ฟ้อนกลองตุ้ม หรือฟ้อนส่วยมือ เป็นการฟ้อนรำที่เก่าแก่และโบราณ ของชาวอีสาน ในอดีตนิยมฟ้อนด้วยผู้ชายทั้งหมด เป็นการฟ้อนรำประกอบจังหวะกลองตุ้ม ใช้ประกอบขบวนในการแห่บั้งไฟ
การฟ้อนกลองตุ้มมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน
- แบบที่หนึ่ง คือ การฟ้อนเป็นจังหวะในรูปแบบการฟ้อนแห่เป็นขบวน
- แบบที่สอง คือการฟ้อนประกอบทำนองกาพย์เซิ้ง เพื่อขอเหล้าหรือปัจจัยไทยทาน
เมื่อพิจารณาที่มาของการฟ้อนกลองตุ้มในแบบที่สอง จะเห็นได้ว่า มีความเกี่ยวเนื่องกับประเพณีบุญบั้งไฟ เพราะมีทำนองเป็นเช่นเดียวกันกับทำนองเซิ้งบั้งไฟ แต่มีช่วงจังหวะที่ช้าเนิบนาบกว่า
เครื่องดนตรีเครื่องดนตรีที่ใช้ในการบรรเลงมีเพียง 3 ชิ้น ได้แก่ กลองตุ้ม ผางฮาด และสไน อาจจะมีฉิ่งและฉาบร่วมประกอบจังหวะด้วย
อุปกรณ์ในการแสดง- ส่วยมือ เป็นอุปกรณ์ในการสวมนิ้วมือทั้งสิบ ทำมาจากหวายหรือไม้ไผ่ก้านยาว ปลายด้านหนึ่งสานให้เป็นกรวย เพื่อสวมเข้ากับนิ้ว ตัวก้านมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วพันด้วยด้ายสีต่างๆ ที่ปลายสุดของไม้มีพู่สีขาว นิยมพันด้ายให้เหมือนกับสีของธงชาติไทย
- ฝ้ายขาว ทำมาจากเส้นฝ้ายหรือไหมพรมสีขาว มัดแล้วตัดเป็นข้อๆ ใช้พาดไหล่ทั้งสองข้างคล้ายกับการใส่สร้อยสังวาล มักใช้กับฟ้อนกลองตุ้มในจังหวัดอุบลราชธานี
- ในจังหวัดศรีสะเกษ จะมีเครื่องประดับที่ใช้ในการฟ้อนกลองตุ้ม คือ กระจกบานเล็กห้อยเป็นสร้อย แล้วใช้ใบตาลสานเป็นสร้อยสังวาลแทนฝ้ายขาว และสวมแว่นตาดำ
ปัจจุบันการฟ้อนกลองตุ้มได้คลี่คลายมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมจะฟ้อนด้วยผู้ชายทั้งหมด บางหมู่บ้านที่มีการฟ้อนกลองตุ้ม มีผู้หญิงเข้ามาร่วมฟ้อนด้วย แต่ยังคงแต่งกายเป็นผู้ชายทั้งหมด และในสถานศึกษาได้นำมาดัดแปลงมาใช้แสดงบนเวที ร่วมกับวงโปงลาง ซึ่งจะสามารถหาชมได้จากสถาบันการศึกษาทั้ง 2 แห่งนี้ คือ
ฟ้อนกลองตุ้มของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้ดัดแปลงให้เป็นการแสดงบนเวที โดยให้นักแสดงที่เป็นผู้หญิงล้วน แบ่งเป็น2 ด้าน ด้านหนึ่งจะแต่งกายเป็นผู้ชาย อีกด้านจะแต่งเป็นชุดสตรีแบบพื้นเมืองอีสาน ซึ่งได้ดัดแปลงท่วงท่าบางส่วนผสมผสานกับการแสดงของวงโปงลางด้วย
การแต่งกาย
- ฝ่ายชาย สวมเสื้อย้อมครามแขนสั้น นุ่งโสร่ง ใช้ผ้าขิดสีแดง 4 ผืน คือ พาดเฉียงไหล่ทั้งสองข้าง โพกศีรษะ และมัดเอว สวมสร้อยคอเงิน และนิ้วทั้งสิบสวมส่วยมือ
- ฝ่ายหญิง สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มทับด้วยสไบขิด นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ยาวคลุมเข่า ผมเกล้ามวยประดับมวยผมด้วยดอกไม้ สวมเครื่องประดับเงิน และนิ้วทั้งสิบสวมส่วยมือ
ฟ้อนกลองตุ้มของวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ได้ดัดแปลงการฟ้อนกลองตุ้มแบบโบราณมาผสมผสานกับการแสดงบนเวที คือ จะมีการฟ้อนร่วมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงด้วย แทนการฟ้อนแบบโบราณ ซึ่งจะมีแค่ผู้ชายเท่านั้น โดยการแสดงในช่วงแรกจะบรรเลงแบบโบราณ คือใช้เพียงกลองตุ้ม ผางฮาด และสไน ช่วงที่สองจะบรรเลงด้วยวงโปงลาง ในจังหวะและทำนองที่สนุกสนานเร้าใจ
การแต่งกาย
- ชาย สวมเสื้อย้อมครามแขนสั้น นุ่งโสร่ง ใช้ผ้าขิดสีเขียว 3 ผืน คือ พาดเฉียงไหล่ทั้งสองข้างและมัดเอว ใช้เส้นฝ้ายสีขาว 2 เส้นเฉียงทับบนสไบ ศีรษะสวมหมวกกาบเซิ้ง และนิ้วทั้งสิบสวมส่วยมือ
- หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีแดง ไหล่ทั้งสองข้างห่มทับด้วยสไบขิดสีเขียว 2 ผืนใช้เส้นฝ้ายภูไทสีขาว 2 เส้นเฉียงทับบนสไบ นุ่งโสร่งอย่างผู้ชาย ศีรษะสวมหมวกกาบเซิ้ง สวมเครื่องประดับเงิน และนิ้วทั้งสิบสวมส่วยมือ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=roied05.php