หัวข้อ: ***ตำนานพระปริตร*** เริ่มหัวข้อโดย: คนโก้ ที่ 05 กันยายน 2554, 17:27:20 ประวัติพระปริตร
พระปริตร แปลว่าเครื่องคุ้มครอง คือป้องกันอันตรายภายนอก มีโจร ยักษ์ สัตว์เดรัจฉาน และป้องกันอันตรายภายใน มีโรคภัยไข้เจ็บเป็นต้น อานิสงส์ที่ได้รับจากการสวดพระปริตรนี้ บังเกิดขึ้นจากอานุภาพของพระรัตนตรัย และเป็นผลของการเจริญเมตตาภาวนา เพราะพระปริตรกล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัย และการเจริญเมตตาเป็นหลัก ดังนั้นผู้หมั่นสาธยายพระปริตรจึงได้รับผลานิสงส์ต่างๆ เช่น ประสบความสวัสดี ความเจริญรุ่งเรือง ได้รับชัยชนะ แคล้วคลาดจากอุปสรรคอันตราย มีสุขภาพอนามัยดี และมีอายุยืน ดังพระพุทธดำรัสว่า ?เธอจงเจริญพุทธานุสสติภาวนาที่ยอดเยี่ยมในภาวนาธรรม เพราะผู้เจริญภาวนานี้จะสมหวังดังมโนรถ? ?อมนุษย์ที่ต้องการจะทำร้ายผู้เจริญเมตตา ย่อมประสบภัยภิบัติเอง เหมือนคนที่ใช้มือจับหอกคม ย่อมได้รับอันตรายจากการจับหอกนั้น? ตำนานพระปริตรธรรม เมตตปริตร คือปริตรที่กล่าวถึงการเจริญเมตตา มีประวัติว่า สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตะวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุ ๕๐๐ รูป เรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์ แล้วเดินทางไปแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม พวกท่านได้ไปถึงไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ปรึกษากันว่าสถานที่นี้เหมาะสมแก่การเจริญสมณธรรม จึงตกลงใจจำพรรษาในที่นั้น ชาวบ้านก็มีจิตศรัทธา สร้างกุฏิถวายให้พำนักรูปละหนึ่งหลัง และอุปัฏฐากด้วยปัจจัยสี่มิให้ขาดแคลน เมื่อฝนตกท่านจะเจริญกรรมฐานในกุฏิ ครั้นฝนไม่ตกก็จะมาปฏิบัติที่โคนไม้ รุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ไม่อาจอยู่ในวิมานได้ เพราะผู้ทรงศีลมาอยู่ใต้วิมานของตน จึงต้องพากันมาอยู่บนพื้น เบื้องแรกคิดว่า พวกภิกษุคงจะอยู่ชั่วคราว ก็ทนรอดูอยู่ชั่วคราว แต่เมื่อรู้ว่ามาจำพรรษาตลอดไตรมาส เกิดความไม่พอใจ คิดจะขับไล่ให้กลับไปในระหว่างพรรษา ฉะนั้นจึงพยายามหลอกหลอนด้วยวิธีต่างๆ เช่น สำแดงรูปร่างที่น่ากลัว ร้องเสียงโหยหวน ทำให้ได้รับกลิ่นเหม็นต่างๆ ฝ่ายภิกษุพากันหวาดหวั่นตกใจต่ออารมณ์ที่น่ากลัวเหล่านั้น ไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก จึงปรึกษากันว่าพวกเราไม่ควรจะอยู่ในสถานที่นี้ แต่ควรจะกลับไปจำพรรษาหลังในสถานที่อื่น และได้เดินทางกลับโดยไม่บอกลาชาวบ้าน เมื่อมาถึงวัดพระเชตะวันได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลเรื่องนี้ แต่พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่าสถานที่เดิมเหมาะสมกับภิกษุเหล่านี้มากกว่าที่อื่น จึงทรงแนะนำให้พวกท่านกลับไปสถานที่นั้น พร้อมกับตรัสสอนเมตตปริตร เพื่อเจริญเมตตาแก่รุกขเทวดา เมื่อพวกภิกษุได้เรียนเมตตาปริตรจากพระพุทธเจ้าแล้ว จึงเดินทางกลับไปยังสถานที่เดิม ก่อนจะเข้าสู่ราวป่าก็ได้เจริญเมตตาภาวนา โดยสาธยายพระปริตรนี้ อานุภาพแห่งเมตตาทำให้รุกขเทวดามีจิตอ่อนโยน มีไมตรี จึงไม่เบียดเบียนเหมือนก่อน ทั้งยังช่วยปรนนิบัติและคุ้มครองภัยอื่นๆอีกด้วย ภิกษุเหล่านั้นได้พากเพียรเจริญเมตตาภาวนา แล้วเจริญวิปัสสนาภาวนาต่อมา โดยใช้เมตตาเป็นบาทแห่งวิปัสสนา ทุกรูปได้อรหัตผลภายในพรรษานั้น ขันธปริตร คือพระปริตรที่กล่าวถึงการเจริญเมตตาแก่พญางูทั้ง ๔ ตระกูล และเจริญเมตตาแก่สรรพสัตว์ มีประวัติว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตะวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด เหล่าภิกษุได้กราบทูลความนี้แด่พระพุทธองค์ พระองค์ตรัสว่าภิกษุนั้นถูกงูกัดเพราะไม่ได้แผ่เมตตาแก่พญางูทั้ง ๔ ตระกูล คือ งูตระกูลวิรูปักษ์ งูตระกูลเอราบถ งูตระกูลฉัพยาบุตร และงูตระกูลกัณหาโคดม ในอรรถกถาชาดกมีประวัติดังนี้ เมื่อภิกษุถูกงูกัด พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราเคยสอนขันธปริตรในขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์อยู่ คือเมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นฤาษีที่ป่าหิมพานต์ ได้พำนักอยู่ร่วมกับฤาษีเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้นมีฤาษีตนหนึ่งถูกงูกัดเสียชีวิต จึงสอนขันธปริตรแก่พวกฤาษีเพื่อป้องกันภัยจากอสรพิษ โมรปริตร คือปริตรของนกยูง เป็นพระปริตรบทหนึ่งที่กล่าวถึงคุณของพระพุทธเจ้า แล้วน้อมพระพุทธคุณมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี มีประวัติว่า สมัยหนึ่งครั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกยูงทอง อาศัยอยู่บนเขาทัณฑกหิรัญบรรพต ในป่าหิมพานต์ พระโพธิสัตว์ได้เพ่งดูพระอาทิตย์ในเวลาพระอาทิตย์อุทัย แล้วร่ายมนต์สาธยายสองคาถาแรกว่า ?อุเทตะยัง? เป็นต้น แล้วจึงออกแสวงหาอาหาร ครั้นกลับจากการแสวงหาอาหารในเวลาพระอาทิตย์อัสดง ก็เพ่งดูพระอาทิตย์พร้อมกับร่ายมนต์สาธยายสองคาถาหลังว่า ?อะเปตะยัง? เป็นต้น นกยูงทองจึงแคล้วคลาดจากอันตรายทุกอย่างด้วยมนต์บทนี้ วันหนึ่งพรานป่าจากหมู่บ้านใกล้เมืองพาราณสีได้พบนกยูงทองโดยบังเอิญ จึงบอกความนั้นแก่บุตรของตน ขณะนั้นพระนางเขมาเทวีมเหสีพระเจ้าพาราณสี ทรงสุบินว่าพระนางเห็นนกยูงทองแสดงธรรมอยู่ จึงกราบทูลพระสวามีว่าทรงประสงค์จะฟังธรรมของนกยูงทอง ท้าวเธอจึงรับสั่งให้พรานป่าสืบหา พรานป่าที่เคยได้ยินคำบอกเล่าของบิดาได้มากราบทูลว่า นกยูงทองมีอยู่จริงที่เขาทัณฑกหิรัญบรรพต ท้าวเธอจึงทรงมอบหมายให้เขาจับนกยูงทองมาถวาย พรานป่าคนนั้นได้เดินทางไปป่าหิมพานต์ แล้ววางบ่วงดักนกยูงทองไว้ทุกแห่งในที่นกยูงหาอาหาร แม้เวลาผ่านไปถึง ๗ ปี เขาก็ยังจับไม่ได้ เพราะนกยูงทองแคล้วคลาดบ้าง บ่วงไม่แล่นบ้าง จนในที่สุดพรานป่าได้เสียชีวิตอยู่ในป่านั้น ฝ่ายพระนางเขมาเทวีก็ประชวรสิ้นพระชนม์ เพราะเสียพระทัยที่ไม่สมพระประสงค์ พระเจ้าพาราณสีจึงทรงพิโรธแล้วได้รับสั่งให้จารึกอักษรลงในแผ่นทองว่า ผู้กินเนื้อนกยูงทองที่เขาทัณฑกหิรัญบรรพต จะไม่แก่ไม่ตาย ต่อมาภายหลังไม่นานพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ พระราชาองค์อื่นที่ทรงครองราชย์สืบต่อมาทรงพบข้อความนั้น จึงทรงส่งพรานป่าไปจับนกยูงทอง แต่ไม่มีใครสามารถจับได้ กาลเวลาได้ล่วงเลยไปจนเปลี่ยนพระราชาถึง ๖ พระองค์ ครั้นถึงสมัยพระราชาองค์ที่ ๗ พระองค์ก็รับสั่งให้พรานป่าไปจับนกยูงทองนั้นอีก พรานคนนี้ฉลาดหลักแหลม สังเกตการณ์อยู่หลายวันก็รู้ว่า นกยูงทองไม่ติดบ่วงเพราะมีมนต์ขลัง ก่อนออกหาอาหารจะทำพิธีร่ายมนต์ จึงไม่มีใครสามารถจับได้ เขาคิดว่าจะต้องจับนกยูงทองก่อนที่จะร่ายมนต์ จึงได้นำนางนกยูงตัวหนึ่งมาเลี้ยงให้เชื่อง แล้วนำไปปล่อยไว้ที่เชิงเขา โดยดักบ่วงอยู่ใกล้ๆ จากนั้นได้ทำสัญญาณให้นางนกยูงรำแพนส่งเสียงร้อง นกยูงทองเมื่อได้ยินเสียงนางนกยูง ก็ลืมสาธยายมนต์คุ้มครองตน เผลอตัวบินไปหานางนกยูงโดยเร็ว จึงติดบ่วงที่ดักไว้ ครั้นแล้วพรานป่าได้นำนกยูงทองพระโพธิสัตว์ไปถวายพระเจ้าพาราณสี เมื่อพระโพธิสัตว์เข้าเฝ้าพระเจ้าพาราณสีแล้ว ได้ทูลถามว่า ?เพราะเหตุใดพระองค์จึงจับหม่อมฉันมา? ท้าวเธอตรัสว่า ?เพราะมีจารึกว่าผู้กินเนื้อนกยูงทองจะไม่แก่ ไม่ตาย? พระโพธิสัตว์ทูลว่า ?ผู้กินเนื้อหม่อมฉันจะไม่ตาย แต่หม่อมฉันจะต้องตายมิใช่หรือ? ท้าวเธอตรัสว่า ?ถูกแล้ว เจ้าต้องตาย? พระโพธิสัตว์ทูลว่า ?เมื่อหม่อมฉันจะต้องตาย แล้วผู้กินเนื้อหม่อมฉันจะไม่ตายได้อย่างไร? ท้าวเธอตรัสว่า ?เพราะเจ้ามีขนสีทองจึงทำให้ผู้กินเนื้อเจ้าไม่ตาย? พระโพธิสัตว์ทูลว่า ? หม่อมฉันมีขนสีทองก็เพราะภพก่อนเคยเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในพระนครพาราณสีนี้ ได้รักษาเบ็ญจศีลเป็นนิตย์ และชักชวนให้ราษฎรรักษา? หลังจากนั้นพระโพธิสัตว์ได้ทูลเรื่องที่พระองค์เคยฝังราชรถที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่สระมงคลโบกขรณี พระเจ้าพาราณสีได้รับสั่งให้ไขน้ำออกจากสระแล้วกู้ราชรถขึ้นมา จึงทรงเชื่อคำพระโพธิสัตว์ หลังจากนั้นพระโพธิสัตว์ได้ถวายโอวาทพระราชาให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แล้วเสด็จกลับไปยังป่าหิมพานต์ตามเดิม อาฏานาฏิยปริตร คือปริตรของท้าวกุเวรผู้ครองนครอาฏานาฏา เพราะเป็นพระปริตรที่ท้าวกุเวรได้นำมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระปริตรนี้กล่าวถึงพระนามพระเจ้า ๗ พระองค์ และทรงคุณพระพุทธเจ้าเหล่านั้น รวมทั้งอ้างอานุภาพพระพุทธเจ้าและเทวานุภาพมาพิทักษ์ให้มีความสวัสดี มีประวัติว่าสมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าในมัชฌิมยามแห่งราตรี ขณะนั้นท้าวกุเวรได้กราบทูลว่า อมนุษย์บางพวกเลื่อมใสพระองค์ บางพวกไม่เลื่อมใส แต่ส่วนใหญ่มักไม่เลื่อมใส เพราะพระองค์ตรัสสอนให้ละเว้นจากอกุศลกรรม มีปาณาติปาตเป็นต้น แต่พวกเขาไม่สามารถละเว้นได้ จึงไม่พอใจคำสอนที่ขัดแย้งกับความประพฤติของตน เมื่อภิกษุไปปฏิบัติธรรมในป่าเปลี่ยว อมนุษย์เหล่านั้นอาจจะรบกวนได้ จึงขอให้พระองค์ทรงรับเอาเครื่องคุ้มครอง คืออาฏานาฏิยปริตรไว้ แล้วประทานแก่พุทธบริษัทเพื่อสาธยายคุ้มครองตน และพื่อให้อมนุษย์เลื่อมใสพระศาสนา หลังจากนั้นท้าวกุเวรได้กราบทูลคาถา เป็นต้นว่า ?วิปัสสิสสะ จะ นะมัตถุ? เมื่อท้าวมหาราชเหล่านั้นเสด็จกลับแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงนำมาตรัสแก่พุทธบริษัทในภายหลัง โพชฌังคปริตร คือปริตรกล่าวถึงโพชฌงค์ซึ่งเป็นองค์แห่งการรู้แจ้ง แล้วอ้างสัจจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครอง ผู้สวดให้มีความสวัสดี มีประวัติว่าสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปะเถระได้อาพาธหนัก ที่ถ้ำปิปผลิคูหา พระพุทธเจ้าได้เสด็จเยี่ยมและแสดงโพชฌงค์เจ็ด เมื่อพระเถระสดับโพชฌงค์เหล่านี้ได้เกิดความปีติว่า โพชฌงค์เจ็ดเคยปรากฏแก่เราในขณะรู้แจ้งสัจธรรมหลังออกบวชแล้ว ๗ วัน คำสอนของพระพุทธองค์เป็นทางพ้นทุกข์โดยแท้ ครั้นดำริเช่นนั้นพระเถระได้เกิดปีติอิ่มเอิบใจทำให้เลือดในกายและรูปธรรมอื่นผ่องใส โรคของพระเถระจึงอันตรธานไปเหมือนหยาดน้ำกลิ้งลงจากใบบัว นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังตรัสโพชฌงค์เจ็ดแก่พระมหาโมคคัลลานเถระ ผู้อาพาธที่ภูเขาคิชฌกูฏอีกด้วย ครั้นพระเถระสดับโพชฌงค์นี้แล้วก็หายจากอาพาธนั้นทันที อนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันนั้นได้ประชวรหนัก จึงรับสั่งให้พระจุนทเถระสาธยายโพชฌงค์เจ็ด ครั้นสดับแล้วพระองค์ทรงหายจากพระประชวรนั้น โพชฌงค์เจ็ดมีดังต่อไปนี้ คือ ๑. สติสัมโพฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือสติ ๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือการรู้เห็นธรรม ๓. วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความเพียร ๔. ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความอิ่มใจ ๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความสงบ ๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความตั้งมั่น ๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความวางเฉย รัตนปริตร คือปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัย แล้วอ้างคุณนั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี มีประวัติเล่าว่า ในสมัยหนึ่งเมื่อเวสาลีเกิดฝนแล้ง ขาดแคลนอาหาร มีคนอดอยากล้มตายมากมาย ซากศพถูกโยนทิ้งนอกเมือง พวกอมนุษย์ได้กลิ่นศพก็พากันเข้ามาในเมือง ทำอันตรายคนให้ตายมากขึ้น และยังเกิดอหิวาตกโรคระบาดอีกด้วย ทำให้เมืองเวสาลีประสบภัย ๓ อย่าง ได้แก่ ทุพภิกขภัย คือข้าวยากหมากแพง อมนุสสภัย คืออมนุษย์ และโรคภัย คือโรคระบาด ในขณะนั้นชาวเมืองดำริว่า เมืองนี้ไม่เคยเกิดภัยพิบัติเช่นนี้ถึง ๗ รัชสมัย จึงกราบทูลเจ้าผู้ครองนครว่า ภัยนี้อาจเกิดจากการที่พระองค์มิได้ทรงธรรม เจ้าผู้ครองนครจึงรับสั่งให้ชาวเมืองประชุมกันพิจารณาหาความผิดของพระองค์ แต่ชาวเมืองมิอาจหาพบได้ ทั้งหมดจึงปรึกษากันว่า ควรนิมนต์ศาสดาองค์หนึ่งมาดับทุกข์ภัยนี้ บางคนกล่าวว่าควรนิมนต์เดียรถีย์ บางคนกล่าวว่าควรนิมนต์พระพุทธเจ้า ในที่สุดทุกฝ่ายจึงมีความเห็นตรงกันว่าควรนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จมาโปรด ดังนั้นจึงได้ส่งเจ้าลิจฉวีสองพระองค์มาทูลนิมนต์ เพื่อระงับภัยพิบัตินั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงเมืองเวสาลี พระอินทร์พร้อมด้วยเทพบริวารเป็นอันมากได้มาเฝ้าในสถานที่นั้น ทำให้พวกอมนุษย์ต้องหลบหนีออกจากเมือง หลังจากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสสอนพระปริตรนี้แก่พระอานนท์ และรับสั่งให้ท่านสาธยายรอบเมืองที่มีกำแพงสามชั้นตลอดสามยาม พวกอมนุษย์ที่ยังเหลืออยู่ได้หลบหนีไปหมด เพราะกลัวอานุภาพพระปริตร ครั้นอมนุษย์หนีไปและโรคระบาดสงบลงแล้ว ชาวเมืองได้มาประชุมกันที่ศาลากลางเมือง และได้นิมนต์พระพุทธองค์เสด็จมาแสดงธรรม ในเวลานั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสรัตนปริตรนี้แก่พุทธบริษัทที่มาประชุมกันในที่นั้น อนึ่ง คาถา ๓ บทสุดท้าย คือคาถาที่ ๑๖-๑๘ เป็นคาถาที่พระอินทร์ตรัสขึ้นเอง โดยดำริว่าพระพุทธเจ้าทรงกระทำให้ชาวเมืองประสบสุข โดยอ้างสัจวาจาที่กล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัย เราก็ควรจะกระทำให้ชาวเมืองประสบสุข โดยอ้างคุณของพระรัตนตรัยเช่นเดียวกัน ท้าวเธอจึงตรัสคาถาเหล่านั้น วัฏฏกปริตร คือปริตรของนกคุ้ม เป็นพระปริตรที่กล่าวถึงสัจวาจาของพระพุทธเจ้าที่เคยกระทำเมื่อเสวยพระชาติเป็นนกคุ้ม แล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้พ้นจากอัคคีภัย พบประวัติในพระสูตร ๒ แห่ง คือชาดกและจริยาปิฎก ในคัมภีร์ชาดก มีเพียงคาถาเดียวคือคาถาที่ ๓ ส่วนในคัมภีร์จริยาปิฎกพบคาถา ๑๑ บท ส่วนพระปริตรที่นิยมสวดอยู่ในปัจจุบันมีคาถาทั้งหมด ๔ บท ทั้งนี้เพราะโบราณาจารย์ได้คัดมาสวดเฉพาะคาถา ๔ บทหลัง โดยไม่มีคาถา ๗ บทแรก เนื่องจากคาถา ๔ บทเหล่านั้นแสดงสัจวาจาของพระโพธิสัตว์ ส่วนเจ็ดคาถาแรกแสดงประวัติความเป็นมา ในคัมภีร์จริยาปิฎกแสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระปริตรนี้แก่พระสารีบุตร เพื่อแสดงบารมีที่พระองค์เคยสั่งสมไว้ในภพก่อน ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาชาดก มีประวัติว่าสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าร่วมกับภิกษุสงฆ์ เสด็จจาริกอยู่ในแค้วนมคธ ทรงพบไฟป่าโดยบังเอิญ เมื่อไฟป่าลุกลามล้อมมาถึงสถานที่ ๑๖ กรีสะ คือพื้นที่หว่านเมล็ดพืชได้ ๗๐๔ ทะนาน ไฟป่านั้นได้ดับลงทันทีเหมือนถูกน้ำดับไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไฟป่านี้มิใช่ดับลงด้วยอานุภาพของตถาคตในภพนี้ แต่ดับลงด้วยอานุภาพของสัจวาจาที่ตถาคตเคยกระทำในชาติที่เกิดเป็นนกคุ้ม สถานที่นี้จะเป็นสถานที่ไม่มีไฟไหม้ตลอดกัป แล้วตรัสพระปริตรนี้แก่ภิกษุเหล่านั้น มังคลปริตร คือปริตรที่กล่าวถึงมงคล ๓๘ มีประวัติว่าในกาลก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสมงคลนี้ได้เกิดปัญหาถกเถียงกันในมนุษยโลกว่า อะไรเป็นมงคล บางคนกล่าวว่ารูปที่เห็นดีเป็นมงคล บางคนกล่าวว่าเสียงที่ได้ยินดีเป็นมงคล บางคนกล่าวว่ากลิ่นรสสัมผัสที่ดีเป็นมงคล ต่างฝ่ายก็ยืนยันความเห็นของตน แต่ไม่สามารถอธิบายให้ฝ่ายอื่นยอมรับได้ ปัญหานี้ได้แพร่ไปถึงเทวโลกและพรหมโลก จนเทวดาและพรหมได้แบ่งแยกเป็น ๓ ฝ่ายเหมือนมนุษย์ และปัญหานั้นหาข้อยุติไม่ได้เป็นเวลาถึง ๑๒ ปี ในปีต่อมาเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงค์ได้ทูลถามปัญหานี้กับพระอินทร์ ท้าวเธอจึงทรงมอบหมายให้เทพบุตรตนหนึ่งทูลถามปัญหานี้กับพระพุทธเจ้า แล้วเสด็จมาเฝ้าพร้อมกับเหล่าเทวดาเพื่อสดับมงคล ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสพระปริตรนี้ตามคำอาราธนาของเทพบุตรนั้น ธชัคคปริตร คือปริตรยอดธง เป็นพระปริตรที่กล่าวถึงเรื่องที่เทวดาชั้นดาวดึงค์แหงนดูยอดธงของพระอินทร์ ในสงครามระหว่างเทวดากับอสูร และแนะนำให้ภิกษุระลึกถึงพระคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ในเวลาเกิดความสะดุ้งกลัว เมื่ออยู่ในป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวว่า พระปริตรนี้สามารถคุ้มครองผู้ที่ตกจากที่สูงได้ และเล่าเรื่องที่เกิดในประเทศศรีลังกาว่า เมื่อพระภิกษุช่วยกันโบกปูนพระเจดีย์ชื่อว่าทีฆวาปี มีพระรูปหนึ่งพลัดตกลงจากพระเจดีย์ พระที่ยืนอยู่ข้างล่างได้รีบบอกว่า ?ท่านจงระลึกถึงธชัคคปริตรเถิด? พระที่พลัดตกได้กล่าวว่า ?ขอธชัคคปริตรจงคุ้มครองข้าพเจ้า? ขณะนั้นอิฐสองก้อนในพระเจดีย์ได้ยื่นออกมารองรับเท้าของท่าน เมื่อพระรูปอื่นพากันเอาบันไดมารับพระรูปนั้นลงไปแล้ว อิฐสองก้อนนั้นได้เคลื่อนกลับไปสถานที่เดิม อังคุลิมาลปริตร คือปริตรของพระองคุลิมาล มีประวัติว่า วันหนึ่งเมื่อพระองคุลิมาลออกบิณฑบาตอยู่ ท่านได้พบหญิงมีครรภ์คนหนึ่ง กำลังเป็นทุกข์เพราะคลอดบุตรไม่ได้ จึงเกิดความสงสาร ได้กลับมาวัดเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลเรื่องนี้ พระพพุทธองค์ได้ตรัสสอนพระปริตรนี้แก่องคุลิมาล ท่านได้กลับไปสาธยายแก่หญิงนั้น เมื่อนางได้ฟังพระปริตรนี้ก็คลอดบุตรได้โดยสะดวก ทั้งมารดาและบุตรได้รับความสวัสดี อนึ่ง ตั่งที่พระองคุลิมาลนั่งสวดพระปริตรนี้ ได้กลายเป็นตั่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าไม่สามารถนำหญิงที่คลอดบุตรยากมานั่งที่ตั่งนี้ได้ ก็ให้นำน้ำล้างตั่งไปรดศรีษะ จะทำให้คลอดบุตรง่ายเปรียบดังน้ำไหลออกจากกระบอกกรองน้ำ แม้กระทั่งสัตว์ที่ตกลูกยาก เมื่อนำมานั่งที่ตั่งนี้ก็จะตกลูกง่าย นอกจากการคลอดบุตรแล้ว ตั่งนี้ยังสามารถรักษาโรคอื่นๆได้อีกด้วย อภยปริตร คือปริตรไม่มีภัย เป็นพระปริตรที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้น โดยอ้างคุณพระรัตนตรัยมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี พระปริตรนี้ปรากฏในบทสวดเจ็ดตำนาน และบทสวดสิบสองตำนานของไทย ได้แพร่หลายไปถึงประเทศสหภาพพม่า และศรีลังกาอีกด้วย อนึ่ง ท่านอาจารย์ธัมมานันทมหาเถระ สันนิษฐานว่าพระปริตรนี้คงรจนาโดยพระเถระชาวเชียงใหม่ ในสมัยรจนาคาถาชินบัญชร ท่านสังเกตจากการอธิษฐานให้เคราะห์ร้ายพินาศไป เพราะชาวเมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้น นิยมบูชาดาวนพเคราะห์ จึงได้มีนักปราชญ์ประพันธ์คาถานี้ เพื่อให้สวดแทนการบูชาดาวนพเคราะห์ คาถานี้ยังพบในคัมภีร์ปริตตฎีกาที่จรนาใน พ.ศ. ๒๑๕๓ อีกด้วย ชัยปริตร คือปริตรที่กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้า แล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี คาถา ๑-๓ แสดงชัยชนะของพระพุทธเจ้า เป็นคาถาที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้นภายหลัง คาถา ๔-๖ เป็นพระพุทธพจน์ ที่นำมาจากอังคุตตรนิกายปุพพัณหสูตร อนึ่ง บทสวดมนต์ของไทยบางฉบับมีคาถาเพิ่มอีก ๒ บทว่า โส อัตถะลัทโธ.... สา อัตถะลัทธา.... ผู้แปลเห็นว่าไม่มีในพระสูตรนั้น แม้ในฉบับพม่าก็ไม่พบคาถาดังกล่าว จึงแปลเฉพาะคาถาที่มีในพระสูตร คัดลอกจาก : หนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ขอขอบคุณ : คุณลุงอาคม มีชัย ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดร้อยเอ็ด ที่กรุณาฝากหนังสือเล่มนี้มาให้ |