ถวายตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่เสาร์
พระอาจารย์ดี ได้มีโอกาสกราบและถวายตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล จนกระทั่งได้ออกธุดงค์ติดตามตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๗๙ ไปจนตลอดอายุขัยของหลวงปู่ใหญ่
พระอาจารย์ดี ได้ติดตาม หลวงปู่ใหญ่ ไปจังหวัดอุบลราชธานีและไปพำนักอยู่กับท่านที่บ้านข่าโคม บ้านเกิดของหลวงปู่ใหญ่ ต่อมาได้ธุดงค์ไปที่อำเภอพิบูลมังสาหาร มีญาติโยมศรัทธาถวายที่ดินให้หลวงปู่ใหญ่สร้างวัดกรรมฐานขึ้น ชื่อวัดภูเขาแก้ว
ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ได้พาคณะมาพำนักที่วัดภูเขาแก้ว แต่เดิม คือ ป่าช้าภูดิน ตั้งอยู่บนเนินสูงก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอพิบูลมังสาหาร
ประวัติการก่อตั้งวัดภูเขาแก้วนั้น มีอยู่ว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ได้ขอร้องให้หลวงปู่ใหญ่ พิจารณาหาหนทางสร้างวัดป่ากรรมฐานขึ้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร ด้วยปรากฏว่าญาติพี่น้องของสมเด็จฯ ได้อพยพมาจากบ้านแคน ดอนมดแดง มาปักหลักตั้งถิ่นฐานที่บ้านโพธิ์ตาก อ.พิบูลมังสาหาร เป็นจำนวนมาก
สมเด็จฯ ท่านอยากให้มีวัดกรรมฐาน เพื่อช่วยอบรมสั่งสอนทางธรรมให้ญาติโยมของท่าน ?ได้รับแสงสว่างหายมืดหายบอด? และเพื่อโปรดญาติโยมชาวบ้านทั้งหลายให้มีสถานที่บำเพ็ญบุญ เป็นศูนย์รวมปฏิบัติธรรมอบรมภาวนาจิต จึงบัญชาให้พระอาจารย์เสงี่ยม และพระอาจารย์ดี ฉนฺโน มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมในสถานที่ดังกล่าว โดยสมเด็จฯ ได้ให้ความสนับสนุน
ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่นี้ว่า วัดป่า หรือวัดป่าภูเขาแก้วหรือ วัดภูเขาแก้ว ในปัจจุบัน
ข้อมูลอีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า ขุนสิริสมานการ กับนายคำกาฬ เป็นผู้มานิมนต์ หลวงปู่ใหญ่ ท่านจึงได้ให้พระอาจารย์เสงี่ยม และพระอาจารย์ดี ฉนฺโน มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรม ที่เนินป่าภูดิน นอกเมืองพิบูลมังสาหาร ซึ่งเล่ากันว่าเป็นที่อาถรรพณ์ร้ายแรง เพียงคืนแรกที่ไปปักกลดอยู่ใต้ร่มไม้ พระอาจารย์ทั้งสองก็โดนลองดีเสียแล้ว
กล่าวกันต่อมาว่า พระอาจารย์ทั้งสองได้นำพาชาวบ้านญาติโยมละแวกนั้น ทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติสมาธิภาวนา และทำบุญอุทิศแก่บรรพชนผู้ล่วงลับ เจ้าที่เจ้าทาง และเทพเทวดาอารักษ์ การสร้างวัดจึงดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
ประกอบกับการสนับสนุนของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ด้วย วัดจึงมีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ
เจ้าอาวาสองค์แรกคือ พระอาจารย์ดี ฉนฺโนต่อมาหลวงพ่อเพชรเป็นองค์ที่สอง และหลวงพ่อโชติ อาภคฺโค (พระครูวิบูลธรรมภาณ) เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน และเจ้าคณะอำเภอพิบูลมังสาหารฝ่ายธรรมยุต
หลวงปู่ใหญ่ มอบให้พระอาจารย์ดี เป็นเจ้าอาวาสวัดภูเขาแก้ว แล้วท่านไปสร้างวัดใหม่บนเกาะกลางลำแม่น้ำมูลชื่อ วัดดอนธาตุ และพำนักอยู่ที่วัดแห่งนี้เป็นวัดสุดท้ายในชีวิตของท่าน
พระอาจารย์เสาร์สร้างวัดดอนธาตุ
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ได้รับนิมนต์จากแม่ชีผุย โกศัลวิตร ไปในงานฉลองศาลาวัดภูเขาแก้ว ที่คณะศรัทธาชาวเมืองพิบูลมังสาหารสร้างถวาย
หลังจากงานฉลองศาลา ๔-๕ วัน หลวงปู่ใหญ่ ได้ปรารภกับลูกศิษย์ว่า... อันว่าลำน้ำมูลตอนใต้เมืองพิบูลฯนี้ องค์ท่านยังไม่เคยไปตามเกาะแก่งน้อยใหญ่ทั้งหลายนั้น จะมีผู้ใดอาสาพาไปสำรวจดูบ้าง
ก็มีลูกศิษย์ฝ่ายฆราวาสผู้ขันอาสา ได้แก่ ขุนสิริสมานการ (อดีตนายอำเภอพิบูลมังสาหาร) พ่อใหญ่อาจารย์บับ, พ่อใหญ่ครูคำดี, พ่อใหญ่พุทธา เป็นต้น
เมื่อถึงวันออกเดินทาง คณะศิษย์ได้จัดเตรียมเรือไว้หลายลำคอยอยู่ที่ท่าน้ำใต้แก่งสะพือลงไป
ตอนเช้าหลังฉันจังหันเสร็จแล้ว ได้ออกเดินทาง หลวงปู่ใหญ่นั่งรถสามล้อถีบซึ่งมารออยู่แล้ว
คณะพระเณรที่ไปด้วย มี พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พระอาจารย์กงแก้ว พระอาจารย์บัวพา ปญฺญาภาโส, พระอาจารย์บุญเพ็ง นารโท, สามเณรหงส์ทอง, สามเณรคำผาย และสามเณรปุ่น เป็นต้น พากันเดินตามสามล้อหลวงปู่ใหญ่ไปลงเรือที่รอรับอยู่ ๔-๕ ลำ มีทั้งเรือแจว และเรือพาย
กองเรือได้ออกจากท่า ล่องตามลำน้ำมูลไปทางทิศตะวันออกผ่านบ้านแก่งเจริญ บ้านหินสง บ้านหินลาด บ้านไก่เขี่ย บ้านชาด ถึงดอนคับพวง แวะขึ้นไปเดินสำรวจดู
แล้วต่อไปยังดอนธาตุ ดอนตากไฮ ดอนเลี้ยว จนตะวันบ่ายคล้อยราว ๔-๕ โมงเย็น ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้ม ฝนเริ่มตั้งเค้า จึงได้จอดเรือ แล้วขนบาตรขนบริขารขึ้นไปพักที่ศาลาท่าน้ำวัดบ้านหัวดอนของอุปัชฌาย์รัตน์
เย็นนั้นลมฝนพัดกรรโชกแรงอื้ออึง จึงได้พากันเคลื่อนย้ายไปขอพักยังศาลาวัดบ้านหัวดอนที่อยู่ใกล้กันนั้น
ตอนนั้น อุปัชฌาย์รัตน์ เจ้าอาวาสไม่อยู่ พระลูกวัดนิมนต์หลวงปู่ใหญ่ และคณะไปพักที่ศาลาการเปรียญ แล้วส่งข่าวให้ผู้ใหญ่บ้านหัวดอน บ้านทรายมูล และชาวบ้านละแวกนั้นทราบ
พอถึงค่ำ ผู้ใหญ่บ้าน และบรรดาลูกบ้านต่างก็พากันมากราบหลวงปู่ใหญ่ เป็นจำนวนมาก ในฐานะที่หลวงปู่ใหญ่เป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ซึ่งเป็นพระที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาอยู่แล้ว
หลวงปู่ใหญ่ พาคณะชาวบ้านสวดมนต์ไหว้พระ รับศีล แล้วให้พระอาจารย์ดี แสดงธรรมโปรดชาวบ้านจนดึกดื่น เป็นที่ซาบซึ้งและสร้างความศรัทธาให้ชาวบ้านมาก
เมื่อชาวบ้านทราบเรื่องราวและกิตติศัพท์ในทางธรรมของหลวงปู่ใหญ่ และคณะพระกรรมฐาน จึงได้พากันอาราธนานิมนต์ให้อยู่เผยแพร่ธรรมโปรดศรัทธาชาวบ้านในถิ่นแถบนั้น
รุ่งเช้าหลวงปู่ใหญ่ได้พาพระเณรออกบิณฑบาตในหมู่บ้านชาวบ้านหัวดอน และบ้านทรายมูลได้พากันมาถวายจังหันเป็นจำนวนมาก
พอฉันจังหันแล้ว หลวงปู่ใหญ่ บอกพระเณรและชาวบ้านว่าท่านพิจารณาแล้ว อยากเลือกดอนธาตุให้เป็นที่ตั้งวัด
เมื่อหลวงปู่ใหญ่ปรารภว่าอยากสร้างดอนธาตุขึ้นเป็นวัดกรรมฐานเพราะมีความเหมาะสม ญาติโยมต่างโมทนาสาธุการ แล้วผู้ใหญ่บ้านพร้อมทั้งประชาชนต่างยินยอมพร้อมใจยกที่ดินบริเวณเกาะดอนธาตุถวายให้ท่านนำพาสร้างวัดต่อไป
พ่อใหญ่จอม พันธ์น้อย ได้ถวายบ้านเก่าหนึ่งหลัง พ่อใหญ่หมาจุ้ย ผลสิทธิ์ (ภายหลังหลวงปู่ใหญ่เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า พ่อมงคล)ถวายบ้านหนึ่งหลัง และชาวบ้านอีกหลายคนก็ร่วมถวาย จึงได้บ้านเก่าหลายหลัง แล้วชาวบ้านได้พากันมาปลูกสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นได้หลายหลัง
พอถึงเทศกาลมาฆบูชา ชาวบ้านได้ช่วยกันขนหินทรายมาก่อเจดีย์ทรายถวายวัด ต่อมาหินทรายกองนั้นได้ถูกนำมาใช้สร้างพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) โดยมี พระอาจารย์ดี ฉนฺโน เป็นช่างปั้นพระพุทธรูปในครั้งนี้
หลวงพ่อโชติ ได้บันทึกการสร้างพระพุทธไสยาสน์ว่า ท่านพระอาจารย์คำผาย (วัดป่าชีทวน) เล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นท่านยังเป็นสามเณรอยู่ เมื่อได้วัสดุก่อสร้างมาพร้อมแล้ว พระอาจารย์ใหญ่ท่านกำหนดเอาตรงลานที่ใช้เป็นศาลาชั่วคราวเป็นที่สร้างพระ แม้จะได้มีการคัดค้านจากลูกศิษย์ลูกหา ว่ามันใกล้ตลิ่งแม่น้ำมาก กลัวว่าต่อไปน้ำจะเซาะตลิ่งพังมาถึงเร็ว แต่องค์ท่านไม่ยอม โดยให้เหตุผลว่า
ตรงที่กำหนดจะสร้างพระนั่นแหละเป็นพระธาตุอังคาร (ธาตุเถ้าฝุ่นพระบรมศาสดา) แต่เดิมที่ทรุดลงไป ซึ่งพังทลายแล้วอย่างไม่เหลือซาก จึงได้ให้สร้างพระพุทธไสยาสน์ครอบเอาไว้เป็นสัญลักษณ์สำหรับกราบไหว้ต่อไป
เมื่อเป็นความประสงค์ขององค์ท่านเช่นนั้นจึงไม่มีใครคัดค้านอีก?
ตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำมูลตรงที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ก็ยังสมบูรณ์ดีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ไม่เห็นน้ำกัดเซาะตลิ่งพังตามที่ลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้านวิตกกันเลย
กล่าวหาพระพุทธรูปนอนขวางฟ้าขวางฝน
เมื่อการสร้างพระพุทธไสยาสน์ที่วัดดอนธาตุเสร็จแล้ว เป็นเวลาใกล้จะเข้าพรรษา หลวงปู่ใหญ่เดินทางกลับไปที่วัดบูรพาราม ในเมืองอุบลฯ แล้วกลับไปจำพรรษาที่บ้านข่าโคมอีกครั้งหนึ่ง
พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พร้อมพระเณรที่เหลือ กลับไปจำพรรษาที่วัดภูเขาแก้ว ในตัวอำเภอพิบูลมังสาหารวัดเดิมของท่าน
ในปีนั้นเกิดดินฟ้าอากาศแปรปรวน ฝนฟ้าไม่ตกต้องฤดูกาลก่อให้เกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง ประชาชนชาวไร่ชาวนาต่างเดือดร้อนกันมาก
ฝ่ายพระอุปัชฌาย์พรหมา และบรรดาพวกมิจฉาทิฏฐิได้ฉวยโอกาสกล่าวร้ายโจมตีหลวงปู่ใหญ่ และบรรดาศิษย์กรรมฐานของท่าน ว่า
?ที่เกิดฝนแล้งก็เพราะพระอาจารย์เสาร์มาสร้างพระนอนที่ดอนธาตุนี้แหละ พระนอนขวางฟ้าขวางฝนอยู่ทำให้ฝนไม่ตก...?
ประชาชนบางส่วนหลงเชื่อ จึงได้พากันยกพวกไปที่ดอนธาตุเพื่อทำลายพระพุทธรูป แต่คงไม่กล้าทำลายองค์พระทั้งหมด เพียงแต่มีผู้ขึ้นไปทุบจมูกพระให้เสียหาย เอาเป็นเคล็ดว่าทำลายพระพุทธรูปที่นอนขวางฟ้าขวางฝนเรียบร้อยแล้ว ต่อไปฝนคงจะตกตามปกติ
ทว่า...ฝนฟ้าหาได้ตกตามที่ผู้นำกลุ่มได้บอกไว้ไม่ บางคนเกิดความสำนึกเสียใจ และกลัวบาปจากความโฉดเขลาเบาปัญญาของพวกเขาในครั้งนั้น
คำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า ?กมฺมุนา วตตี โลโก - สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม? บุคคลทำกรรมใดไว้ ผลกรรมย่อมตามสนองไม่ช้าก็เร็ว !
เหตุการณ์ในครั้งนั้นต่างประจักษ์แก่ชาวบ้านในละแวกตำบลระเว ตำบลทรายมูล ตำบลคันไร่ เรื่อยมาถึงตัวอำเภอพิบูลมังสาหารเป็นอย่างดี
คือ หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีข่าวว่า พระอุปัชฌาย์พรหมาไหลตาย
ลูกศิษย์ลูกหาเห็นท่านตื่นสายผิดสังเกต ได้พังประตูกุฏิเข้าไปดูปรากฏว่าท่านมรณภาพนอนตัวแข็งทื่อไปแล้ว
บันทึกของหลวงพ่อโชติ เขียนไว้ว่า ?นอกจากอุปัชฌาย์พรหมา บ้านระเวแล้ว ยังมีคนบ้านคันไร่อีกคนหนึ่งนอนไหลตายเช่นกัน และได้ข่าวว่าคนที่ไปทุบจมูกพระนอนนั้นโดนยิงตายใกล้ควายที่ถูกใครก็ไม่ทราบไปขโมยมาฆ่าชำแหละเนื้อ !?
ในหนังสืออาจารย์พิศิษฐ์ เขียนว่า ?...ส่วนผู้ที่ทุบจมูกพระพุทธไสยาสน์นั้น ก็โดนฟ้าผ่าตายทั้งนี้ไม่มีเค้าว่าฝนจะตก...?
สรุปว่า กรรมตามสนองทันตาเห็น !
ย้อนหลังไปก่อนการมรณภาพของท่านพระอุปัชฌาย์ไปประมาณ ๑ เดือน หลวงปู่ใหญ่ จะเพิ่งให้ลูกศิษย์ได้ยินเสมอๆ ว่า : -
?สงสารอุปัชฌาย์พรหมาแท้เด๊ !?
สมโภชพระพุทธไสยาสน์
พระพุทธไสยาสน์ที่พระอาจารย์เสาร์ให้สร้างไว้
พอออกพรรษาปวารณาในปีนั้นแล้ว หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโลพร้อมด้วยคณะศิษย์ ประกอบด้วยพระ เณร ชี อุบาสกอุบาสิกา และผู้ติดตามจำนวนมากจากบ้านข่าโคม สมทบกับคณะของท่านพระอาจารย์ดี ฉนฺโน จากวัดภูเขาแก้ว ก็ได้เดินทางกลับมาที่เกาะดอนธาตุ เพื่อประกอบพิธีทำบุญสมโภชพระพุทธไสยาสน์ที่ได้สร้างไว้
ครั้งแรกที่ทุกคนย่างเหยียบขึ้นไปบนเกาะ เห็นพระนอนโดนทุบจมูกทิ้ง ต่างก็รู้สึกสลดหดหู่ใจ ทำไมหนอเขาจึงสามารถกระทำเช่นนั้น ได้
นรกแท้ๆ !
พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ผู้ปั้นได้พูดขึ้นว่า ?โอ๊ย ! พระนอนไปเฮ็ดอีหยังให้เขา ย่านเขาบาปหลายเด้?
หลวงปู่ใหญ่ ท่านดูสงบเย็นเป็นปกติ หัวเราะในลำคอ หึ ! หึ ! แล้วพูดยิ้มๆ ว่า ?เห็นบ่ อาจารย์ดีเพิ่นเฮ็ดบ่งาม เขาจึงมาทุบถิ่ม คั่นว่าแปงใหม่งามแล้ว สิบ่มีไผมาทุบถิ่มดอก?
(เห็นไหม อาจารย์ดี ทำพระไม่สวยเขาจึงมาทุบทิ้ง ถ้าทำใหม่สวยงามแล้ว คงไม่มีใครมาทุบทิ้งหรอก)
พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ได้ทำการโบกปูนปั้นเสริมเติมต่อจนพระสมบูรณ์งดงามดังเดิม เสร็จแล้วจึงได้จัดพิธีสมโภชขึ้น โดยหลวงปู่ใหญ่นั่งปรกเป็นองค์ประธาน นำคณะสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์มีการแสดงธรรมและปฏิบัติสมาธิภาวนา
พระพุทธไสยาสน์ที่วัดดอนธาตุจึงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ให้ประชาชนได้กราบไหว้ขอพรมาจนทุกวันนี้