ฮีตสิบสองพอจะไขความได้ว่าเป็นจารีตสิบสองรายการ คือประเพณีประจำสิบสองเดือนนั่นเอง เป็นจารีตประเพณีที่จะให้สมาชิกในสังคมได้มีโอกาสร่วมชุมนุมกันทำบุญเป็นประจำเดือน ทุกๆเดือนของรอบปี ฮีตสิบสองหรือประเพณีสิบสองเดือนของชาวอีสานมารายการและคำกลอน ดังนี้
๑. เดือนเจียง (เดือนอ้าย) นิมนต์สังฆเจ้าเข้ากรรมฯ ชาวบ้านเลี้ยงผีต่างๆ ?ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนเจียงเข้ากลายมาแถมถ่าย ฝูงหมู่สังฆเจ้ากะเตรียมเข้าอยู่กรรม ธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน อย่าได้ละว่างเว้นเข็นสิข่องแล่นนำ แท้แหล่ว?
๒. เดือนยี่ ทำบุญคูณข้าวหรือคูณลาน มีพระสวดมนต์เย็น ฉันเช้า เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือก ?ฮีตหนึ่งนั้น พอแต่เดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้ อย่าได้ไลคองนี้มันสิสูญเสียเปล่า ข้าวและของหมู่นั้น สิหายเสี่ยงบ่ยัง จงให้ฟังคองนี้แนวกลอนเฮาบอก อย่าเอาใดดอกแท้เข็ญฮ้ายแล่นเถิงเจ้าเอย?
๓. เดือนสาม ในมื้อเพ็ง (วันเพ็ญ) ให้ทำบุญข้าวจี่ และบุญมาฆบูชา เริ่มพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเช้า ?ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเมื่อเดือนสามได้จงพากันจี่ข้าวจี่ ไปถวายสังฆเจ้าเอาแท้หมู่กุศล หากธรรมเนียมจั่งซี้มันแท้แต่นาน ให้ทำบุญไปทุกบ้านทุกที่เอาบุญ พ่อเอ้ย คองหากเคยมีมาแต่ปางปฐมพู้น อย่าพากันไลถิ่มประเพณีตั้งแต่เก่า บ้านเมืองเฮาสิเศร้าภัยฮ้ายสิแล่นตาม?
๔. เดือนสี่ ฟังบุญผะเหวดฟังเทศน์มหาชาติ ?ฮีตหนึ่ง พอเถิงเดือนสี่ได้ให้เก็บดอกบุปผา มาลาดวงหอมสู่คนเก็บไว้ อย่าได้ไลหนีเว้นแนวคองตั้งแต่เก่า ไฟทั้งหลายสิแล่นเข้าเผาบ้านสิเสื่อมสูญ ให้ฝูงซาวเฮาแท้อย่าไลคองตั้งแต่ก่อน มันสิหมองเศร้าเมืองบ้านสิทุกข์จนแท้แหล่ว?
๕. เดือนห้า ทำบุญขึ้นปีใหม่หรือตรุษสงกรานต์ สรงน้ำพระพุทธรูป เก็บดอกไม้บูชาพระ ?ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนห้าให้พวกไพร่ซาวเมือง จงพากันสรงน้ำขัดสีพุทธรูป ให้ทำทุกวัดแท้อย่าไลม้างห่างเสีย ให้พากันทำแท้ๆ ไผๆบ่ได้ว่า ทุกทั่วทีปแผ่นหล้าให้ทำแท้ทุกคน จั่งสิสุขยิ่งล้นทำถึกคำสอน ถือฮีตคองควรถือแต่ปฐมพู้น
๖. เดือนหก ทำบุญวันวิสาขบูชา มีการเทศน์ตลอดวัน ตลอดกลางคืน มีการเวียนเทียน หรือบุญบั้งไฟ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและขอฝน ?ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนหกแล้วให้นำเอาน้ำวรีสรงโสก ฮดพระพุทธรูปเหนือใต้สู่ภาย อย่าได้ละเบี่ยงบ่ายปัดป่ายหายหยุด มันสิสูญเสียศรีต่ำไปเมื่อหน้า จงพากันทำแท้แนวคองฮีตเก่า เอาบุญไปเรื่อยๆอย่าถอยหน้าหากสิเสีย?
๗. เดือนเจ็ด ทำบุญบูชาเทวดาอาฮักษ์หลักเมือง (วีรบุรุษ) ทำการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ผีพ่อแม่ ผีปู่ตา ผีเมือง (บรรพบุรุษ) ผีตาแฮก (เทวดารักษ์ไร่นา) ?ฮีตหนึ่งนั้น พอเดือนเจ็ดแล้วให้พากันบูชาราช ฝูงหมู่เทพเหล่านั้นบูชาแท้สู่ภาย ตลอดไปฮอดอ้ายอาฮักษ์ใหญ่มเหสัก ทั้งหลักเมืองสุ่หนบูชาเจ้า พากันเอาใจตั้งทำตามฮีตเก่า นิมนต์สังฆเจ้าชำระแท้สวดมนต์ ให้ฝูงคนเมืองนั้นทำกันอย่าได้ห่าง สูตรชำระเมืองอย่าค้างสิเสียเศร้าต่ำสูญ ทุกข์สิแล่นวุ่นๆมาโฮมใส่เต็มเมือง มันสิเคืองคำขัดต่ำลงสูญเศร้า ให้เจ้าทำตามนี้แนวเฮาสิกล่าว จึงสิสุขอยู่สร้างสวรรค์ฟ้าเกิ่งกัน ทุกข์หมื่นฮ้อยซั้นบ่มีว่าพาน ปานกับเมืองสวรรค์สุขเกิ่งกันเทียมได้?
๘. เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา ทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารเช้า และเพลแก่พระสงฆ์ บ่ายมีการฟังพระธรรมเทศนา ?ฮีตหนึ่งนั้นพอเถิงเดือนแปดได้ล้ำล่วงมาเถิง ฝูงหมู่สังโฆคุณเข้าวัสสาจำจ้อย ทำตามฮอยของเจ้าพระโคดมทำก่อน บ่ตะลอนเลิกม้างทำแท้อยู่ภาย แล้วจงพากันผ่ายหาของไปเททอด ทำทานไปอย่าได้คร้านเอาไว้หมู่บุญ สิเป็นของหนุนเจ้าไปเทิงอากาศ สู่สวรรค์ฮ้อนด้วยบุญนี้ส่งไป เพิ่นจั่งตรัสบอกไว้ฮีตเก่าคองหลัง อย่าขาดได้ไปแท้สุ่คน โอกาสนี้เพิ่นให้เทียวซอกค้นขุดก่นขุมบุญ เอาทุนไปภายหน้าเมื่อตายไปแล้ว เป็นแนวนำเฮาขึ้นบันไดทองเที่ยวท่อง ขึ้นสู่ห้องชั้นฟ้าสวรรค์พู้นอยู่เย็น ฝูงหมู่วิบากเว้นบ่มีว่าสิมาพาน เนาว์วิมานแสนทุกข์หายบ่มาใกล้?
๙. เดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน โดยนำข้าวและอาหารคาวหวานพร้อมทั้งหมากพลู บุหรี่ห่อด้วยใบตองกล้วย แล้วนำไปไว้ตามต้นไม้และพื้นหญ้า เพื่ออุทิศให้แก่บรรดาญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ?ฮีตหนึ่งนั้น พอเถิงเดือนเก้าแล้วเป็นกลางแห่งวัสสกาล ฝูงประชาชนชาวเมืองกะเล่าเตรียมตัวพร้อม พากันทานยังข้าวประดับดินกินก่อน ทายกทานให้เจ้าพระสงฆ์พร้อมอยู่ภาย ทำจั่งซี้บ่ย้ายเถิงขวบปีมา พระราชาในเมืองก็จงทำแนวนี้?
๑๐. เดือนสิบ ทำบุญข้าวสาก หรือข้าวสลาก (สลากภัตร) ในวันเพ็ญเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายเช่นเดียวกับบุญข้าวประดับดิน ?ฮีตหนึ่งนั้นเมื่อเถิงเดือนสิบแล้วทายกทอดบวยบาน เบิกพลีทำทานต่อมาสองซ้ำ ข้าวสลากนำไปให้สังโฆทำทอด พากันหวังยอดแก้วนิพพานพู้นพ้นที่สูง ฝูงหมู่ลุงอาวป้าคณาเนืองน้อมส่ง ศรัทธาลงทอดไว้ทานให้แผ่ไป อุทิศให้ฝูงเปรตเปโต พากันโมทนานำสุคนจนเกลี้ยง?
๑๑. เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา หรือสังฆเจ้าออกวัสสาปวารณาฯ มีการตามประทีปโคมไฟ เรียกว่าทำบุญจุดประทีป ?ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนสิบเอ็ดแล้วก็เป็นแนวทางป่อง เป็นช่องของพระเจ้าเคยเข้าแล้วอย่าเซา?
๑๒. เดือนสิบสอง เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าตามคติเดิม มีการทำบุญกองกฐิน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด ถึงกลางเดือนสิบสอง แต่ชาวอีสานครั้งก่อนนิยมเริ่มทำตั้งแต่ข้างขึ้นเดือนสิบสอง จึงมักจะเรียกบุญกฐินว่าบุญเดือนสิบสอง ?ฮีตหนึ่งนั้น เดือนสิบสองมาแล้วลมวอยหนาวสั่น เดือนนี้หนาสะบั้นบ่คือแท้แต่หลัง ในเดือนนี้เพิ่นว่าให้ลงทอดพายเฮือ ซ่วงกันบูซานาโค นาคเนาว์ในพื้น ซื่อว่าอุชุพะนาโคนาคเนาว์ในพื้นแผ่น สิบห้าสกุลบอกไว้บูชาใฟห้ส่งสการ จงทำให้ทุกบ้านบูชาท่านนาโค แล้วลงโมทนาดอมชื่นชมกันเล่น กลางเว็นกลางคืนให้ระงมกันขับเสพ จึงสิสุขอยู่สร้างสบายเนื้ออยู่เย็น ทุกข์ทั้งหลายหลีกเว้นหนีห่างบ่มีพาน ของสามานย์ทั้งปวงบ่ได้มีมาใกล้ ไผผู้ทำตามนี้เจริญขึ้นยิ่งๆ ทุกสิ่งบ่ไฮ้ทั้งข้าวหมู่ของ กรรมบ่ได้ถึกต้องลำบากในตัว โลดบ่มีมัวหมองอย่างใดพอดี้ มีแต่สุขีล้นครองคนสนุกยิ่ง อดในหลิงป่อองนี้เด้อเจ้าแก่ชรา
ย่อเพื่อจำ เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม
เดือนยี่ บุญคูณลาน
เดือนสาม บุญข้าวจี่
เดือนสี่ บุญผะเหวด
เดือนห้า บุญสงกรานต์
เดือนหก บุญบั้งไฟ
เดือนเจ็ด บุญซำฮะ
เดือนแปด บุญเข้าพรรษา
เดือนเก้า บุญห่อข้าวประดับดิน
เดือนสิบ บุญห่อข้าวสาก
เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา
เดือนสิบสอง บุญกฐิน
คัดลอกจากหนังสือ ผญา ของ ผศ.สุระ อุณวงศ์ พิมพ์ครั้งที่ ๓