หัวข้อ : "คนอีสาน" ในอดีต ใช้ผ้าซิ่น ห่อคัมภีร์ใบลาน
ข้อความ : ศิลปวัฒนธรรม วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 24 ฉบับที่ 6
เรื่องจากปก
สุริยา สมุทคุปติ์ พัฒนา กิติอาษา
"คนอีสาน" ในอดีต ใช้ผ้าซิ่น ห่อคัมภีร์ใบลาน
ผู้เขียนทั้งสองคนเป็นอาจารย์สังกัดสาขาวิชาศึกษาทั่วไป สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ๓๐๐๐๐ โทรศัพท์ ๐ ๔๔๒๒ ๔๒๕๘ โทรสาร ๐ ๔๔๒๒ ๔๒๐๕ E-mail : suriya@ccs.sut.ac.th;
pattana@ccs.sut.ac.th พวกเราใช้คำว่า "คนอีสาน" หรือ "อีสาน" ในความหมายที่เป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองและวัฒนธรรมสมัยใหม่ (modern geopolitical and cultural construct) ของดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยสมัยใหม่อย่างถาวรในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ในที่นี้ "คนอีสาน" มีความหมายเฉพาะคนที่พูดภาษาลาว มีรากเหง้าวัฒนธรรมและชุมชนทางวัฒนธรรมในจินตนาการดั้งเดิมคล้ายคลึงกับคนลาวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อพยพมาจากดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เช่น ภูไท โซ้/โส่ง ไทดำ ย้อ ฯลฯ คนอีสานเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกเว้นบางจังหวัดในเขตอีสานใต้ เช่น นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ซึ่งมีประชากรในกลุ่มชาติพันธุ์ไท โคราช เขมร ส่วย และกูย/กุย อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
บทความนี้นำเสนอในการเสวนาทางวิชาการ "ผู้ค้ำจุนโลก-ผู้ค้ำจุนธรรม : กรณีผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ในวัฒนธรรมอีสาน" จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ณ ห้อง ๔๐๗ ชั้น ๔ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. นอกจากนี้บทความชุดนี้ยังใช้ประกอบนิทรรศการผ้าซิ่นลาวและอีสาน ซึ่งจัดแสดงที่ห้องไทยศึกษานิทัศน์ อาคารสุรพัฒน์ ๕ และอาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นิทรรศการดังกล่าวแสดงผ้าซิ่นจำนวน ๓๐ ผืน จัดแสดงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ๒๕๔๕ ขอขอบพระคุณทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรที่ให้โอกาสทางวิชาการกับพวกเราทั้งสองคนเรื่อยมา การติดต่อ ประสานงาน และอำนวยความสะดวกของทางศูนย์ โดยเฉพาะการทำงานของนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และขวัญศิริ เจริญทรัพย์ ช่วยให้พวกเรามีโอกาสเผยแพร่ข้อคิดและงานเขียนทางมานุษยวิทยาต่อชุมชนวิชาการและสาธารณชนในวงกว้างอย่างสม่ำเสมอในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ขอขอบพระคุณอาจารย์สมชัย ฟักสุวรรณ์ และเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา ที่อนุเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ให้ยืมคัมภีร์ใบลานจำนวนหนึ่ง และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่พวกเราด้วยความยินดีและเต็มไปด้วยน้ำใจไมตรีเป็นอย่างยิ่ง
ผ้าซิ่น ของผู้หญิงกับคัมภีร์ใบลานของคนอีสานในอดีตเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ทำไมคนอีสานสมัยหนึ่งจึงใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ใบลานอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบรรจุเอาองค์ความรู้ทางศาสนธรรม ตำรายาโบราณ และนิทานชาดกพื้นบ้านที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุ วัสดุทางวัฒนธรรมสองชิ้นมาจากต่างบริบทกันอย่างสิ้นเชิงในโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมของคนอีสาน และคนกลุ่มอื่นที่มีวัฒนธรรมใกล้ชิดกัน เช่น คนลาวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คนเมืองในล้านนา หรือคนสยามในดินแดนภาคกลาง ถูกนำมาอยู่รวมกันอย่างใกล้ชิดได้อย่างไร อะไรคือวิธีคิดหรือตรรกะทางวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังความเชื่อและประเพณีดังกล่าว
ในความเป็นจริงแล้วความเชื่อและประเพณีการใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์น่าจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างมาก เพราะวัสดุชิ้นหนึ่งได้รับการจัดวางไว้ให้เป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์ และได้รับการเก็บรักษาในปริมณฑลทางศาสนาและอำนาจของผู้ชายมาโดยตลอด ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นวัสดุและสิ่งของเครื่องใช้ทางโลกย์ เกิดจากฝีมือ และแรงงานของผู้หญิง และใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มร่างกายท่อนล่างของผู้หญิง
เมื่อพิจารณาจากแนวคิดวิเคราะห์เชิงโครงสร้างนิยม (structuralism) และสัญลักษณ์นิยม (symbolism) ของนักมานุษยวิทยาผู้มีชื่อเสียงในวงวิชาการนานาชาติหลายท่าน เช่น Levi-Strauss (๑๙๖๓, ๑๙๖๙); Douglas (๑๙๖๖); และ Turner (๑๙๖๗) ผ้าซิ่นกับคัมภีร์ใบลานไม่น่าจะไปด้วยกันได้ในทางทฤษฎี
แต่ทำไมคนอีสานในอดีตจึงคิดและทำในสิ่งที่แย้งกับความเชื่อและโลกทัศน์ในวัฒนธรรมของตนเอง ทั้งยังไปกันไม่ค่อยได้กับแนวคิดทฤษฎีทางมานุษยวิทยาบางสายสกุล ความเชื่อและประเพณีดังกล่าวมีตรรกะหรือเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นสำคัญที่พวกเราพยายามจะอธิบายในบทความชิ้นนี้