หลวงปู่เพ็ง จันทรังสี ?>
ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน
The Buddhist Art Conservation Club Of Esan (North Eastern Part Of Thailand)
23 พฤศจิกายน 2567, 02:34:03 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

กติกาในการ เช่า-แลกเปลี่ยนพระเครื่อง | พระเครื่องเมืองอุบลราชธานี | แจ้งปัญหาการใช้งาน
แจ้งเรื่องการยืนยันตัวตนสำหรับผู้ที่จะให้เช่าพระเครื่องฯ | วิธีสมัครสมาชิกเว็บ

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงปู่เพ็ง จันทรังสี  (อ่าน 16290 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
konlathai
Full Member
***

พลังน้ำใจ : 57
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 77

Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 7 : Exp 9%
HP: 0%



ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: 13 กันยายน 2554, 11:06:47 »

ประวัติพระครูโสภณคุณากร ( หลวงพ่ออ้วน   โสภโณ )
วัดบ้านโนนค้อ   อำเภอกันทรารมย์ (ปัจจุบันเป็นอำเภอโนนคูณ)   จังหวัดศรีสะเกษ
   (พระครูโสภณคุณากร)   พระเกจิชื่อดังจังหวัดศรีสะเกษ   ในยุคกึ่งพุทธกาล ยุคเดียวกับหลวงพ่อมุม  วัดปราสาทเยอร์เหนือ  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ  และหลวงพ่ออ่อน  วัดเพียมาตร   อำเภอราษีไศล  จังหวัดศรีสะเกษ    ท่านทั้งสามเป็นสหมิกธรรมกัน  
   ชาติภูมิ :   ท่านพระครูโสภณคุณากร (หลวงพ่ออ้วน)  เกิดในสกุล  สืบวงศ์   มีนามเดิมว่า  อ้วน   สืบวงศ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่  7   พฤษภาคม   พ.ศ.  2434   ตรงกับแรม  14  ค่ำ  เดือน 5 ปีเถาะ  ณ บ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 1บ้านโนนสังข์  ต.โนนสังข์   อ.กันทรารมย์  จ.ศรีสะเกษ  บิดาชื่อคุณพ่อจูม  สืบวงศ์   มารดาชื่อคุณแม่ทุม   สืบวงศ์    มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน  5  คน  คือ
1.นายสม  สืบวงศ์  ( พ่อของพระปลัดบัวหล้า  คัมภีรปัญโญ )                                                                                    
2.พระครูโสภณคุณากร ( หลวงพ่ออ้วน  โสภโณ )                
3.นายอุ้ย  สืบวงศ์  ( พ่อของจารย์ครูทัด  สืบวงศ์  ลูกศิษย์ของหลวงพ่อ )      
4.แม่นาง   สืบวงศ์ ( แม่ของจารย์ครูคำบุ   ส่งเสริม )               
5.นายหล้า   สืบวงศ์  ( เสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่ได้แต่งงาน )
          บรรพชา : ท่านได้บรรพชาเมื่อวันพฤหัสบดีที่  20  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2450   ตรงกับแรม  14  ค่ำ  เดือน 3  ปีมะแม  ณ  วัดโพนทราย   ต.หนองบัว   อ.กันทรารมย์   จ.ศรีสะเกษ     โดยมีเจ้าอธิการสุวัณณี      กัลยาโณ         เป็นพระอุปัชฌาย์  
   อุปสมบท :  ท่านได้อุปสมบท  เมื่อวันพฤหัสบดีที่  2  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2453  ตรงกับขึ้น  4  ค่ำ  เดือน  3  ปีจอ  เมื่ออายุครบ  20  ปี  เวลา  14.00  น.  ณ  วัดโพนทราย  ต.หนองบัว   อ.กันทรารมย์   จ.ศรีสะเกษ     โดยมีเจ้าอธิการสุวัณณี   กัลยาโณ      เป็นพระอุปัชฌาย์       พระลุน  ธัมมวโร  เป็นพระกรรมวาจรย์     พระโฮม  วรธัมโม   เป็นพระอนุสาวนาจารย์   หลังจากท่านได้อุปสมบทแล้วท่านแสวงหาความรู้ในด้านต่างๆโดยเฉพาะด้านพระธรรมวินัย  และท่านจะไปศึกษาตามสำนักใหญ่ๆที่มีชื่อเสียงและมีครูบาอาจารย์ที่เคร่งครัดในด้านพระธรรมวินัยดังต่อไปนี้
พ.ศ. 2456  ท่านได้ย้ายไปเรียนหนังสือมูลกัจจายน์  คัมภีร์ทั้ง 5  (เป็นหลักสูตรของโบราณอีสาน)  อยู่ที่วัดบ้านยางขี้นก  อ.เขื่องใน   จ.อุบลราชธานี  กับท่านธรรมบาล  ซึ่งท่านธรรมบาลเป็นอาจารย์ใหญ่     สายสำเร็จลุน ที่สำนักนี้เป็นสำนักที่ใหญ่มากและมีพระภิกษุสามเณรไปทุกสารทิศเพื่อศึกษาที่สำนักนี้  
พ.ศ. 2460  ท่านได้ย้ายกลับมาสังกัดวัดโนนสังข์  อ.กันทรารมย์   จ.ศรีสะเกษ

พ.ศ. 2464  ท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดบ้านแสงใหญ่  ต.หนองแวง  อ.กันทรารมย์  จ.ศรีสะเกษ  เพื่อเรียนวาดลวดลายผ้าพระเวสสันดรกับพระอาจารย์โท  เป็นเวลา  1  ปี  เมื่อท่านฝึกการวาดได้อย่างสวยงามจนเป็นที่พอใจของพระอาจารย์โท  ท่านจึงย้ายกลับวัดโนนสังข์
พ.ศ. 2476  ท่านได้ย้ายไปสังกัดวัดบ้านหนองดินดำ  ต.บก  อ.กันทรารมย์  (ปัจจุบัน อ.โนนคูณ) คนเฒ่าคนแก่เคยเล่าขานกันมาว่าตั้งแต่ท่านได้ย้ายมาอยู่วัดนี้  ได้เกิดสิ่งมหัศจรรย์คือใต้ที่นอนของท่านได้เกิดดินประสิวที่เอามาทำบั้งไฟเป็นจำนวนมาก  เพราะท่านชอบการทำบั้งไฟ
พ.ศ. 2483  ท่านได้ย้ายมาสังกัดวัดโนนค้อ  หรือชาวบ้านเรียกกันว่า    วัดโนนค้อใน     ต.โนนค้อ    อ.กันทรารมย์  ( ปัจจุบัน อ.โนนคูณ )  จ.ศรีสะเกษ   ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโนนค้อรูปที่ 7
พ.ศ.  2489   ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลโนนค้อ        
พ.ศ.  2490  ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตตำบลโนนค้อ
พ.ศ.  2491  ท่านได้ไปตั้งวัดหนองสนม ( ปัจจุบันวัดบ้านโคกสะอาด ) ต.หนองกุง  อ.โนนคูณ  จ.ศรีสะเกษ แต่ท่านไม่ได้ย้ายในใบสุทธิ
พ.ศ.  2498  ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดหนองกุง  ต.หนองกุง  อ.โนนคูณ  จ.ศรีสะเกษ  แต่ท่านไม่ได้ย้ายในใบสุทธิ
พ.ศ.  2507  ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดโนนค้อ  อ.กันทรารมย์ ( ปัจจุบัน อ.โนนคูณ ) จนท่านมรณะภาพ
พ.ศ.  2512   วันที่  5  ธันวาคม  2512   ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรและพัดยศ  เจ้าคณะตำบลชั้นตรีในราชทินนามที่  พระครูโสภณคุณากร
วาระแห่งการมรณภาพ:   วันที่  19  ธันวาคม  พ.ศ. 2514  เวลาประมาณ  10.00  น. เศษ  เกิดความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่  หลวงพ่อได้ละสังขารลงด้วยอาการสงบที่กุฏิหลังเก่า  ณ  วัดโนนค้อใน  โดยมีศิษย์ใกล้ชิดเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดดังนี้
1.หลวงพ่อบุญชู  วัดโนนคูณ   ต.โนนคูณ  อ.โนนค้อ  จ.ศรีสะเกษ         
2.หลวงปู่บุญ  วัดโคกสว่าง ( เดิมวัดบ้านเหล่าเขมร ) อ.สำโรง   จ.อุบลราชธานี   
3.หลวงพ่อพรหมา  วัดโนนค้อใน   ต.โนนคูณ  อ.โนนค้อ  จ.ศรีสะเกษ      
4.หลวงพ่อสี   วัดโนนค้อนอก  ต.โนนคูณ  อ.โนนค้อ  จ.ศรีสะเกษ         
5.หลวงปู่เพ็ง  วัดหนองสนม (ปัจจุบันวัดโคกสะอาด)  อ.โนนคูณ  จ.ศรีสะเกษ
การจากไปของหลวงพ่ออ้วนในครั้งนี้  สร้างความเสียใจแก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างมาก  สิริรวมอายุ  80  ปี  พรรษาที่ 60  จากนั้นได้บำเพ็ญกุศลที่วัดโนนค้อใน   และได้รับพระราชทานเพลิงศพ  เมื่อ  พ.ศ. 2516  ณ  วัดโนนค้อใน  (ปัจจุบันวัดทักษิณธรรมนิเวศน์)  จากนั้นศิษยานุศิษย์   ได้สร้างเจดีย์เพื่อบรรจอัฐิของท่านโดยการนำของหลวงปู่เพ็ง  วัดบ้านละทาย  ต.ละทาย  อ.กันทรารมย์  จ.ศรีสะเกษ  และหลวงพ่อพรหมา  สิริจันโท  อดีตเจ้าอาวาสวัดโนนค้อรูปที่ 8  เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ได้กราบไหว้สักการะ                             
พระเครื่องและวัตถุมงคลที่สร้าง
1.เหรียญรุ่นแรก  สร้างปี พ.ศ. 2510  มีสามเนื้อคือ อัลปาก้า  ฝาบาตร  และเนื้อทองแดง  คาดว่าทั้งสามเนื้อรวมกันไม่เกิน  3,000  เหรียญ  
2.เหรียญรุ่นสอง  ในโอกาสฉลองพัดยศ  สร้างปี  พ.ศ. 2512  เท่าที่เห็นมีเฉพาะเนื้ออัลปาก้า      ไม่ทราบจำนวนที่สร้างและไม่ทราบประวัติการสร้างที่ชัดเจน
3.ผ้ายันต์ป้องกันภัย  ผืนผ้าด้ายดิบสีขาว
4.ตะกรุดโทนและตะกรุดอื่นๆ
5.ชานหมากของหลวงพ่ออ้วน  น้อยคนนักที่จะได้มาบูชา  ส่วนใหญ่ท่านจะคายทิ้งเฉพาะน้ำหมากเท่านั้น
6.รูปถ่ายของหลวงพ่ออ้วน ขนาดเล็ก  และวัตถุมงคลอื่นที่ไม่ทราบชัดเจน  ท่านสั่งให้ทำตอนท่านป่วยแล้วท่านปลุกเศกให้
ประสบการณ์ในวัตถุมงคล: พุทธคุณวัตถุมงคลที่ท่านได้ปลุกเศก คือ  เมตตามหานิยม  แคล้วคลาดปลอดภัย   มหาอุตต์  คงกระพันชาตรี  และกันภูตผีปีศาจ  ครบทุกด้านปาฏิหาริย์ในขณะที่หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่:
ชาวบ้านในอำเภอกันทรารมย์ (ปัจจุบัน อ.โนนคูณ)  จังหวัดศรีสะเกษ  ชาวอำเภอสำโรง  จังหวัดอุบลราชธานี  และชาวอำเภอกันทราลักษ์  จังหวัดศรีสะเกษ   ต่างร่ำลือไปต่างๆนานาว่าท่านสามารถย่นระยะทางได้  ล่องหน  กำบังกาย  และหายตัวได้  วัตถุมงคลที่ชาวบ้านได้รับไปต่างแสดงปาฏิหาริย์ปกปักรักษาผู้พกพาติดตัวไปเสมอ  ชาวบ้านเก็บกันเงียบในส่วนของวัตถุมงคลของท่านไม่ยอมปล่อยให้หลุดมือสู่คนภายนอก  ชาวบ้านโนนค้อ  ตั้งมูลค่าเหรียญรุ่นแรกไว้ที่ราคา  7,000 ? 12,000  บาท  แล้วแต่สภาพของเหรียญ  เพราะพุทธคุณเหรียญหลวงพ่ออ้วน  รุ่นแรก  ก็ไม่ต่างจากเหรียญหลวงพ่อมุม  วัดปราสาทเยอร์  รุ่นแรก  เช่นกัน               
      ศิษย์ของหลวงพ่ออ้วน  โสภโณ มีดังนี้:
1.หลวงพ่อสังข์  สุริโย  วัดนากันตม  อ.กันทราลักษ์  จ.ศรีสะเกษ  (ศิษย์ยุคต้น)   
2.หลวงพ่อบุญชู  วัดโนนคูณ   ต.โนนคูณ  อ.โนนค้อ  จ.ศรีสะเกษ         
3.หลวงปู่บุญ  วัดโคกสว่าง ( เดิมวัดบ้านเหล่าเขมร ) อ.สำโรง   จ.อุบลราชธานี   
4.หลวงพ่อพรหมา  วัดโนนค้อใน   ต.โนนคูณ  อ.โนนค้อ  จ.ศรีสะเกษ      
5.หลวงพ่อสี   วัดโนนค้อนอก  ต.โนนคูณ  อ.โนนค้อ  จ.ศรีสะเกษ         
6.หลวงปู่เพ็ง  จันทรังสี วัดหนองสนม (ปัจจุบันวัดโคกสะอาด)  อ.โนนคูณ  จ.ศรีสะเกษ  (ปัจจุบันวัดบ้านละทาย  อำเภอกันทรารมย์  จังหวัดศรีสะเกษ )   
7.หลวงพ่อประสาร  วัดโนนผึ้ง  อ.กันทรารมย์  จ.ศรีสะเกษ            
8.พระอาจารย์อื่นๆที่ไม่ทราบอีกมาก



หลวงปู่พระครูโสภณ จันทรังสี

หลวงปู่เพ็ง  จันทรังสี  ปัจจุบันหลวงปู่ท่าน อายุ  ๘๘ ปี  พรรษา  68  เป็น เจ้าอาวาสวัดบ้านละทาย อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสระเกษ  เป็นศิษย์เอกของหลวงปู่อ้วน โสภโน แห่งวัดบ้านโนนค้อ  อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ    พระเกจิอาจารย์ดังแห่งยุคปี พ.ศ.2500 ของจังหวัดศรีสะเกษ  เป็นศิษย์น้องหลวงปู่สังข์  สุริโย  วัดนากันตรม  และเป็นศิษย์ผู้พี่ หลวงปู่ประสาร อรหปัจจโย วัดโนนผึ้ง  ศิษย์สายสำเร็จลุนหนึ่งเดียวในจังหวัดศรีสะเกษ  สายท่านธรรมบาล  วัดบ้านยางขี้นก  อำเภอเขื่องใน  จังหวัดอุบลราชธานี  หลวงปู่ท่านมีนิสัยสันโดษ เรียบง่าย เป็นกันเอง  ใครแวะเวียนไปกราบท่านจะได้รับความเมตตาจากท่านเท่าเทียมกันทุกคน
      ชาติภูมิ :  นามเดิมว่า นายเพ็ง  พละศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2466 เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของบ้านละทายโดยกำเนิด โดยเป็นบุตรคนที่สองของนายผาง นางคำตา  พละศักดิ์ มีพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน 7 คน ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ นอกจากบิดามารดาได้เสียชีวิตไปแล้ว ฐานะทางครอบครัวของพ่อแม่ในอดีตจัดอยู่ในฐานะปานกลาง อาชีพหลักทำนา ทำสวน ทำไร่ เหมือนชาวชนบทในท้องถิ่นทั่วไป ดังนั้น ในอดีต นายเพ็ง  พละศักดิ์ จึงมีชีวิตอยู่กับท้องทุ่งนา คลุกคลีอยู่กับกลิ่นโคลนสาบควาย เลี้ยงควายตามท้องทุ่ง สู้แดดทนฝน ตรากตรำ ฝ่าความลำบากมาด้วยความอดทน
                 ครั้นพอเติบโตขึ้น เมื่อ พ.ศ.2473 ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านละทาย ( วัดบ้านละทาย ) จนจบชั้นประถมปีที่ 4 อันเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในสมัยนั้นจากการเล็งเห็นการณ์ไกลของผู้เป็น บิดามารดา และฐานะทางครอบครัวพอที่จะส่งเสียให้ลูกได้เรียนต่อสูงขึ้น ดังนั้นนายเพ็ง พละศักดิ์ จึงได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนช่างไม้ศรีสะเกษ เมื่อ พ.ศ. 2482 ในสมัยนั้นสภาพการศึกษาระดับสูงขึ้นจะมีเฉพาะในตัวจังหวัดเท่านั้น เรียนอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่ออำเภอกันทรารมย์ มีโรงเรียนราษฎร์ระดับมัธยม จัดตั้งขึ้น จึงย้อนกลับมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมกันทรารมย์แห่งนี้ในเวลาต่อมา จนจบชั้นมัธยมปีที่ 2
                ครั้งเมื่อ พ.ศ. 2484 ได้เข้ารับราชการเป็นครูประชาบาลตำแหน่งครูโรงเรียนบ้านอาลัย ตำบลจาน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นครั้งแรกในชีวิต อยู่ได้ไม่นานก็ลาออก
                เมื่อ พ.ศ. 2485 เข้ารับราชการเป็นครูครั้งที่ 2 อีกโดยได้บรรจุเป็นครูโรงเรียนบ้านสำอาง อำเภอธาราปริวัติ เมืองนครจำปาศักดิ์ ในชีวิตในถิ่นไกลโพ้น หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ต้องข้ามน้ำข้ามทะเล รอนแรมตั้งหลายวัน กว่าจะถึงนครจำปาศักดิ์ ชีวิตต้องทนอยู่กับความลำบาก โดดเดี่ยว เส้นทางคมนาคมในสมัยนั้นไม่สะดวก จิตใจก็ว้าเหว่คิดถึงบ้าน พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ประกอบกับในชีวิตไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน อยู่ได้ไม่นานนัก เนื่องจากความผันผวนทางด้านการเมืองขณะนั้น ให้อพยพข้าราชการการกลับถิ่นเดิมเมื่อกลับมาถึงถิ่นปิตุภูมิแล้ว
             อุปสมบท :     แทนที่จะกลับเข้ารับการเป็นครูเหมือนเดิม นายเพ็ง พละศักดิ์ กลับเกิดความท้อแท้ ความไม่แน่นอนในทางชีวิตจึงเปลี่ยนแนวทางชีวิตใหม่ ตัดสินใจสู่ชายผ้าเหลืองใต้ร่มเงาผ้ากาสาวพัตร หวังจะเป็นทายาทสืบทอดพระพุทธศาสนา ได้สละเพศบรรพชิตเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในวัยที่ยังหนุ่มแน่น ที่วัดโพธิ์ศรีละทาย อันเป็นบ้านเกิด
                 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2486 เป็นภิกษุเพ็ง จันทรังสี  ตั้งแต่นั้นมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
                 จากการได้สัมผัสชีวิตในความเป็นครูมาก่อน ครั้นมาอุปสมบท ภายใต้ร่มเงาพระพุทธสาสนา ทำให้หลวงปู่มีความสนใจในการศึกษาเล่าเรียนในพระธรรมวินัย จึงมุ่งสู่สำนักพระธรรมวินัยวัดปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานีเป็นสำนักแรก ต่อมาได้ไปศึกษาสำนักพระธรรมวินัยวัดบ้านนาคำใหญ่ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และได้ไปศึกษาคัมภีร์มูลกระจายจากสำนักพระอุปัชฌาย์อ้วน โสภโณ  ที่วัดบ้านโนนค้อ ตำบลโนนค้อ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ จนแตกฉานในหนังสือลาว ไทย  ขอมท้ายสุดสอบได้นักธรรมเอก  จนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านโคกสะอาด อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ และเป็นเจ้าคณะตำบล และเป็นอุปัชฌาย์ ตำบลโนนค้อเขต 2 ในเวลาต่อมา
                 ในระหว่างครองสมณศักดิ์เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านโคกสะอาด และพระอุปัชฌาย์ตำบลโนนค้อเขต 2 อยู่นั้น หลวงปู่ได้นำชาวบ้านสร้างพระอุโบสถศาลาการเปรียญ กุฏิ ห้องน้ำ ห้องส้วม พัฒนาวัดจนสำเร็จเรียบร้อยนอกจากเสนาสนะดังกล่าวแล้ว หลวงปู่ยังได้นำชาวบ้านโคกสะอาดสร้างทำนบ ถนนหนทางเชื่อมระหว่างหมู่บ้านหลายสายให้ได้ไปมาติดต่อกันสะดวกสร้าง โรงเรียน นำชาวบ้านพัฒนาหมู่บ้าน จัดหาที่ดินสร้างอนามัยบ้านโคกสะอาด
                 นับว่าหลวงปู่ได้สร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นเป็นอเนกประการหลังจากพระ อุปัชฌาย์กลม ปุสโส เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีละทายคนเดิมได้มรณภาพแล้ว   ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง ชาวบ้าน
ละทายเห็นพ้องต้องกันว่าเห็นควรไปกราบนิมนต์พระอุปัชฌาย์เพ็ง จันทรังสี มาเป็นเจ้าอาวาส เพราะท่านเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวบ้านละทาย ท่านก็รับนิมนต์และได้สละตำแหน่งทางวัดเดิม มาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีละทายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2524 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลละทายเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2524 เป็นพระธรรมทูตเผยแผ่อบรมสั่งสอนประชาชนในเขตรับผิดชอบ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกเมื่อ พ.ศ. 2533
                 หลวงปู่พระครูโสภณ จันทรังสี ได้นำชาวบ้านละทายสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น เพราะหลังชำรุด ไม่เหมาะและไม่สะดวกในการทำสังฆกิจตามยุคตามสมัย ดังที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้หลวงปู่ได้จัดหาที่ดินสร้างสถานีอนามัยของหมู่บ้าน นำชาวบ้านตัดถนนเข้าวัดอีกเส้นหนึ่งเพราะทางเดินไม่สะดวก สร้างหอระฆัง สร้างฌาปณสถาน ศาลาบำเพ็ญบุญ สร้างวัดป่าจันทรังสี ( ปัจจุบันคือวัดบ้านโอ้น ) ขยายเนื้อที่วัดให้กว้างขวางเพียงพอแก่การใช้ในศาสนกิจ
   ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2542 หลวงปู่พระครูโสภณ จันทรังสี  ได้นำชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธา สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 8  เมตร สูงพร้อมทั้งฐาน  17  เมตร ตามรูปแบบองค์พระปางมารวิชัย พร้อมเสมาธรรมจักร 1 คู่ อัครสาวกสารีบุตร โมคคัลลาน์  และฉัพพันรังสี    โดยใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี 1 เดือน 19 วัน ได้สำเร็จดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้  นับเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในแถบนี้จากความมุ่งมั่นของหลวงปู่ในอันที่ จะเสริมสร้างและจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เป็นศรีสง่าแก่วัดและบ้านละทาย เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านละทาย และชาวพุทธได้เคารพสักการะบูชา นับเป็นความสำเร็จที่ควรที่ควรแก่การสรรเสริญ เชิดชูคุณงามความดีเป็นอย่างยิ่ง
                 หลวงปู่เป็นนักพัฒนาทั้งในด้านวัตถุจิตใจ เป็นนักบุญที่เสียสละทุกอย่าง ใฝ่หาประสบการณ์ความรู้ มีเมตตาธรรมโอบอ้อมอารีย์ แม้หลวงปู่จะอายุมาก แต่ก็ปรับตัวทันเหตุการณ์ได้ดี สร้างคุณงามความดีไว้มากมายเป็นคุณูปการ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวละทายและคนในท้องถิ่นให้ความเคารพนับถือรักใคร่ ถ้วนหน้ากัน หลวงปู่เป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่ง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นเบ้าหล่อหลอมจิตใจของชาวละทายโดยแท้เห็นควรได้รับการเชิดชูคุณงามความดี ของหลวงปู่ พระครูโสภณ จันทรังสี  ด้วยความเคารพยิ่ง
พระเครื่องและวัตถุมงคลที่สร้าง :
1. เหรียญรุ่นแรก  สร้าง พ.ศ.2524  จำนวนที่สร้างไม่แน่ชัดและในปัจจุบันมีบล็อกเสริมด้วย  สวนบล็อกที่สร้างครั้งแรกนั้นเป็นเนื้อทองแดง
2. เหรียญรุ่นสอง สร้าง พ.ศ. 2534 เนื้อผาบาตรเป็นส่วนใหญ่  เพื่อเป็นที่ระลึกในตัดลูกนิมิตและงานฉลองพระอุโบสถ
3. เหรียญรุ่นสาม  สร้าง พ.ศ.2536 จำนวนที่สร้างไม่แน่ชัด  เป็นเนื้อทองแดง  เพื่อแจกให้คณะผ้าป่า
4. พระบูชา (รูปเหมือน) สร้าง พ.ศ. 2544  เพื่อหาปัจจัยในการก่อสร้างพระใหญ่ (พระพุทธละทายชัยมงคล)  จำนวนสร้างไม่แน่ชัด
5. เหรียญและพระปิดตา รุ่น มหามงคล 88 ปลอดภัย  2553
6. ตะกรุดโทนและตะกรุดอื่นๆ
7. ชานหมาก รูปถ่าย และวัตถุมงคลอื่นที่ไม่ทราบชัดเจน  
ประสบการณ์ในวัตถุมงคล:  พุทธคุณวัตถุมงคลที่ท่านได้ปลุกเศก คือ  เมตตามหานิยม  แคล้วคลาดปลอดภัย   มหาอุตต์  คงกระพันชาตรี  และกันภูตผีปีศาจ  ครบทุกด้าน




* หลวงพ่ออ้วน.jpg (20.86 KB, 277x400 - ดู 4476 ครั้ง.)

* หลวงปู่เพ็ง จันทรังสี.jpg (17.59 KB, 233x264 - ดู 4980 ครั้ง.)

thxby2899kruba
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มกราคม 2555, 16:39:30 โดย บ่อหัวซา » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.19 | SMF © 2006-2009, Simple Machines Valid XHTML 1.0! Valid CSS!