ทุกวันนี้น้อยคนจะรู้ว่าเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว "พระป่า"หาได้เป็นที่ยอมรับนับถืออย่าง กว้างขวางเช่นปัจจุบันไม่
ตรงกันข้ามกลับถูกมองด้วยสายตาหวาดระแวง ยิ่งพระป่าสายอีสานที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ด้วยแล้ว ผู้ปกครองสงฆ์ในเวลานั้นถือว่าเป็นตัวปัญหา ที่ต้องจัดการหรือไม่ก็ต้องขับไล่ออกไปให้พ้นจากเขตปกครองเลยทีเดียว เพราะมองว่าพระเหล่านั้นนอกจากอยู่อย่างไม่เป็นหลักแหล่ง ไม่สังกัดวัดที่แน่นอนแล้ว ยังไม่สนใจศึกษาพระปริยัติธรรม อันเป็นนโยบายสำคัญของคณะสงฆ์ขณะนั้น มิหนำซ้ำยังชักชวนพระจำนวนไม่น้อยให้ละทิ้งปริยัติธรรม หันมาฝักใฝ่ในวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งผู้ปกครองสงฆ์จำนวนไม่น้อยเห็นว่าเป็นเรื่องงมงายไม่เป็นเหตุผลตามหลักพุทธศาสนา
เหตุการณ์หนึ่งซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันในเวลานั้นก็คือ การขับไล่คณะศิษย์ของหลวงปู่มั่นออกจากจังหวัดอุบลราชธานีในปี ๒๔๖๙ คราวนั้นพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของหลวงปู่มั่นนำพระป่ากว่า ๕๐ รูปเดินธุดงค์มาปักกลดในป่าบ้านหัวตะพาน โดยมีแม่ชีและฆราวาสนับร้อยร่วมคณะมาด้วย เมื่อทราบข่าวเจ้าคณะมณฑลอีสาน ได้สั่งการให้เจ้าคณะอำเภอและเจ้าหน้าที่จากอำเภออำนาจเจริญและม่วงสามสิบขับไล่ท่านเหล่านั้นออกจากป่า ขณะเดียวกันก็ห้ามมิให้ประชาชนใส่บาตรให้คณะธุดงค์ แต่พระอาจารย์สิงห์ปฏิเสธที่จะออกจากพื้นที่ โดยยืนยันว่าท่านเป็นชาวอุบล และไม่ได้ก่อปัญหาใด ๆ เรื่องยุติลงได้เมื่อเจ้าคณะจังหวัดได้มีลิขิตถึงนายอำเภอให้ผ่อนปรนในเรื่องนี้ หลังจากที่ได้รับการร้องขอจากศิษย์หลวงปู่มั่นเช่น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
เจ้าคณะมณฑลอีสานท่านนี้ คือพระโพธิวงศาจารย์(อ้วน ติสโส) อย่างไรก็ตามเมื่อท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพรหมมุนี ทัศนคติของท่านต่อพระป่าก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ท่านหันมาศรัทธาเลื่อมใสหลวงปู่มั่นและพระป่า สาเหตุสำคัญก็เพราะท่านได้ประจักษ์ถึงคุณค่าของสมาธิภาวนา ก่อนหน้านั้นท่านล้มป่วยมาเป็นเวลานาน แต่ได้รับการเยียวยาจนหายขาดจากพระอาจารย์ฝั้น ซึ่งไม่เพียงใช้สมุนไพร หากยังอาศัยสมาธิภาวนาในการรักษาด้วย และยิ่งมีศรัทธาปสาทะในกรรมฐานมากขึ้น เมื่อได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์ลี ธัมมธโรแห่งวัดอโศการาม ซึ่งเป็นลูกศิษย์อีกท่านหนึ่งของหลวงปู่มั่น อานิสงส์ของสมาธิภาวนานั้นประจักษ์แก่ท่านอย่างชัดเจน จนถึงกับอุทานว่า "ตลอดชีวิตของเรา เราไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่า สมาธิภาวนาจะมีประโยชน์ ถึงเพียงนี้"
ในเวลาต่อมาท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ดำรงตำแหน่งสังฆนายก ทำหน้าที่ปกครองทั้งสังฆมณฑล ตามกฎหมายคณะสงฆ์ในเวลานั้น ในช่วงนี้เองที่ท่านได้พบกับหลวงปู่มั่น หลังจากที่ได้ยินกิตติศัพท์ของท่านมานานผ่านลูกศิษย์ของท่าน เมื่อได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่มั่น สมเด็จ ฯ อดพิศวงไม่ได้ในความลุ่มลึกแห่งธรรมของท่าน ขณะเดียวกันก็แปลกใจว่าหลวงปู่มั่นเข้าใจธรรมอย่างลึกซึ้งได้อย่างไร ในเมื่อท่านเรียนปริยัติธรรมน้อยมาก นอกจากไม่ได้เป็นเปรียญแล้ว ยังไม่สำเร็จนักธรรมเอกด้วย ในทัศนะของสมเด็จ ฯ คนเราจะเข้าใจธรรมได้ก็ต้องผ่านการศึกษาจากตำรา ตัวท่านเองก็ได้รับการศึกษาในทางปริยัติธรรมสูงถึงระดับเปรียญโท แต่ก็ยังมีความรู้ทางธรรมไม่เท่าหลวงปู่มั่น ซึ่งครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็น "พระจรจัด"
ด้วยความสงสัยดังกล่าว สมเด็จ ฯ จึงถามหลวงปู่มั่นว่า ในเมื่อท่านอยู่แต่ในป่า ไม่มีตำรา จะเรียนรู้ธรรมจนสอนพระและญาติโยม ได้อย่างไร หลวงปู่มั่นตอบสั้น ๆ ว่า
"ธรรมนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา"
เรื่องโดย พระไพศาล วิสาโล
ที่มา:
https://www.facebook.com/photo.php?f...&type=1&ref=nf(มีต่อ)