยาบขึ้นโดยลำดับ   ต่อจากนั้นไปทุกสิ่งทุกอย่าในตัวของท่านก็จะปกติเช่นเดิม นิโรธสมาบัติมิใช่พระนิพพาน   เป็นฌานเพราะขาดปัญญาสัมมาทิฏฐิที่จะวินิจฉัยเหตุปัจจัยของกิเลสนั้น ๆ  คือกามาพจรและรูปาพจร  อันเป็นภูมิของวิปัสสนาญาณ ญาณทัสสนะ มัคควิถี  ฌานทั้งหมดเป็นแต่เครื่องสนับสนุนแลขัดเกลามรรคให้มีกำลังเท่านั้น          ฉะนั้น   พระพุทธองค์ก่อนจะปรินิพพานจึงเข้าฌานผ่านไปโดยลำดับ   แล้วกลับเข้าจตุตถฌานอันเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาแล้วนิพพานในระหว่างกามาพจร   กับรูปาพจรที่เป็นฐานของโลกุตตรธรรม
                       หากจะมีคำถามว่า เอ ตานี่ ทำไมแกจึงพูดถึงนิโรธ นิพพาน ฌานสมาบัติ แกได้ แกถึงแล้วหรือเปล่า แกก็จะตอบว่า มิได้ จะหาว่าข้าพเจ้าพูดอวดอุตริมนุสสธรรมอย่างนั้นหรือ ความจริงท่านผู้เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธก็ดี ถึงมรรคผลนิพพานก็ดี หรือเข้าถึงฌานสมาบัติก็ดี  ท่านมิได้สำคัญว่าเราเข้าอยู่  เราถึงแล้วหรือถึงอยู่ เป็นแต่ท่านชำนาญในอุบายที่จะให้เข้าถึงเท่านั้น ขณะที่เข้าถึงจริง ๆ  ถ้ายังมีความสำคัญอยู่อย่างนั้นก็จะไม่เข้าถึงแล้วคนทั่วไปเรียนรู้แลฉลาดในธรรมวินัยทั้งหลายก็จะพากันถึงมรรคผลนิพพาน   ฌานสมาบัติกันไปทั้งหมดทั้งบ้านทั้งเมืองละซี ขณะนั้นไม่ใช่วิสัยของใครที่จะไปแต่งตั้งสมมุติบัญญัติขึ้นมา  เมื่อพ้นจากภาวะเช่นนั้นแล้ว ท่านจึงมาอนุสรณ์ตรวจตราลำดับเหตุผล แล้วบัญญัติเรื่องทั้งหลายเหล่านั้นขึ้น ผู้อธิบายทั้งหลายไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้น ๆ แล้วจึงจะอธิบายได้ เมื่อมีบัญญัติไว้แล้ว  เข้าใจเนื้อความแล้ว ก็อธิบายตามความเข้าใจของตน ๆ ผิดบ้างถูกบ้าง  ถ้ามิฉะนั้นแล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ไหนจะจีรังถาวรมาได้จนบัดนี้  ผู้ฟังก็เถอะน่า ฟังเรื่องเดียว หัวข้ออันเดียวกันแต่เข้าใจไปคนละแง่กันก็เยอะ   ถ้าแม้ผู้ที่เข้าถึงขั้นนั้นอย่างเดียวกันด้วยอุบายเดียวกัน   แต่ก็ยังใช้แยบคายคนละอย่างกันธรรมที่เห็นด้วยตนเองจึงจะเป็นอัศจรรย์และทำได้ด้วยยาก   ทำไมจึงมาปรักปรำใส่โทษข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว ไม่ยุติธรรมเลย
                       ขออภัยด้วยที่ข้าพเจ้าได้นำท่านผู้อ่านแหวกแนวพาไปเที่ยวโลกเมืองผี     บัดนี้ขอนำเข้าสู่  เรื่องอัตตโน-ประวัติต่อไป
                       ออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์สิงห์ได้พาคณะเราไปกราบนมัสการทานอาจารย์มั่นที่บ้านสามผง       ดังเคยปฏิบัติกันมาเป็นอาจิณ ในระหว่างทางเราได้เล่าเรื่องทั้งหมดนั้นถวายท่านอาจารย์สิงห์ ทานก็ไม่ว่ากระไร ได้แต่นิ่ง ๆ เมื่อพวกเราไปถึงท่านอาจารย์มั่นแล้ว ท่านได้นำเรื่องนั้นกราบเรียนท่านอาจารย์มั่นอีกที ขณะนั้นเรายังนั่งอยู่ห่างท่านไปหน่อย ไม่ทราบว่าท่านพูดอย่างไรในเรื่องของเรา  เราก็ไม่ได้ยิน  เข้าใจว่าเป็นเรื่องไร้สาระ   มิใช่มัคควิถีท่านจึงไม่ปรารภต่อเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ
                       การรวมกันกราบนมัสการพระอาจารย์ผู้ใหญ่ในครั้งนี้  ถึงแม้พระเณรทั้งหมดรวมกันจะหย่อนร้อย  ก็นับว่ามากเอาการอยู่ในสมัยนั้น    แล้วท่านอาจารย์มั่นได้ให้เราพร้อมด้วยพระอีกองค์หนึ่งกับสามเณรหนึ่งองค์ตามท่านออกเดินทางไปบ้านข่าโนนแดง  ซึ่งอาจารย์อุ่น อาจารย์กู่  และอาจารย์ฝั้น จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้น ได้พักอยู่ ณ ที่นั้นสามวัน   ได้เล่าเรื่องที่เราหัดนอนหลับและไม่หลับให้เพื่อนฟัง    ทุกองค์พากันเงียบไม่พูดว่าอย่างไร   โดยเฉพาะท่านอาจารย์อุ่น  ซึ่งเป็นผู้ปรารภเรื่องนี้ก่อนตั้งแต่เรายังทำไม่ได้  ขณะที่ท่านอาจารย์มั่นอยู่ที่วัดป่าสามผงท่านเทศน์ทุกวัน   ถ้าใครอ่อนแอท้อแท้เจ็บป่วยท่านก็เทศน์ว่า  นั่นมิใช่กลัวตาย  แต่อยากตายหลายหน (คือหมายความว่า ถ้าทำความเพียรกล้าแข็งเข้า ใจบริสุทธิ์แล้วความกลัวตายก็จะลดน้อยลง ) พอท่านออกจากวัดไปไม่มีใครเทศน์ให้ฟัง จิตใจของลูกศิษย์ก็อ่อนลงจึงอยู่ไม่ได้ ที่วัดนี้อากาศร้ายนัก ไข้มาลาเรียก็ชุม ใครใจอ่อนแอจะต้องโดนเป็นไข้ทุกๆ คน  หมู่คณะที่อยู่บ้านสามผงได้ตามมาทั้งหมดวัดเลย  บอกว่า แย่ อยู่ไม่ไหว อากาศวัดบ้านสามผงมันร้ายกาจมาก ทำให้ซึมมึนเมาง่วงนอนตลอดทั้งวัน เมื่อหมู่คณะไปรวมพร้อมกันแล้ว ท่านอาจารย์มั่นได้ปรารภถึงการเที่ยววิเวกของหมู่คณะเพื่อเผยแพรศีลธรรมต่อไปว่า ในสามสี่จังหวัดแถบนี้คือ สกลนคร อุดร หนองคาย เลย   พวกเราก็ได้เที่ยวมามากแล้ว  ต่อไปนี้พวกเราจะไปจังหวัดไหนดี  ส่วนมากเห็นว่าลงไปทางอุบล แต่ตัวท่านเองไม่ค่อยพอใจเพราะหาป่าเขาและถ้ำยาก        แต่ว่ามติส่วนมากเห็นเช่นนั้นท่านก็อนุโลมตามเมื่อตกลงกันแล้วก็เตรียมออกเดินทางเป็นกลุ่ม ๆ หมู่ ๆ ส่วนเราจำเป็นต้องตามส่งโยมแม่กลับบ้านจึงไม่ได้ติดตามท่านด้วย  การที่คณะท่านอาจารย์มั่นไปครั้งนี้  ถูกมรสุมอย่างขนาดหนักมีทั้งผลดีและผลเสีย  ดี  ก็คือ  ได้ขยายจำนวนวัดมากขึ้น   ซึ่งแต่ก่อนพระกัมมัฏฐานวัดป่าไม่มีเลย    ที่จังหวัดอุบลพึ่งมามีและตั้งรกรากลงได้ครั้งนี้เอง แล้วก็ขยายออกไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้มีวัดพระธรรมยุตแทบทุกอำเภอแล้ว ที่ เสีย ก็คือ  เสื่อมคุณภาพในทางปฏิบัติก็ครั้งนี้?เป็นประวัติการณ์จนท่านอาจารย์มั่นผละหนีจากคณะขึ้นไปเชียงใหม่เสียเลย

                      

                       พระอาจารย์กู่ ธมมทินโน

                      

                        บ้านสามผง





                              พรรษา ๕ จำพรรษาอยู่ที่บ้านนาช้างน้ำอีก (พ.ศ. ๒๔๗๐)

                     พรรษานี้ เราได้วกกลับมาจำพรรษาที่บ้านนาช้างน้ำอีกเป็นครั้งที่สอง  พี่ชายของเราได้จำพรรษาที่บ้านนาสีดากับโยมพ่อ ออกพรรษาแล้วเราได้พาพี่ชายของเราไปทำความเพียรที่ถ้ำพระนาหักผอก ตอนหลังนี้พี่ชายของเราได้กลับลงไปหาพระอาจารย์เสาร์ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่นครพนม ออกพรรษาแล้วได้อุปสมบทเป็นพระ ณ วัดศรีเทพนั่นเอง

                    

                     ท่านเจ้าคุณ ลป.จันทร์ เขมิโย

                    

                     วัดศรีเทพประดิษฐาราม  

682  ห้องพระ / พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ / Re: พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ) เมื่อ: 28 ธันวาคม 2553, 07:07:45
                                              พรรษา ๒ จำพรรษาบ้านหนองลาด ( พ.ศ. ๒๔๖๗ )

                      ก่อนเข้าพรรษาเราได้พระกลมชาวจังหวัดเลยเป็นกัลยาณมิตรดีมาก   ขึ้นไปทำความเพียรที่ถ้ำพวง บนภูเหล็กสองครั้ง  ครั้งที่หนึ่งสี่คืน  ครั้งที่สองหกคืน   โดยมีผู้ใหญ่บ้านอ่อนสี   ( ภายหลังเป็นกำนันขุนประจักษ์ แล้วบวชพระ มรณภาพในเพศสมณะนั้นเอง ) ได้ส่งคนให้ขึ้นไปจัดอาหารถวายเป็นประจำ   เราได้จารึกพระคุณของแกไว้ในใจไม่รู้หายเลยจนกระทั่งบัดนี้         ผู้ใหญ่บ้านคนนี้ท่านอาจารย์มั่นทักว่าเป็นคนฉลาดแคล่วคล่องทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นด้านคำพูดปฏิภาณโต้ตอบและการงานตลอดถึงการสังคม ทันกับเหตุการณ์แลสมัยทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับฝ่ายพระแล้วยกให้แกเลย ไม่ว่าจะต้องการอะไร ไม่ถึงกับพูดตรง ๆ ดอก พอปรารภเท่านั้นแกจัดการให้เรียบร้อยเลย พวกเราได้สัปปายะครบทั้งสี่แล้วก็เริ่มประกอบความเพียรอย่างสุดเหวี่ยง ยิ่งทำความเพียรก็ยิ่งระลึกถึงคุณของผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านเป็นกำลัง   อาหารพริกแห้งผงกับข้าวเหนียววันละหนึ่งก้อนเท่าผลมะตูม  เราอยู่ได้พอทำความเพียรไม่ตาย  เมื่อเราลดอาหารแต่มาเพิ่มความเพียร  กายเราเบา สติเราดี สมาธิเราก็ไม่ยาก เราปรารภความเพียรมาก สติของเราก็ดีขึ้นแลมั่นคงดี  เราหัดสติอยู่  ณ  ที่นั้นเอาให้สม่ำเสมอตลอดทั้งกลางวันกลางคืน  มิให้เผลอส่งออกไปตามอารมณ์ภายนอกได้  ให้ตั้งมั่นอยู่ที่กายที่ใจแห่งเดียว แม้ก่อนนอนหลับตั้งไว้อย่างไรตื่นขึ้นมาก็ให้อยู่อย่างนั้น จะมีเผลออยู่บ้างก็ตอนฉันอาหาร เมื่อปรารภความเพียรมากเท่าไร การระลึกถึงคุณของชาวบ้านก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นเงาตามมา เรารู้ตัวดีว่าเราเป็นพระ ชีวิตของเราฝากไว้กับชาวบ้าน ฉะนั้นเราจะปรารภความเพียรเพื่อใช้หนี้บุญคุณของชาวบ้าน  แล้วเราก็แน่ใจตนเองว่า  เรามาทำความเพียรครั้งนี้ เราได้ทำหน้าที่ของลูกหนี้อย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว  จวนเข้าพรรษาจึงได้ไปจำพรรษาร่วมกับท่านอาจารย์สิงห์  ที่บ้านป่าหนองลาด   ในพรรษานี้เราเป็นพระใหม่ไม่ต้องรับภาระอะไรนอกจากจะประกอบอาจริยวัตร  แล้วก็ปรารภความเพียรเท่านั้น ท่านอาจารย์เองก็อนุญาตให้พวกเราเป็นพิเศษ เราได้ประกอบความเพียรตามแนวนโยบายที่เราได้กระทำมาแต่บนภูเขาตลอดพรรษา  แล้วยังได้ประกอบแบบโยคะเพื่อทดลองเพิ่มเติมอีกด้วย  กล่าวคือฉันอาหารผ่อน  ตั้งแต่ ๗๐ คำข้าวเหนียวลงมาจนถึง ๓ คำ แล้วเขยิบขึ้นไปถึง ๓๐ คำแล้วก็ผ่อนลงมาถึง ๕ คำ ไปๆ  มาๆ อย่างนี้เป็นระยะๆ  ๓ - ๔ วัน  ทำอย่างนี้อยู่ตลอดพรรษา แต่ระยะที่ยาวนานกว่าเขาหน่อยคือ ๑๕ คำ แล้วก็ฉันแต่อาหารมังสวิรัติด้วย  ร่างกายของเราผอมอยู่แล้วก็ยิ่งซูบซีดลงไปอีก  จนเป็นที่แปลกตาของชาวบ้าน ใครๆ เห็นก็ถามว่าเป็นอะไรไปหรือ แต่เราก็มีกำลังใจประกอบข้อวัตรและทำความเพียรได้เป็นปกติ พอออกพรรษาเราจึงเริ่มฉันอาหารเนื้อปลา   แต่แหม! มันคาวนี่กระไร  มนุษย์คนเรานี้กินเนื้อเขา  เอามาเป็นเนื้อของเรา  เหมือนกับไปฉกขโมยของสกปรกเขามากินอย่างนั้นแหละ   เทพยาดาทั้งหลายจึงเข้าใกล้มนุษย์ไม่ได้   มันเหม็นสาบ แต่มนุษย์ทั้งหลายก็ยังกอดชมซากศพกันอยู่ได้
                       ออกพรรษาแล้ว เราสองรูปกับท่านอาจารย์สิงห์ได้ขึ้นไปอีกคราวนี้อยู่ ๙ คืน ท่านอาจารย์สิงห์อาพาธได้ให้ไปตามพรรคพวกขึ้นมา  เมื่อเห็นว่าที่นั้นมันไม่สะดวกแก่การพยาบาลกัน จึงได้อพยพกันลงมาพักรักษาตัวอยู่ ณ ป่าหนองบัว ( บัดนี้เป็นบ้านแล้ว ) พอดีท่านอาจารย์มั่นสั่งให้เราเดินทางไปพบท่านที่อำเภอท่าบ่อ  เราจึงได้ลาท่านอาจารย์สิงห์ไปตามคำสั่งของท่าน พอดีมาพบท่านอาจารย์มั่นกับพระอาจารย์เสาร์ซึ่งได้รับนิมนต์จากวัดโพธิสมรณ์ อุดรฯ ขณะนั้นคุณยายน้อย ( มารดาพระยาราชนุกูล ) มาในงานผูกพัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์  คุณยายน้อยได้พบและฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่นครั้งนี้เป็นครั้งแรก  เกิดความเลื่อมใสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  เราได้อยู่ร่วมท่านอาจารย์มั่นเป็นเวลาหลายวันแล้วเดินทางกลับท่าบ่อพร้อมท่าน
      
                    

                    

                    

                    

              
                     หลวงปู่เสาร์

                                     พรรษา ๓ จำพรรษาบ้านนาช้างน้ำ ( พ.ศ. ๒๔๖๘ )
 
                    พรรษานี้เราได้จำพรรษาที่บ้านนาช้างน้ำ ซึ่งไม่ไกลจากท่าบ่อที่เราท่านอาจารย์มั่นอยู่  กับพระอาจารย์อุ่นได้หมั่นมาฟังท่านเทศน์เสมอ      พรรษานี้เราก็ไม่มีภาระอะไรนอกจากจะปรารภความเพียรเฉพาะส่วนตัวเท่านั้น ภาระอื่น ๆ มีการรับแขก เป็นต้น  เราได้มอบท่านอาจารย์อุ่นทั้งหมด  เพราะท่านเคยเป็นอาจารย์เขามาแล้ว ท่านเคยบวชมหานิกายมาได้ ๙ พรรษา เพิ่งมาญัตติฝ่ายคณะธรรมยุตนี่เอง
                    ในพรรษานี้มีสิ่งที่น่าสลดใจสังเวชอยู่เรื่องหนึ่ง คือ พระอาจารย์ทา  ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่แล้วก็ดูเหมือนจะเป็นลูกศิษย์คนแรกของท่านอาจารย์มั่นเสียด้วย      ถ้าจำไม่ผิดพรรษาราว ๑๖ - ๑๗ พรรษานี่แหละ   เดิมท่านไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ   แต่ไม่สำเร็จ     พอท่านได้ทราบกิตติศัพท์ของท่านอาจารย์มั่น   ซึ่งเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ( จันทร์ สิริจันโท )   สรรเสริญจึงได้ออกติดตามท่านมา  ในพรรษานั้นท่านได้ไปจำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง  จังหวัดเลย กับอาจารย์ขันธ์  ท่านเกิดสัญญาวิปลาสหนีมาหาท่านอาจารย์มั่นกลางพรรษา  บอกว่า  ท่านเองต้องอาบัติถึงที่สุดแล้วร้อนไปหมดทั้งตัว  เห็นผ้าเหลืองเป็นฟืนเป็นไฟไปหมด เมื่อซักไซ้ไล่เลียงไปในสิ่งที่ว่าผิดนั้นก็ไม่มีมูลความจริงสักอย่าง เป็นแต่ตัวเองสงสัยสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ  แล้วก็เดือดร้อนเองเท่านั้น  สิ่งหนึ่งซึ่งท่านเดือดร้อนมากก็คือ เมื่อท่านไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านโพนสว่าง สมาธิมีกำลัง ทำให้สว่างไสวมาก  จะคิดค้นพิจารณาธรรมหมวดใดก็ดูเหมือนหมดจดไปหมดแล้วลงสู่ที่ใจแห่งเดียว   แล้วตัดสินใจตนเองว่า   เราถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์แล้ว   จนปฏิญาณตนในท่ามกลางสงฆ์เอาเสียเลย  ต่อมาอาการนั้นเสื่อมไปเลยสงสัยตนว่า  เราอวดอุตริมนุสสธรรม  เป็นอาบัติถึงที่สุดแล้ว ถึงแม้จะมีผู้อธิบายให้ฟังว่า  เราพูดด้วยความสำคัญผิด  พระวินัยมิได้ปรับโทษดอก  ท่านก็ไม่เชื่อ  ความจริงความวิปฏิสารเดือดร้อนอันนี้ท่านมีหลายปีแล้ว  แต่ก็พออดทนอยู่มาได้ พอมาถึงพรรษานี้จึงเหลือทน มีแต่จะสึกอย่างเดียว  ท่านอาจารย์มั่นก็แก้ไม่ไหวจึงทิ้งไป  ให้อยู่ด้วยท่านอาจารย์เสาร์ ปีต่อมาท่านอาจารย์เสาร์ก็เอาไม่อยู่  ผลที่สุดสึกจนได้ สึกแล้วก็หายเข้ากลีบเมฆกลีบฟ้าไปไหนก็ไม่รู้ไม่มีใครทราบจนบัดนี้
                     เราได้เห็นเข้าแล้วทำให้ใจหดหู่เกิดสลดสังเวชในใจว่า แม้ท่านเป็นผู้ใหญ่ปฏิบัติมานานถึงขนาดนี้ ยังเกิดวิปลาสไปได้ ตัวของเราเล่าจะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากความวิปลาสนี้ไปได้ คิดแล้วก็นึกหวาดเกรงตนเอง   แล้วได้นำเอาความวิตกนั้นไปกราบเรียนท่านอาจารย์มั่น  ท่านบอกว่า   นั่นซี ต้องระวังตนเองและอย่าห่างไกลท่านผู้รู้ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นรีบไปปรึกษาหารือกับท่าน ออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์มั่นพร้อมด้วยคณะได้ออกเดินทางลงไปทางสกลนคร

                      

                       เจ้าคุณพระอุบาลีฯ ( จันทร์ สิริจันโท )
                                        
                      

                                                    กลับไปสงเคราะห์โยมแม่ อา พี่ชาย

                      ตัวเราคิดถึงโยมแม่ จึงได้กลับไปบ้านเพื่อสงเคราะห์ก็สมประสงค์ คือ ได้แนะนำ ให้ท่านนุ่งขาว รักษาศีล ๘ ครั้งนี้โยมป้า อาวผ์ ูช้ ายแลพี่ชายก็เกิดศรัทธา ได้พากันนุ่งขาว รักษาศีล ๘ ด้วย โดยเฉพาะพี่ชายซึ่งได้มีครอบครัวแล้ว มีบุตรคนหนึ่งอายุไม่กี่เดือนก็ได้ออกบวชด้วย เพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้สมาคมกับหมู่เพื่อนและอบรมกับครูบาอาจารย์หลายองค์ด้วย จึงให้ออกจากบ้านเดินทางตามครูบาอาจารย์ไป ส่วนเรากับพี่ชายและอาวผ์ ู้ชายได้ตามไปทีหลัง ได้ตามไปทันกันที่บ้านปลาโหล อำ เภอพรรณานิคม  ซึ่งท่านอาจารย์สิงห์จำ พรรษาอยู่ ณ ที่นั้น  แล้วท่านได้พาพวกเราไปตั้งสำ นักที่บ้านอากาศอำนวย อยู่ไม่นานท่านอาจารย์มั่นได้ตามไปถึง แล้วท่านให้เราตามท่านไปตั้งสำนักที่บ้านสามผงการอยู่    ใ่กล้ผู้ใหญ่ดีมาก มีสติระวังตัวอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งสามเณรผู้ที่ปฏิบัติท่านไม่อยู่ เราจึงได้ไปนอนที่ระเบียงกุฎิของท่านอาจารย์แทนสามเณร ปกติท่านอาจารย์มักตื่นนอนทำ ความเพียรเวลาตี ๓ ทุกคืน เวลาท่านตื่นหยิบไม้ขีดไฟก๊อกแก๊ก เราต้องลุกก่อนท่านทุกทีเพื่อเข้าไปถวายการปฏิบัติท่าน เราไปนอนอยู่หลายคืนจนท่านแปลกใจถามเราว่า ท่านเทสก์ไม่นอนหรือ เราตอบท่านว่า นอนอยู่ครับ ในที่นั้นโรคของเราไม่ถูกกับอากาศ ฉันได้แต่ไม่มีกำลังปวดเมื่อยระบมไปหมดทั้งตัวตลอดเวลา แต่ความเพียรของเราไม่ท้อถอย ฉันแล้วเข้าป่าหาที่วิเวกทำ ความสงบอยู่คนเดียวตลอด กลางวันกลางคืนเดินจงกรม แล้วขึ้นฟังเทศน์ตั้งแต่ ๒ ทุ่ม จนถึง ๔ ทุ่ม ถ้าวันไหนมีพระมากท่านก็เทศน์จนถึง ๖ทุ่ม หรือตี ๒ จึงเลิก ท่านอุตส่าห์เทศน์อบรมอยู่อย่างนี้เป็นนิจ บรรดาลูกศิษย์ก็มีกำ ลังใจกล้าหาญทำ ความเพียรอยู่เช่นเดียวกัน หลังจากท่านอาจารย์มั่นไปแล้ว ท่านอาจารย์เสาร์ไปอยู่แทน ๓ พรรษาได้ข่าวว่าพระไปมรณภาพที่นั่นหลายองค์ พระอาจารย์ภูมี ก็ไปตายคืน ณ ที่นั้นเหมือนกัน
 
                                    พรรษา ๔ จำพรรษาที่ป่าช้าทิศเหนือของอำเภออากาศอำนวย ( พ.ศ. ๒๔๖๙ )
 
                      จวนเข้าพรรษา  เราได้ย้อนกลับมาจำพรรษาที่ป่าช้าทิศเหนือของอำเภออากาศอำนวย  ท่านอาจารย์สิงห์จำพรรษาทางทิศใต้ของอำเภออากาศอำนวย  ในพรรษานี้ผู้ที่จำพรรษาด้วยกันมี พี่ชาย อาผู้ชาย โยมแม่ โยมป้า และแม่ชีบ้านโพนสว่างอีกคนหนึ่ง  พระคงมีแต่เราคนเดียวกับสามเณรชื่น บ้านท่าบ่อ  พอจวนเข้าพรรษาโยมอามาเสียคนหนึ่ง คงยังเหลือเพียง ๖ คนด้วยกัน ในพรรษานี้ชาวบ้านเกิดฝีดาษผู้คนแตกหนีไปอยู่ตามป่าตามทุ่งนาเกือบหมด แม้พระตามวัดในบ้านก็ตามโยมไปด้วยแทบจะไม่มีคนตักบาตรให้ฉัน เพราะคนในเมืองอากาศนี้เขาไม่เคยเป็นฝีดาษกัน  บ้านมีพันกว่าหลังคาเรือน คนเป็นฝีดาษ ๕ คนเท่านั้น  ใครเกิดเป็นฝีดาษแล้วจะต้องปกปิดไม่ให้ใครรู้กว่าคนอื่นจะรู้มันลุกลามไปมากแล้ว และเมื่อเกิดฝีดาษแล้วจะต้องเอาไปไว้ในป่า ปลูกกระต๊อบให้อยู่คนเดียว เพียงเอาอาหารไปส่งให้กิน ดีหนักหนาที่ท่านอาจารย์สิงห์ท่านรู้จักยาสมุนไพรอยู่บ้าง ท่านจึงบอกไม่ให้เอาไปทิ้งไว้ในป่า ท่านหายามารักษากัน จึงมีตายเพียงไม่กี่คนเท่านั้น พอทางการรู้เข้าจึงมาฉีดวัคซีนป้องกันให้
                     เดชะบุญเขายังนับถือพระกัมมัฏฐานอยู่  ถึงแม้ไม่มีคนนอนเฝ้าบ้านเลยสักคนเดียว  ขนาดนั้นแล้วตอนตี ๔ - ๕  ยังอุตส่าห์ด้อม ๆ  มาหุงข้าวไว้สำหรับตักบาตร  พวกเราไปบิณฑบาตเขาจะออกมาตักบาตร  แล้วรีบกลับเข้าป่าไป   ขอขอบบุญขอบคุณชาวเมืองอากาศไว้ ณ ที่นี้  เป็นพิเศษ  บุญกุศลครั้งนี้เป็นของสูงเหนือชีวิตจิตใจ  เป็นที่พึ่งของมนุษย์ผู้ได้รับทุกข์ทั้งที่มีชีวิตอยู่และละโลกนี้ไปแล้วได้อย่างแท้จริง  คนเราเมื่อได้รับทุกข์หากไม่พึ่งบุญแล้วจะไปพึ่งอะไรเล่า
                     คนเมืองอากาศกลัวฝีดาษยิ่งกว่ากลัวเสือ   คนบ้านใกล้เรือนเคียงกันทั้งเป็นญาติกันด้วยก็ไม่พูดกัน   เราถามเขาว่า  เมื่อไรจะพูดด้วยกัน  เขาบอกว่า  โน่นละ  ออกพรรษาแล้วเดือนสามจึงจะพูดกัน
                    ในพรรษานี้เราได้ไปฟังเทศน์ท่านอาจารย์สิงห์บ่อย ๆ     การไปจะต้องเดินผ่านเมืองอากาศนี้ไปไกลเป็นระยะทางเกือบ  ๓  กิโล  ( ในบ้านไม่มีคน  แม้แต่สุนัขตัวเดียวก็ไม่เห็น )  ถูกท่านอาจารย์สิงห์เทศน์กระเทือนใจเราอย่างหนัก จะเป็นเพราะท่านแกล้งเพื่อให้กระเทือนใจเรา หรือท่านไม่รู้นิสัยของเราตามความเป็นจริงก็เหลือที่จะเดาถูก  ท่านว่า  นิสัยของเราเป็นคนกระด้าง  หัวดื้อไม่ค่อยจะลงคน  ขณะที่ท่านเทศน์อยู่นั้น เราได้กำหนดจิตตรวจดูภายในใจของเรา  เราเองก็เคารพนับถือท่านอย่างสุดซึ้งคอยรับโอวาทของท่านอยู่เสมอ ทำไมท่านจึงว่าอย่างนั้น  แต่ที่ท่านว่าไม่ค่อยจะลงคนนั้นเป็นความจริง  เราเป็นคนเช่นนั้นแต่ไหนแต่ไรมา สิ่งใดถ้าไม่สมเหตุสมผลแล้วไม่ค่อยเชื่อง่าย ๆ  เหมือนกัน แม้ความเห็นของตนเองหากไม่เทียบดูโน่นดูนี่แล้ว  ถ้าไม่มีหลักฐานยืนยันแล้ว  หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมเชื่อเอาเสียดื้อ ๆ  อย่างนั้นแหละ ( เรื่องนี้จะได้นำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังข้างหน้า )  ในขณะที่นั่งฟังเทศน์ท่านอยู่นั้นพร้อมทั้งตรวจใจของตนไป  มันยิ่งทำให้เกิดมานะกล้าขึ้นเหมือนกับเอาน้ำมันมารดดับไฟอย่างนั้นแหละ  ขากลับมาเดินตัวปลิว  จิตมันกำหนดเอาเรื่องนั้นมาเป็นอารมณ์ไม่หาย คืนวันนั้นเรายิ่งปรารภความเพียรเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณด้วยคิดว่า
                     เราได้ปรารภความเพียรมาถึงขนาดนี้แล้ว  กิเลสซึ่งมีอยู่ในใจของเราแท้ ๆ  ทำไมเราจึงรู้ไม่ได้ แต่คนอื่นกลับมาล่วงรู้ของเราได้น่าขายขี้หน้า  ท่านก็เป็นคนเกิดจากบิดามารดา  เติบโตมาด้วยน้ำนมข้าวป้อนเหมือน ๆ  กับเรา  ท่านยังสามารถรู้เรื่องกิเลสของเราได้  เราจะยอมตายกับการทำความเพียรของเรานี้แหละ       เมื่อปรารภความเพียรอยู่นั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น  เป็นแต่พิจารณาไปว่า ท่านเห็นอย่างนั้น ท่านก็เทศน์ไปอย่างนั้นตามสิทธิของท่าน เมื่อของเราไม่เป็นอย่างท่านว่าเราก็ปรารภชำระตนเอง ใครจะไปรู้ยิ่งไปกว่าเราแล้วไม่มี  ใจก็สงบเย็นไปเฉย ๆ  เมื่อทำความเพียรมากเข้าธาตุก็ไม่ค่อยปกติ จึงได้เอนกายลงพักผ่อน  แต่นอนไม่ค่อยจะหลับ   พอเคลิ้มก็ได้เรื่อง  ที่ชาวบ้านเรียกว่า  ผีอำ  เรื่องผีอำไม่ต้องอธิบาย ใคร ๆ ก็รู้กันดีอยู่แล้วว่ามันมีอาการอย่างไร     แต่ข้อสำคัญมันเป็นผีอำจริงหรือไม่     คืนวันนั้นเราได้ทดสอบหาข้อเท็จจริงหลายอย่าง   เบื้องต้นมันเป็นตัวคล้าย ๆ   กับตัวอะไรใหญ่โตดำทะมึนเข้ามานั่งทับอกเรา   แล้วหายใจไม่ออก พยายามดิ้นกว่าจะรู้สึกตัวหายใจได้แทบใจขาดทีเดียว  เขาว่าผีสัตว์ที่เราฆ่ามันอยู่ที่หัวโป้มือ  เอามือทับหน้าอกมันจึงอำเอา ทีนี้เอามือออกจากหน้าอกแล้วมาวางเหยียดแนบลำตัว มันก็ตามมาอำอีก  เอ นี่อะไรกัน  เป็นเพราะเรานอนหงายกระมัง ลองนอนตะแคงดูมันก็ยังมาอำอีก เวลามันอำทำเอาจนหายใจจะขาดให้ได้ จึงได้มากำหนดดูว่าอาการของคนจะตายมันเป็นอย่างไร ครั้งแรกเรามีสติตามรู้ตัวจิตอยู่ว่าเวลาใจจะขาดนั้นเป็นอย่างไร สติตามรู้จิตจนวาระสุดท้าย  ยังเหลือสติตามรู้จิตอยู่  นิดเดียวในความรู้สึกนั้นว่า   ถ้าเราปล่อยสติที่ยังตามรู้จิตนิดเดียวนี่แหละเมื่อไร  นั้นแหละคือความตาย  บัดนี้เราจะปล่อยให้มันตายหรือไม่ปล่อยดี   เวลานี้จิตของเราก็บริสุทธิ์ดีอยู่แล้ว  หากจะปล่อยให้มันตายก็ไม่เสียที มันยังมีความรู้สึกนิด ๆ  หนึ่งว่า  ถ้าเราไม่ปล่อยให้มันตาย มีชีวิตอยู่ ก็ยังสามารถทำประโยชน์ให้แก่คนอื่นได้อีกต่อไป   ถ้าตายเสียเวลานี้ก็จะได้แต่ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น   แล้วคนที่อยู่ภายหลังก็จะไม่รู้ต้นสายปลายเหตุแห่งความตายนี้อีกด้วย   ถ้าอย่างนั้นก็อย่าให้มันตายเลย  แล้วพยายามกระดุกกระดิกมือเท้าให้มันเคลื่อนไหวจนรู้สึกตัวขึ้นมา  ตอนที่สองไม่เห็นตัวดอก แต่มันเป็นก้อนดำทะมึน ๆ เข้ามา ทีนี้เราทราบแน่แล้วว่าไม่ใช่ผี มันเป็นเรื่องของลมตีขึ้นข้างบนต่างหาก เราพยายามเคลื่อนไหวมือเท้าแล้วก็หายไป  ตอนที่สามไม่ถึงขนาดนั้น  เป็นแต่ซึม ๆ เคลิ้ม ๆ   แล้วเราพยายามลุกขึ้นเสีย ผู้อ่านทั้งหลายพึงสังเกตตัวเมื่อรู้สึกตัวขึ้นมา  จะมีอาการมึนศรีษะและซึมเซ่อ  ถ้าไม่พยายามรับประทานยาแก้ลมแล้วนอนไปอีกก็จะเป็นเช่นนั้นอีก   เฉพาะตัวข้าพเจ้าแล้วแก้ได้เฉพาะดมพิมเสนอย่างเดียว
                                
                                
683  ห้องพระ / พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ / Re: พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ) เมื่อ: 28 ธันวาคม 2553, 07:07:21
                                                                        
                                            
                                                 อัตตโนประวัติ/หลวงปู่เล่าว่า

                    เดิมชื่อ   เทสก์ สกุล  เรี่ยวแรง เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๔๕ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ปีขาล   ณ บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  บิดาชื่อ  อุส่าห์  มารดาชื่อ  ครั่ง  อาชีพทำนา  ทั้งสองเป็นกำพร้าพ่อด้วยกันซึ่งได้อพยพมาคนละถิ่น  คือบิดาอพยพมา จากอำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย  มารดาอพยพมาจากเมืองฝาง  ( บัดนี้เป็นตำบล  ) ขึ้นอำเภอลับแล  จังหวัดอุตรดิตถ์  แล้วได้มาแต่งงานกัน  ณ   ที่บ้านนาสีดา ตั้งหลักฐานทำมาหากินจนกระทั่งบัดนี้   มีบุตรธิดา ร่วมกัน ๑๐ คน คือ
                   นายคำดี เรี่ยวแรง ( ถึงแก่กรรม )
                   นางอาน ปราบพล ( ถึงแก่กรรม )
                   ด.ช. แกน เรี่ยวแรง ( ถึงแก่กรรมแต่เยาว์ )
                   ด.ญ. ใคร เรี่ยวแรง ( ถึงแก่กรรมแต่เยาว์ )
                   นางแนน เชียงทอง ( ถึงแก่กรรม )
                   นายเปลี่ยน เรี่ยวแรง ( ถึงแก่กรรม )
                   นางนวล กล้าแข็ง ( ถึงแก่กรรม )
                   พระเกต ขันติโก ( เรี่ยวแรง ) ( มรณภาพ )
                    พระราชนิโรธรังสี ( เทสก์ เทสรังสี )
                   นางธูป ดีมั่น ( ถึงแก่กรรม )

                   เมื่ออายุได้ ๙ ขวบได้เข้าวัดไปเรียนหนังสือไทย แลหนังสือพื้นเมือง ( หนังสือธรรมแลขอม ) กับเพื่อนๆ พระเณรเป็น อันมาก  ที่วัดบ้านนาสีดานี่เอง  โดยพี่ชายคนหัวปีซึ่งยังบวชเป็นพระอยู่เป็นสอนและสอนตามแบบเรียน  ประถม  ก  กา   มูลบท บรรพกิจเราเรียนอยู่สามปีแต่ไม่เก่ง เพราะเราชอบเล่นมากกว่าเรียน   สมัยนั้นโรงเรียนประชาบาลยังขยายไปไม่ทั่วถึง พี่ชายเรา คนนี้แกบวช    แล้วชอบเที่ยวหาประสบการณ์ต่างๆ และจำแม่นเสียด้วย   เมื่อแกไปได้หนังสือไทยมาจึงนำมาสอนพวกเรามี พระเณรแลเด็กมาเรียนด้วยเป็นอันมาก    จนบางคนมาเห็นเข้าถามว่าเป็นโรงเรียนหรือ   พวกเรามิใช่เรียนแต่เฉพาะหนังสือไทยเท่านั้น สวดมนต์ หนังสือธรรม ขอม  พวกเราก็เรียนควบคู่กันไปด้วย เราเรียนอยู่สามปี  จึงได้ออกจากวัดไปเพราะพี่ชายเราลาสิกขา   เพื่อนๆ  นักเรียนของเราโดย มากก็ออกจากวัดไปด้วย เพราะไม่มีใครสอนหนังสือต่อ

                   ถึงแม้เราจะออกจากวัดไปแล้วก็ตาม  ชีวิตของเราคลุกคลีอยู่กับพระเณรในวัดโดยส่วนมาก  เนื่องจากเมื่อพี่ชายของเราสึกออกไปแล้ว   พระที่เป็นสมภารอยู่ที่วัดไม่มี   มีพระอาคันตุกะมาอยู่เป็นครั้งคราว   เราเองต้องเป็นสื่อกลางระหว่างพระกับชาวบ้าน รับใช้เป็นประจำเช้าไปประเคนสำรับ  เย็นตักน้ำกรองน้ำ   เก็บดอกไม้ถวายท่านบูชาพระ พระมามากน้อย อาหารพอไม่พอ เราต้องวิ่งบอกชาวบ้าน เราปฏิบัติอยู่อย่างนี้มาเป็นอาจิณวัตรตลอด ๖ ปี บิดามารดาของเราก็สนับสนุนเราอย่างเต็มที่ ที่เราปฏิบัติพระท่านยิ่งเพิ่มความรักใคร่ให้แก่เรามากขึ้น เมื่อถึงเวลาเห็นเราช้าอยู่  ท่านจะต้องเตือนเสมอ มิใช่แต่บิดามารดาของเราเท่านั้นที่เห็นเราปฏิบัติพระได้เป็นอย่างดี แม้ชาวบ้านก็ดูเหมือนรักแลเอ็นดูเราเป็นพิเศษ จะเห็นได้ใจเมื่อมีกิจอะไรเกี่ยวกับพระกับวัดแล้ว จะต้องตามเรียกหาเราเสมอ  ตอนนี้เรารู้สึกสนใจเรื่องบาปบุญขึ้นมาก  สงสัยแลขัดข้องอะไรมักไถ่ถามบิดาเสมอ  บิดาก็มักจะสนใจเรามากขึ้น ตอนกลางคืนเวลาว่าง  ท่านมักจะสอนให้รู้คติโลกคติธรรมเสมอ เรายังจำคำสอนของท่านไม่ลืม  ท่านสอนว่า  เกิดเป็น ลูกคนชายอย่าได้ตายร่วมเร่ว ( เร่ว คือป่าช้า )  หมายความว่า เกิดเป็นลูกผู้ชายต้องพยายามขวนขวายหาความรู้  วิชานอกบ้านเดิมของตน ถึงแม้จะตายก็อย่าได้มาตายบ้านเกิด  คติของท่านนี้ถูกใจเรานัก   เพราะเรามีนิสัยชอบอย่างนั้นอยู่แล้ว    เมื่อเราถามท่านว่า  ผู้บวชกับผู้ไม่บวชทำบุญ  ใครจะได้บุญมากกว่ากัน  ท่านตอบว่า ผู้บวชทำบุญเท่านิ้วโป้มือ ได้บุญเท่าสองกำปั้น   แล้วท่านกำมือชูให้ดูผู้ไม่บวชทำบุญเท่าสองกำปั้น  ได้บุญเท่าหัวโป้มือ    เราได้ฟังเท่านั้นก็เต็มใจ  ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบคำอธิบายของท่าน  เพราะนิสัยของเราชอบสมณเพศอยู่แล้ว  เรายังจำได้อยู่  เมื่อเราเข้าไปอยู่วัดใหม่ๆ  ไปที่วัดแห่งหนึ่งกับพี่ชาย เห็นสามเณรรูปหนึ่ง  ผู้มีมารยาทดีเข้าแล้ว มันนึกให้เลื่อมใสเจือด้วยความรักมากในสามเณรรูปนั้นเป็นพิเศษ ไม่ว่าแกจะเดินเหินไปมาทำธุรกิจใดๆ อยู่ก็ตาม   สายตาของเราจะต้องจับจ้องส่ายไปตามแกทุกขณะยิ่งเพ่งก็ยิ่งน่ารักเลื่อมใสขึ้นเป็นลำดับเวลากลับมาแล้วภาพอันนั้นก็ยังติดตาเราอยู่เลย  ในใจนึกอยู่อย่างเดียวว่า เมื่อไหร่หนอเราจึงจะได้บวชๆ  อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา

                                                                  พบพระอาจารย์สิงห์
                    เมื่อ   พ.ศ. ๒๔๕๙   พระอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโม     กับ  พระอาจารย์คำ      ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ  ได้เดินรุกขมูลไปถึงบ้านนาสีดาเป็นองค์แรก  ทั้ง ๆ ที่พระในวัดนั้นก็มีอยู่  แต่ท่านไปขอพักอยู่ด้วย คล้าย ๆ กับว่าท่านมุ่งจะไปโปรดเราพร้อมด้วยบิดาเราก็ได้  เมื่อท่านทั้งสองไปถึง  เรากับบิดาของเราก็ได้ปฏิบัติท่านด้วยความเคารพและเลื่อมใสเป็นอย่างดียิ่ง   เพราะเห็นปฏิปทาของท่านผิดแผกจากพระกัมมัฏฐานคณะอื่น ( เมื่อก่อนบิดาของเราเคยปฏิบัติอาจารย์สีทัด ) โดยเฉพาะท่านสอนเราในข้อวัตรต่าง ๆ เช่น  สอนให้รู้จักของที่ควรประเคนและไม่ควรประเคน  ท่าน สอนภาวนา  บริกรรมพุทโธ เป็นอารมณ์ จิตของเรารวมได้เป็นสมาธิ   จนไม่อยากพูดกับคนเลย   เราได้รับรสชาติแห่งความสงบในกัมมัฏฐานภาวนาเริ่มแรกจากโน่นมาไม่ลืมเลย     เมื่อไปเรียนหนังสือเป็นสามเณรอยู่กับหมู่มาก ๆ     เวลากลางคืนอากาศเย็น  สงบดี   เราทำกัมมัฏฐานของเราอยู่คนเดียวหามีใครรู้ไม่
                    ท่านมาพักอยู่ด้วยเราราว ๒ เดือนเศษ  ทีแรกท่านตั้งใจจะอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น  แต่เนื่องด้วยท่านมีเชื้อไข้ป่าอยู่แล้ว พอมาถึงที่นั้นเข้า ไข้ป่าของท่านยิ่งกำเริบขึ้น พอจวนเข้าพรรษาท่านจึงได้ออกไปจำพรรษา ณ ที่วัดร้างบ้านนาบง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ เราก็ได้ตามท่านไปด้วยในพรรษานั้น ท่านเป็นไข้ตลอดพรรษา ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในเวลาว่างท่านยังได้เมตตาสอนหนังสือและอบรมเราบ้างเป็นครั้งคราว จวนออกพรรษาท่านจะมีความรู้สึกภายในของท่านขึ้นอย่างไรก็ไม่ทราบ  ท่านบอกว่า  ออกพรรษาแล้วจะต้องกลับบ้านเดิม  แล้วท่านถามเราว่า เธอจะไปด้วยไหม      ทางไกลและลำบากมากนะ    เราตอบท่านทันทีว่า    ผมไปด้วยนะครับ      ยังอีกไม่กี่วันจะออกพรรษา    เราขออนุญาตท่านกลับบ้านไปลาบิดามารดา   ท่านทั้งสองมีความดีใจมากที่เราจะไปด้วยอาจารย์ รีบเตรียมดอกไม้ธูปเทียนให้เราเพื่อขอขมาบิดามารดา  ( ธรรมเนียมอันนี้ท่านสอนเราดีนัก  เราหนีจากบ้านไปครั้งก่อน ท่านก็ให้เราทำเช่นนี้เหมือนกัน ) คืนวันนั้นเราขอขมาบิดามารดา แล้วไปขอขมาญาติผู้เฒ่าผู้แก่จนถึงทั่วหมด   เมื่อเราไปหาใครทุกคนพากันร้องไห้เหมือนกับเราจะลาไปตายนั่นแหละ   เราเองก็ใจอ่อนอดน้ำตาร่วงไม่ได้   รุ่งเช้ามารดาและป้าได้ตามมาส่งถึงอาจารย์   พากันนอนค้างคืนหนึ่ง    วันนั้นเป็นวันปวารณาออกพรรษา รุ่งขึ้นฉันจังหันแล้วท่านอาจารย์พาเราออกเดินทางเลย    ตอนนี้ป้าและชาวบ้านที่นั่นพากันมารุมร้องไห้อีก

                    

                    พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
 
                    

                    พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ต่อมาเป็น พระญาณวิศิษย์ฏ์สมิทธิวีราจารย์ (วัดป่าสาละวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

                    

                    หลวงพ่อสีทัต

                                       ออกจากบ้านครั้งที่สอง ตามพระอาจารย์สิงห์ไป

                   อาจเป็นประวัติการณ์ของเด็กคนแรกในจำพวกเด็กวัยเดียวกันในแถบนี้ ที่จากบ้านไปสู่ถิ่นทางไกล ทั้งไร้ญาติขาดมิตรอันเป็นที่อบอุ่นอีกด้วย   แล้วก็ดูจะเป็นเด็กคนแรกอีกด้วยที่ออกเดินรุกขมูลติดตามพระกัมมัฏฐานไปอย่างไม่มีความห่วงใยอาลัยทั้งสิ้น       ออกเดินทางจากท่าบ่อลุยน้ำลุยโคลนบุกป่าฝ่าต้นข้าวตามทุ่งนาไปโดยลำดับ เวลาท่านจับไข้ก็ขึ้นนอนบนขนำนาหรือตามร่มไม้ที่ไม่มีน้ำชื้นแฉะ รุ่งเช้าท่านยังอุตส่าห์ออกไปบิณฑบาตมาเลี้ยงเราเลย   เดินทางสามคืนจึงถึงอุดรแล้วพักอยู่วัดมัชฌิมาวาสสิบคืน   จึงได้ออกเดินทางต่อไปทางจังหวัดขอนแก่น ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร การเดินทางครั้งนี้เราสองคนกับอาจารย์ใช้เวลาเดือนเศษ จึงถึงบ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ อันเป็นบ้านโยมแม่ของท่าน ท่านพักอบรมโยมแม่ของท่าน ณ ที่นั้นราวสามเดือน

                                                 บรรพชาเป็นสามเณรแล้วเรียนต่อ

                    ณ ที่นั้น  ท่านให้เราไปบรรพชาที่พระอุปัชฌาย์ลุย  บ้านเค็งใหญ่  เมื่ออายุย่างเข้า ๑๘ ปี   ตอนนี้เราอ่านหนังสือคล่องขึ้นบ้าง เราได้อ่านหนังสือ  ไตรโลกวิตถาร ตอนโลกเสื่อมจนเกิดสัตถันตรกัปป์   ทำให้สลดใจมาก น้ำตาไหลพรากอยู่เป็นเวลาหลายวัน   เวลาฉันอาหารก็ไม่ค่อยจะรู้สึกรสชาติ   ใจมันให้มัวมีแต่คิดถึงความเสื่อมวิบัติของมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย คล้ายๆ จะมีภาพให้เห็นปรากฏในวันสองวันข้างหน้าอย่างนั้นแหละ  แล้วท่านก็พาเราเข้าไปพักอยู่ วัดสุทัศนาราม     ในเมืองอุบลซึ่งเคยเป็นที่พักอยู่เดิมของท่าน      แล้วเราก็ได้เข้าเรียนหนังสือไทยต่อที่  โรงเรียนวัดศรีทอง     ออกพรรษาแล้วท่านปล่อยให้เราอยู่  ณ  ที่นั้นเอง    ส่วนตัวท่านได้ออกเที่ยวรุกขมูลกลับมาทางจังหวัดสกลนครอีก     เพราะในขณะนั้นคณะของท่านอาจารย์มั่นยังเที่ยวอยู่แถวนั้น  คืนก่อนที่จะไปท่านได้ประชุมพระเณร   บอกถึงการที่ท่านจะจากไป  ขณะนั้นเรารู้สึกอาวรณ์ท่านมากถึงกับสะอื้นในที่ประชุมหมู่มาก ๆ นั้นเอง   เรารู้ตัวละอายเพื่อนรีบหนีออกมาข้างนอก   แล้วมาตั้งสติใหม่    มาระลึกได้ถึงเรื่องพระอานนท์ร้องไห้เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขาร  จิตจึงค่อยคลายความโศกลงบ้าง   แล้วจึงได้เข้าไปในที่ประชุมใหม่ ท่านได้ให้โอวาทด้วยประการต่าง ๆ เรารู้ตัวดีว่าเราอายุมากแล้วเรียนจะไม่ทันเขา ขณะที่เรียนหนังสือไทยอยู่นั้น  เราได้แบ่งเวลาท่องสวดมนต์  ท่องหลักสูตรนักธรรม  เรียนนักธรรมตรีไปด้วย แต่ก็ไม่ได้สอบ   เพราะเจ้าคณะมณฑลท่านมีกำหนดว่า  ผู้อายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี  ไม่ให้สอบนักธรรมตรี   ปีที่ ๓   จึงได้สอบนักธรรมตรี      และก็สอบได้ในปีนั้น     แล้วเราท่องบาลีต่อพร้อมกันนี้ก็ท่องปาฏิโมกข์ไปด้วย      เพราะเราชอบปาฏิโมกข์มาก  เราเรียนหนังสือไทยจบแค่ประถมบริบูรณ์ ( เพราะโรงเรียนรัฐบาลมีแค่ประถม ๓ เท่านั้น )  เมื่อเราออกจากโรงเรียนภาษาไทยแล้ว เราก็ตั้งหน้าเรียนบาลี  แต่ในปีการศึกษานั้นบังเอิญพระมหาปิ่น  ปัญญาพโล น้องชายของท่านอาจารย์สิงห์    กลับมาจากกรุงเทพฯ    มาเปิดสอนนักธรรมโทเป็นปฐมฤกษ์ในมณฑลหัวเมืองภาคอีสาน  เราจึงได้สมัครเข้าเรียนด้วย  แต่ทั้งบาลีและนักธรรมโทเราเรียนไม่จบ   เพราะในศกนั้นอาจารย์สิงห์ท่านได้กลับไปจำพรรษา  ณ  ที่วัดสุทัศนารามอีก    ออกพรรษาแล้วท่านได้พาเราพร้อมด้วยมหาปิ่นออกเที่ยวรุกขมูลก่อนสอบไ


                  

                   วัดสุทัศนาราม

                                               สามเณรได้เป็นเศรษฐีของรัฐบาล

                    นั่นคือ  สามเณรเทสก์    กล่าวคือสมัยนั้นรัฐบาลคิดจะสร้างให้มีเศรษฐีขึ้นในเมืองไทยปีละหนึ่งคน    จึงได้ออกล็อตเตอรี่ปีละครั้ง  ตั้งรางวัลที่หนึ่งให้เจ็ดแสนบาท  พอแก่ฐานะของเศรษฐีเมืองไทยพอดี   เพื่อจะได้ไม่อับอายขายหน้าแก่นานาประเทศเขาบ้าง บังเอิญคืนวันหนึ่งสามเณรเทสก์แกนอนไม่หลับ เพราะแกไปถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งเข้า     แล้วแกก็ลงมือจัดแจงหาที่สร้างอาคารหลังใหญ่โตมโหฬารเป็นบ้านตึกสามชั้น   ตกแต่งด้วยเครื่องเฟอร์นิเจอร์อย่างดีทันสมัย ณ ท่ามกลางย่านการค้า   ให้ลูกน้องขนสรรพสินค้ามาใส่เต็มไปหมด   ตัวแกมีความสุขกายสบายจิต  ไม่คิดอะไรอีกแล้ว  นอนเก้าอี้ยาวทำตาปริบๆ มองดูบรรดาสาวๆ สวยๆ  ที่พากันเร่เข้ามาหาซื้อสินค้าต่าง ๆ ตามชอบใจ  คนไหนชำเลืองตามาดูแกแล้วยิ้ม ๆ  แกก็จะยิ้มตอบอย่างมีความสุข ในชีวิตของแกแต่เกิดมาได้  ๑๘ - ๑๙  ปีนี้แล้วไม่มีความสุขครั้งไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่าความสุขครั้งนี้เลย     แกได้ตำแหน่งเศรษฐีตามความประสงค์ของรัฐบาลแล้วในพริบตาเดียว ทั้ง ๆ ที่อะไร ๆ ของแกก็ยังไม่มีเสียด้วย แต่อนิจจาเอ๋ยความเป็นเศรษฐีของแกมาพลันเสื่อมสูญไปจากจิตใจของแกอย่างน่า เสียดาย เพราะแกมาสำนึกรู้สึกตนเอาตอนดึกอันเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนเสียแล้วว่า   เอ๊ะ   นี่อะไรกันล็อตเตอรี่ก็ยังไม่ทันจะออก   แล้วยังไม่ทันจะซื้อเสียอีกด้วย  ทำจึงมาเป็นเศรษฐีกันเสียแล้วนี่   เรานี่ชักจะบ้าเสียแล้วกระมัง   คืนวันนั้นแกเกิดความละอายแก่ใจตนเองอย่างพูดไม่ถูกเสียเลย   นี่หากมีท่านผู้รู้มารู้เรื่องของเราเข้าจะว่าอย่างไรกันนี่   แล้วแกก็นอนหลับพักผ่อนไปจนสว่าง  พอตื่นเช้ามาแกยังมีความรู้สึกละอายแก่ใจตนเองอยู่เลย  โดยที่เรื่องนั้นแกก็มิได้เล่าให้ใครฟัง
                   เศรษฐีอย่างนี้ใครๆ   ก็สามารถจะเป็นได้  มิใช่แต่สามเณรเทสก์คนเดียว  แต่ที่ข้าพเจ้าเรียกแกว่าเป็นเศรษฐีนั้น   เพียงแต่แกมโนภาพสมบัติอันเหลือหลายอย่างเดียว  แต่รู้จักพอ  ยังดีกว่าผู้ที่มีทั้งมโนภาพสมบัติและวัตถุสมบัติ  แต่ไม่มีความพอแล้วเป็นทุกข์เดือดร้อน  มันจะมีประโยชน์อันใดแก่เขาผู้นั้นเล่า ความมีหรือจนอยู่ที่มีความสุขนั้นต่างหาก หาใช่เพราะมีของมากเหลือหลายไม่ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  ความพอใจของตนที่มีอยู่แล้วนั้นแลเป็นทรัพย์อันมีค่ามาก  เราเลื่อมใสในธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว  จึงได้มาบวชแล้วปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์  เห็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ลงไปที่ถุงทรัพย์ให้พระอานนท์ดูว่า  นั่นอานนท์  ของมีพิษมิใช่จะเป็นพิษแต่แก่สมณะผู้เข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้นก็หาไม่  ถึงแม้คฤหัสถ์ก็ทำให้เกิดพิษได้เหมือนกันถ้านำมาใช้ไม่ถูกต้องตามหน้าที่ของ มัน แต่ก็เป็นการจำเป็นที่จะต้องมี  เพราะภาวะความเป็นอยู่ผิดแผกแตกต่างจากสมณะ ยิ่งกว่านั้น หากผู้มีทรัพย์แล้วแต่ใช้ทรัพย์นั้นไม่เป็น ก็ไม่ผิดอะไรกับบุคคลผู้ถือดุ้นฟืนที่มีไฟติดข้างหนึ่ง ไฟจะต้องลามมาไหม้มือจนได้          เราบรรพชาได้  ๕ พรรษา  จึงได้อุปสมบทเป็นพระ นับว่าได้เปรียบเขามากในด้านอยู่วัดนาน  แก่วัด รู้จักเรื่องของวัดได้ดีกว่าพระที่บวชรุ่นเดียวกันแล้ว เราได้เปรียบด้านสวดมนต์และได้พระปาฏิโมกข์เป็นต้น

                                              อุปสมบท ณ วัดสุทัศนาราม
                     เมื่ออายุของเราย่างเข้า  ๒๒  ปี เราได้ อุปสมบทที่พัทธสีมา ณ วัดสุทัศน์  นั่นเอง โดย พระ มหารัฐ รัฏฐปาโล   เป็นพระอุปัชฌาย์  พระมหาปิ่น ปัญญาพโล    เป็นกรรมวาจาจารย์   เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๖๖   ตรงกับ    ค่ำ  เวลา ๑๑.๔๘ น.   ปีนี้ท่านอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโม  พระอาจารย์ของเราได้พาคณะรวม ๖ องค์  คือ  พระ ๔ องค์ สามเณร ๒ องค์  มาจำพรรษาที่วัดสุทัศน์ นับว่าเป็นปฐมฤกษ์ที่พระกัมมัฏฐานจำพรรษาในเมืองอุบลครั้งแรก     เหตุที่ท่านจะกลับมาจำพรรษาที่อุบลก็เนื่องได้ข่าวว่า    พระมหาปิ่น  (น้องชายท่าน) กลับจากกรุงเทพฯมาอยู่  ณ  ที่นั่นท่านตั้งใจจะมาเอาน้องชายของท่านออกเที่ยวรุกขมูลด้วย   เมื่อก่อนที่ท่านมหาปิ่นจะไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯท่านปฏิญาณกับท่าน อาจารย์มั่นไว้ว่า   ผมไปเรียนหนังสือเสียก่อน แล้วจะออกไปปฏิบัติตามหลัง  ท่านอาจารย์สิงห์พอได้ทราบข่าวว่าน้องชายมาแล้วก็ดีใจจึงได้มาจำพรรษา ณ วัดสุทัศนาราม   ออกพรรษาหมดเขตกฐินแล้ว  ท่านอาจารย์สิงห์ได้พาพวกเราเป็นคณะใหญ่ออกเดินธุดงค์  การออกเดินธุดงค์ครั้งนี้ผู้ที่ออกใหม่นอกจากพระมหาปิ่นกับเราแล้ว   ยังมีพระคำพวย  พระทอน   และสามเณรอีก  ๒ รูป   รวมทั้งหมดแล้ว ๑๒ รูปด้วยกัน  ( พระ มหาปิ่นปัญญาพโล ป.ธ.๕  นับว่าเป็นพระมหาองค์แรกในเมืองไทยที่ออกธุดงค์ในยุคนั้น     ในหมู่พระเปรียญโดยมากเขาถือกันว่าการออกธุดงค์เป็นเรื่องขายขี้หน้า    การออกธุดงค์ของเราครั้งนี้ถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์สิงห์เป็นผู้นำแล้ว  เราคงไม่ได้ออกธุดงค์ เมื่อเราหนีมาแล้วท่านพระอุปัชฌาย์ท่านต้องสวดปาฏิโมกข์เอง)


                      

                      พระมหารัฐ รัฏฐปาโล

                      

                      พระมหาปิ่น ปัญญาพโล

                                                  เราพึ่งรู้จักรสชาติของความอาลัยครั้งแรก

                      เราได้ไปอยู่วัดสุทัศน์ อุบล เป็นเวลา ๖ ปีเต็ม โดยที่ปราศจากญาติมิตรและคนสนิทมาก่อน  เมื่ออยู่ต่อมาได้มีคนเอาลูกหลานมาฝากให้เป็นศิษย์อยู่ด้วย รวม ๔ คนด้วยกัน คือ เป็นสามเณร ๒ เป็นเด็ก ๒ เขาเหล่านั้นได้อยู่ด้วยเรามาแต่เมื่อครั้งเรายังเป็นเณรอยู่ จนกระทั่งเราได้อุปสมบทเป็นพระทั้งเราและเขาถือกันอย่างพ่อกับลูก   พอตอนเราจะจากเขาไปเขาพากันร้องไห้อาลัยเรา   เราก็แทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่เหมือนกัน   แต่เราเป็นอาจารย์เราจะร้องไห้ก็ละอายเขา จึงกัดฟันอดกลั้นไม่แสดงความอาลัยออกมา แต่ถึงกระนั้นมันก็ทำให้เสียงเครือไปเหมือนกัน   ตอนนี้ไม่สู้กระไรนัก   พอออกเดินทางไปแล้วนั่นซี มันทำให้เราซึมเซ่อไปเป็นเวลานานทีเดียว จะเดิน ยืน นั่ง นอน แม้แต่พูดและฉันอยู่ก็ตาม ใจมันละห้อยอาลัยคิดถึงเขาว่าเขาจะอยู่อย่างไร กินอะไร อดอิ่มอย่างไร แล้วใครจะมาสั่งสอนเขา หรือจะมีใครมากดขี่ข่มเหงเบียดเบียนเขาอย่างไร ความกลุ้มใจอย่างนี้ยังไม่เคยมีมาเลยในชีวิตของเราครั้งนี้เป็นครั้งแรก
                      เรา จึงได้ทบทวนคิดค้นไปมาว่า   เขาเหล่านั้นก็มิใช่ลูกหลานว่านเครือของเรา   เป็นแต่เขามาอยู่อาศัยเราเท่านั้น   อนึ่งเราก็ได้อบรมเขาและคุ้มครองเขาเป็นอย่างดีที่สุดแล้ว   เท่าที่เราสามารถจะทำได้ ทำไมจึงอาลัยอาวรณ์ถึงเขาหนักหนา มาตอนนี้มันให้ระลึกถึงผู้ที่มีบุตรมีภรรยาว่า โอ้โฮ หากเป็นบุตรที่เกิดโดยสายเลือดของเราแล้ว ความอาลัยมันจะหนักขนาดไหน เราเห็นโทษในความอาลัยในครั้งนี้ มันซาบซึ้งเข้าไปตรึงหัวใจของเราไม่มีวันหายเลย มนุษย์เรานี้ไม่มีผิดอะไรกับลูกลิง   ซึ่งปราศจากแม่แล้วอยู่ตามลำพังตัวเดียวไม่ได้   มันทำให้เรากลัวความอาลัยจนแทบพูดไม่ถูกเอาเสียเลย ความอาลัยเป็นทุกข์ทั้งที่มีอยู่และพลัดพรากจากกันไป ทำอย่างไรคนเราจึงจะทำให้เป็นอิสระในตัวของตนเองได้เล่า

                                                ออกจากอุบลเป็นคณะเที่ยวรุกขมูล

                      คณะของเราพระ ๘ สามเณร ๔ รวมเป็น ๑๒ รูป  โดยพระอาจารย์สิงห์เป็นหัวหน้า   ได้เดินทางออกจากเมืองอุบลในระหว่างเดือน ๑๒ ได้พักแรมมาโดยลำดับ จนถึงบ้านหัวตะพาน หยุดพักที่นั่นนานพอควร แล้วย้ายไปพักที่บ้านหัวงัว เตรียมเครื่องบริขารพร้อมแล้ว จึงได้ออกเดินรุกขมูลต่อไป
                     การออกเดินรุกขมูลครั้งนี้   ถึงแม้จะไม่ได้วิเวกเท่าที่ควร   เพราะเดินด้วยกันเป็นคณะใหญ่ แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูลพอน่าดูเหมือนกัน กล่าวคือ  คืนวันหนึ่งพอจัดที่พักแขวนกลดกางกลดตกมุ้งไหว้พระสวดมนต์เรียบร้อยแล้ว  ฝนตกเทลงมาพร้อมด้วยลมพายุอย่างแรงนอนไม่ได้  นั่งอยู่น้ำยังท่วมก้นเลย  พากันหอบเครื่องบริขารหนี้เข้าไปอาศัยวัดบ้านเขา  แถมยังหลงทางเข้าบ้านไม่ถูก เดินวกไปเวียนมาใกล้ๆ ริมบ้านนั้นตั้งหลายชั่วโมง  พอดีถึงวัด
                     ณ ที่นั้นมีโยมเข้าไปนอนอยู่ก่อน  คือโยมที่เขาเดินทางมาด้วย ๖ คน  เขามีธุระการค้าของเขา แต่เขาเห็นก้อนเมฆในตอนเย็น  เขาบอกว่าพวกผมไม่นอนละ  จะเข้าไปพักในบ้านพอพวกเราไปถึงเข้า เขาจึงช่วยจัดหาที่นอนตามมีตามได้หมอนเสื่ออะไรก็ไม่มีทั้งนั้น แล้วจึงรีบกลับไปรับอาจารย์กับพวกเพื่อนอีก ๗ - ๘ รูป พอถึงเก็บบริขารเรียบร้อยแล้วก็นอนเฉยๆ ไปอย่างนั้น  เพราะกุฏิก็เปียกไปหมดทั่วทั้งห้อง   เสื่อหมอนก็ไม่มีเพราะเป็นวัดร้าง  แต่เมื่อความเหนื่อยเพลียมาถึงเข้าแล้วก็นอนหลับได้ชั่วครู่หนึ่งทั้ง ๆ ที่นอนเปียก ๆ อยู่นั่นเอง แถมรุ่งเช้าบิณฑบาตก็ไม่ได้อาหาร   ได้กล้วยน้ำว่ากับข้าวสุก  ฉันข้าวกับกล้วยคนละใบ  แล้วก็ออกเดินทางต่อ  ท่านอาจารย์พาพวกเราบุกป่าฝ่าดงมาทางร้อยเอ็ด   กาฬสินธุ์   ผ่านดงลิงมาออกอำเภอสหัสขันธ์   เข้าเขตกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี แต่ไม่ได้เข้าในเมือง  เว้นไปพักอยู่บ้านเชียงพิณตะวันตกของอุดร  เพื่อรอการมาจากกรุงเทพฯ ของเจ้าคณะมณฑล การที่ท่านให้พวกเรามารออยู่ที่อุดรครั้งนี้ ท่านมีจุดประสงค์อยากให้พระมหาปิ่นมาประจำอยู่ที่อุดร เพราะที่อุดรยังไม่มีคณะธรรมยุต แต่ที่ไหนได้ เมื่อเจ้าคณะมณฑลมาจากกรุงเทพฯ ครั้งนี้ พระยาราชนุกูล ( ทีหลังเป็นพระยามุขมนตรี) ได้นิมนต์พระมหาจูมพันธุโล ( ภายหลังเป็นพระธรรมเจดีย์ ) มาพร้อมเพื่อจะให้มาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ที่อุดร ฉะนั้นเมื่อเจ้าคณะมณฑลมาถึงแล้วพวกเราจึงไปกราบนมัสการท่าน ท่านจึงได้เปลี่ยนโปรแกรมใหม่ จะเอาพระมหาปิ่นไปไว้สกลนคร แล้วจะให้เราอยู่ด้วยพระมหาจูม   เพราะทางนี้ก็ไม่มีใครและเธอก็คนทางเดียวกัน อนึ่งเธอก็ได้เรียนมาบ้างแล้วจงอยู่บริหารหมู่คน ช่วยดูแลกิจการคณะสงฆ์ด้วยกัน เราได้ถือโอกาสกราบเรียนท่านว่า กระผมขอออกปฏิบัติเพื่อฉลองพระเดชพระคุณ เพราะผู้ปฏิบัติมีน้อยหายาก   ส่วนพระปริยัติและผู้บริหารมีมากพอจะหาได้ไม่ยากนัก   ท่านก็อนุญาตแล้วแนะให้เราอยู่ช่วยพระมหาปิ่น

                      

                      พระมหาจูม ( จูม พันธุโล/ พระธรรมเจดีย์)

                      

              
                      หลวงปู่เสาร์
  
                      

                      

                       ท่านพระอาจารย์มั่น    

                          
684  ห้องพระ / พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ / พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ) เมื่อ: 28 ธันวาคม 2553, 07:05:50
                                                                 สารบัญ
                                                                                                                                                                            
                อัตตโนประวัติ/หลวงปู่เล่าว่า                                                     หน้า     1
                ท่านพระอาจารย์เทสก์กับวัดเจริญสมณกิจ                                               2
                กิจวัตรและจริยวัตรของพระเดชพระคุณหลวงปู่เทสก์
                เทสโกวาท
                อนุสรณ์หลวงปู่เทสก์
                วัดหินหมากเป้ง
                วัดสาขาวัดหินหมากเป้ง
                ที่ระลึก
                        - พระนาคปรกนาสีดา
                        - พัดยศปี ๒๙ รุ่นแรก
                        - เข็มกลัดพัดยศลงยา ปี ๓๔ รุ่น ๒                                                 3
                        - ล็อกเก็ต และ รูปถ่าย
                        - ของที่ระลึก
                        - พระบูชา
                    
                                                                                                                                                        
685  ชมรมสืบสานตำนานบูรพาจารย์สายสำเร็จลุน / ชมรมสืบสานตำนานบูรพาจารย์ศิษย์สายสำเร็จลุน / Re: หลวงปู่คำสิงห์ สุภัทโธ วัดสิงหารินทราราม หนองคาย เทพเจ้าแห่งบึงโขงหลง เมื่อ: 27 ธันวาคม 2553, 17:23:03
      รูปหล่อรุ่นแรก กระหลั่ยทอง
686  ห้องพระ / พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ / Re: หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม (พระญาณสิทธาจารย์) วัดสามัคคีอุปถัมภ์ หนองคาย เมื่อ: 27 ธันวาคม 2553, 14:22:06
  รูปหล่อรุ่นแรก
687  ห้องพระ / พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ / Re: หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม (พระญาณสิทธาจารย์) วัดสามัคคีอุปถัมภ์ หนองคาย เมื่อ: 27 ธันวาคม 2553, 14:20:01
  ล็อกเก็ตยุคแรก หายาก
688  ห้องพระ / พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ / Re: หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม (พระญาณสิทธาจารย์) วัดสามัคคีอุปถัมภ์ หนองคาย เมื่อ: 27 ธันวาคม 2553, 14:17:52
 ล็อกเก็ตรุ่นแรก
689  ชมรมสืบสานตำนานบูรพาจารย์สายสำเร็จลุน / ชมรมสืบสานตำนานบูรพาจารย์ศิษย์สายสำเร็จลุน / Re: หลวงปู่คำสิงห์ สุภัทโธ วัดสิงหารินทราราม หนองคาย เทพเจ้าแห่งบึงโขงหลง เมื่อ: 27 ธันวาคม 2553, 13:58:08
    รูปหล่อรุ่นแรก
690  ชมรมสืบสานตำนานบูรพาจารย์สายสำเร็จลุน / ชมรมสืบสานตำนานบูรพาจารย์ศิษย์สายสำเร็จลุน / Re: หลวงปู่คำสิงห์ สุภัทโธ วัดสิงหารินทราราม หนองคาย เทพเจ้าแห่งบึงโขงหลง เมื่อ: 24 ธันวาคม 2553, 13:56:55
ล็อกเก็ตรุ่นแรก (ครึ่งองค์) ฉากทอง หลังแผ่นเงิน
หน้า: 1 ... 44 45 [46] 47
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.19 | SMF © 2006-2009, Simple Machines Valid XHTML 1.0! Valid CSS!