วารสารข่าวหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี
เดือนพฤศจิกายน 2544
http://guideubon.com/news/view.php?t=34&s_id=18&d_id=18 ก่อนที่จะกล่าวถึง ประวัติชื่อถนนสายสำคัญของเมืองอุบลฯ เพื่อให้เรื่องราวการตั้งชื่อถนนสายสำคัญ มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงขอกล่าวทำความเข้าใจ เกี่ยวกับชื่อถนนสายยาวดั้งเดิม ที่เริ่มจากเมืองหลวงของประเทศไทย ไปยังพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีอาณาเขตติดกับประเทศไทย รวม 4 ประเทศคือ พม่า, ลาว เขมร และมาเลเซีย ดังนี้
1. ถนนสายสำคัญดั้งเดิมของไทย 1.1 ถนนพหลโยธิน กรมทางหลวงขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผ่านหลายจังหวัด จนถึงเหนือสุดของประเทศไทย ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จรดพรมแดนประเทศพม่า ที่ท่าขี้เหล็ก สร้างเสร็จประมาณ พ.ศ. 2477 ประเทศไทยพึ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลในครั้งนั้น พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า "ถนนประชาธิปัตย์" เพื่อเป็นการประกาศว่า เมืองไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ต่อมา พ.ศ. 2489 มีการตั้งพรรคการเมือง พรรคฝ่ายค้านใช้ชื่อว่า "พรรคประชาธิปัตย์" นายควง อภัยวงค์ เป็นหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.เสนีย์ปราโมช นายเลียง ไชยกาล เป็นรองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธื้ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเปลี่ยนชื่อถนนสายนี้ เป็น "ถนนพหลโยธิน" ตามนามสกุลของ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ผู้ริเริ่มสร้างถนนสายนี้
1.2 ถนนมิตรภาพ กรมทางหลวงขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เริ่มต้นตามทางหลวงหมายเลข 1 จากกรุงเทพถึงสระบุรี แล้วใช้เส้นทางเดิมไปยังจังหวัดนครราชสีมา ผ่านขอนแก่น อุดรธานี ถึงสุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย จรดพรมแดนประเทศลาวที่แม่น้ำโขง ใกล้นครเวียงจันทน์
ถนนสายนี้เดิมไม่ทราบชื่อ ต่อเมื่อทหารอเมริกันสร้างถนนยุทธศาสตร์ จากสระบุรีถึงนครราชสีมา เพื่อให้เครื่องบินลงได้ ประมาณ พ.ศ. 2500 ตั้งชื่อว่า "ถนนมิตรภาพ" เพื่อเชื่อมสัมพันธภาพระหว่างไทย-อเมริกา ต่อมามีการสร้างถนนต่อจากนครราชสีมา ไปยังขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย จึงใช้ชื่อ "ถนนมิตรภาพ" ต่อเนื่องกันไป
1.3 ถนนสุขุมวิท กรมทางหลวงขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 เริ่มจากกรุงเทพฯ ถึงภาคตะวันออก ที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด จรดพรมแดนเขมร ที่เกาะกง ถนนสายนี้ รัฐบาลตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ "พระพิศาลสุขุมวิท" (ประสบ สุขุม) อดีตอธิบดีกรมทาง เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2486 พระพิศาลสุขุมวิท เป็นบุตรคนที่ 3 ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้น และเป็นบิดาของนายประสงค์ สุขุม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
1.4 ถนนเพชรเกษม กรมทางหลวงขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 เริ่มจากกรุงเทพฯ ถึงภาคใต้ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จรดพรมแดนมาเลเซีย ที่ปาดังเบซาร์ ถนนสายนี้ รัฐบาลตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ "หลวงเพชรเกษมโยธิน" อดีตอธิบดีกรมทางผู้สร้างถนนสายนี้