เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ พระราชาคณะชั้นหิรัญบัตร เจ้าคณะรองอรัญวาสี วัดบรมนิวาศ อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ท่านชื่อ จันทร์ เกิดที่บ้านหนองไหล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรหลวงสุโภ ประการ นางแก้ว นามสกุล ศุภษร
กรมการเมืองอุบลฯ มีพี่น้องหลายคน ชาตะวันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๔ เมื่อเด็กชอบการศึกษาเล่าเรียน
บิดามารดาได้ฝากเป็นศิษย์ของพระอาจารย์ม้าว เทวธัมมี วัดทุ่งศรีทอง (อาจารย์ม้าวเป็นศิษย์ของพระจอมเกล้า ร.๔)
ในขณะที่ทรางผนวชอุปสมบทได้เป็นหัวหน้า คณะธรรมยุตคนแรกของภาคอีสาน ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนจนอายุได้ ๒๑ ปี
ครบบวชจึงได้อุปสมบทที่วัดทุ่งศรีทอง เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๑๐ โดยมีพระอาจารย์ม้าว เทวธัมมี เป็นพระอุปัชฌายะ
ประโชติปาโล (ทา) เป็นกรรมวาจา ได้ฉายาจากพระอุปัชฌายะว่า สิริจันโท บวชแล้วอยู่ปรนนิบัติอุปัชฌายะได้พอสมควร
พระอาจารย์ม้าวเห็นว่าการศึกษาในจังหวัดอุบลฯ ยังไม่สมบูรณ์แบบดีพอ จึงได้ส่งเรียนบาลีที่กรุงเทพฯ ในสำนักวัดพิชัยญาติ
มีพระเมธาธรรมรส (อ่อน) เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาเป็นพระศาสนโสภณ ท่านได้ย้ายสำเรียนหลายแห่ง เช่นวันเทพศิรินทราวาส
วัดกันมายุตาราม จนเข้าสอบเป็นเปรียญได้ ป.๔ จึงกลับไปอุบลฯ ได้ไปจัดการศึกษาบาลีครั้งแรกในอุบล และได้รับแต่งตั้ง
เป็นเจ้าคณะจังหวัดจำปาศักดิ์ มีสมณะศักดิ์เป็น พระครูวิจิตรธรรมภาณี ตำแหน่งสังฆปาโมกข์เมืองนครจำปาศักดิ์
ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้ ๓ ปี เมื่อเขตนครจำปาศักดิ์ต้องเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลทางด้านการเมือง ท่านจึงขอนุญาตกลับ
เข้ากรุงเทพฯ มาอยู่วัดบรมนิวาส เลื่อนเป็นพระภาณุรักขิต เจ้าคณะมณฑลอิสาน ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระราชกวี พระเทพโมลี
ขณะเป็นพระเทพโมลีได้แต่งหนังสือติเตียนการสร้างอาวุธสงคราม สมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๖ ทรงพิโรธให้ถอด
สมณะศักดิ์ขณะหนึ่ง เมื่อทรงพิจารณาเหตุผลท่านเป็นพระแท้พูดจริง กลับตั้งใหม่เป็นพระธรรมธีระราชมหามุนี เทียบชั้นเทพ
และเลื่อนเป็นพระโพธิวงศาจารย์ ชั้นธรรม เลื่อนเป็นพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ชั้นเจ้าคณะรองในที่สุด
ทั้งนี้จะขอกล่าวถึงอุปนิสัยของท่าน ท่านพูดจริงตรงไปตรงมาไม่กลัวใครแม้แต่เป็นเปรียญ ๔ ประโยค แต่ก็เรียนถึง ๙ ประโยค
นอกจากนี้ยังเทศนาแตกฉานมีคนเลื่อมใสเป็นอันมาก มีโวหารเข้าใจง่ายน่าฟังสมกับเป็นนักปราชญ์ ท่านยังชำนาญการก่อสร้าง
และทางวิปัสสนาธุระเชี่ยวชาญเป็นอันมาก ได้แต่งตำราวิปัสสนาธุระเป็นแบบฉบับมีศิษย์เล่าเรียนมีชื่อดัง เช่น
สมเด็จมหาวีรวงศ์ศ์ (อ้วน) วัดบรมนิวาศ ศิษย์เอก พระธรรมเสนานี (เงิน) วัดสัตตนารถ ราชบุรี พระเทพวรคุณ (อ่ำ) วัด
มณีชลขันธ์ ลพบุรี น้องชายพระอาจารย์เสาร์ วัดเลียบ อุบลฯ ครูบาศรีวิชัย วัดสวนดอก เชียงใหม่ และพระครูวินัยธร (มั่น ภูริทัต)
องค์นี้เป็นครูฐานานุกรมของท่านเคยอยู่วัดเจย์ดีหลวงเชียงใหม่ มีคนเลื่อมใสนับถือมาก มีศิษย์สืบวิชาวิปัสสนาธุระมีชื่อดัง
เช่น พระสุทธิธรรมรังษี (ลี) วัดอโศการาม สมุทรปราการ พระธรรมเจย์ดี (จูม) วัดโภธิสมภรณ์ อุดรธานี พระญาณวิสิษฐ์ (สิงห์)
วัดป่าทรงคุณ พระอาจารย์ฝั้น ฯลฯ ท่านเป็นนักเทศน์ นักปฏิบัติ เป็นช่างบูรณะก่อสร้างพร้อม จัดว่าหาได้ยาก รู้กำหนดเวลามรณะ
เคยไปรุกขมูลกลางป่าทึบดงดิบ มีความานะอดทนเป็นยอดเยี่ยม ไม่หลงใหลในลาภยศ เคยทำเหรียญรูปท่านนั่งสมาธิ
ด้านหลังมียันต์ข้าวหลามตัด ๕ ช่อง ลงอักขระขอมว่า นะ มะ อะ อุ มิ เป็นหัวใจศีล คือ มิ ส่วน นะ มะ อะ อุ เป็นหัวใจพระไตรปิฎก
มีชื่อเสียงโด่งดัง คนนิยมราคาก็สูงหายาก แม้พวกแขกอิสลามบ้านครัววัดช่างแสงก็นับถือ แอบแขวนติดตัวคุ้มครองป้องกัน
ได้เป็นอย่างดี เช่น จ.ส.ต. จรูญ (บังแอม) นิยมฮีน มือปราบของสถานีปทุมวัน เจ้าของท้องที่วัดบรมนิวาศ ก็เลื่อมใสใช้ได้ผลมาแล้ว
ทางมหานิยม เมตตาแน่จริงๆ เรื่องความปลอดภัยเป็นที่ไว้ใจได้ทีเดียว และยังทำรุ่น ๒ มีรูปพญานาคหัวขึ้น ท่านนั่งเอียงตัวสมาธิ
ก็ใช้ได้ผลหายากเช่นกัน ส่วนรุ่นนั่งสมาธินาคหัวขึ้นท่าตรงเป็นรุ่นที่แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ลูกศิษย์มีอาจารย์ ภูริทัต
เป็นผู้ปลุกเสก ดังเหมือนกัน เจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านมีการอดทนมาก ดังครั้งหนึ่งไปเทศน์ที่วัดสวนดอกเชียงใหม่ โรคมะเร็งในกระดูก
เข่ากำเริบ กินกระดูกขาดท่านก็ไม่ได้แสดงความเจ็บปวด ขึ้นเทศน์จนจบ ลงจากธรรมมาสน์เป็นปกติ ทำให้ครูบาศรีวิชัยกับพวก
ที่มานั่งฟังเทศน์เลื่อมใสนับถือมาก นับแต่นั้นมาอาการก็กำเริบหนัก จนถึงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้ถามพระที่อยู่
ปรนนิบัติว่านาฬิกากี่โมงแล้วก็หลับตาสนิทหมดลมไปโดยไม่มีอาการกระวนกระวายแต่อย่างใด สมกับที่ได้ฝึกวิปัสนามาอย่าง
เชี่ยวชาญ อายุได้ ๗๗ ปี
คัดมาจากหนังสือ อภินิหารและพระเครื่อง ประวัติเหรียญดัง โดย อาจารย์เภา พ.ศ. ๒๕๑๙โดย tar