ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ วัฒนธรรม ประเพณี พุทธสถานและแหล่งท่องเที่ยวภาคอีสาน => ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ท้องถิ่น => ข้อความที่เริ่มโดย: เต้ อุบล ที่ 04 พฤศจิกายน 2554, 14:39:58



หัวข้อ: ........กลองเส็ง กลองกิ่ง ........
เริ่มหัวข้อโดย: เต้ อุบล ที่ 04 พฤศจิกายน 2554, 14:39:58
?ทีมไหนมาแล้วก็ให้มารายงานตัวที่โต๊ะกรรมการด่วนเลยนะครับ ใกล้ถึงเวลาแข่งขันแล้ว? เมื่อสิ้นเสียงประกาศตามสาย ชายหนุ่มทั้งสี่คนซึ่งกำลังหยอกล้อกันอยู่บนรถอีแต๋นต่างต้องยุติความสนุกสนานส่วนตัวลงเพียงเท่านั้น...

พวกเขาช่วยกันขนกลองขนาดใหญ่ทั้งหกใบมาวางที่พื้น ก่อนที่เพื่อนอีกสองคนจะเข้ามารับช่วงต่อด้วยการใช้ไม้คานสอดไปในเชือกที่ผูกร้อยเตรียมไว้ พร้อมกับแบกขึ้นบ่าเดินฝ่าเปลวแดดในช่วงสายของวันมุ่งหน้าไปทางเต็นท์ที่คณะกรรมการจัดไว้ให้

จากความระอุอ้าวของสภาพอากาศและน้ำหนักของกลองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ส่งผลให้เสื้อผ้าของพวกเขาชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อไคล ที่มันก็คงไม่ต่างอะไรจากหยดน้ำที่ได้รินรดลงบนเมล็ดพันธุ์แห่งความทรงจำ ด้วยหมายให้รากเหง้าในอดีตหยั่งลึกลงสู่หัวใจของคนหนุ่มเหล่านี้...

กลิ่นเหล้าโรงโชยคลุ้งไปทั่วทั้งเต็นท์ที่พักของนัก ?เส็งกลอง? เมื่อผู้ดูแลเทราดลงบนหน้ากลองที่ทำมาจากหนังควาย เพื่อให้แผ่นหนังอ่อนตัวอันจะส่งผลให้คุณภาพเสียงดังกังวาน ก่อนจะใช้ผ้าคลุมทับไว้อีกชั้นป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์จากเหล้าโรงระเหยไปเร็วนัก...


 
เมื่อเวลาแข่งขันกระชั้นเข้ามา แต่ละทีมต่างมุ่งเตรียมความพร้อมกันเป็นครั้งสุดท้าย บ้างก็ง่วนอยู่กับการนวดเฟ้นนักเส็งกลอง บ้างก็วุ่นอยู่กับการนำพวงมาลัยเล็กๆมาผูกติดกับกลองเส็งเพื่อความเป็นศิริมงคล

และทันทีที่เสียงตามสายจากคณะกรรมการประกาศให้สองทีมแรกขึ้นสู่เวทีการแข่งขัน การ?เส็งกลอง? ในงานประเพณีบุญเดือนหก ศาลเจ้าพ่อพญาแล ประจำปี พ.ศ. 2552 จึงได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ...

2...
?ตึม ตึม ตึม ตึม...? เสียงเส็งกลองที่รัวเป็นจังหวะหนักเน้นจากคู่แข่งขันแรก ได้เรียกความสนใจให้ผู้คนที่มาเที่ยวงานประจำปีของ จ.ชัยภูมิ ให้เข้ามารวมกันอยู่ด้านหน้าเวทีแข่งขัน

เมื่อมีผู้ชมเพิ่มมากขึ้น เสียงกลองซึ่งระรัวต่อเนื่องก็ได้เพิ่มความหนักแน่นและดังกระหึ่มมากขึ้นกว่าเดิม...

?การเส็งกลองก็คือการแข่งขันตีกลองระหว่างหมู่บ้าน ชัยชนะก็จะขึ้นอยู่กับว่าหมู่บ้านไหนตีได้ดังกว่ากัน ซึ่งก็ถือเป็นการละเล่นอย่างนึงของคนชัยภูมิที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยก่อนปู่ย่าตายาย? พ่อสุทธิ เหล่าฤทธิ์ ปราชญ์อาวุโสของ จ.ชัยภูมิ อธิบายถึงความหมายของการเส็งกลอง

?สมัยก่อนจะมีการแข่งขันกันในงานบุญตามหมู่บ้านต่างๆ หรือไม่ก็หลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว หรือช่วงวันออกพรรษา และงานบุญพระเวท แต่ในส่วนของงานบุญเดือนหกนี้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ.2536 เพื่อตั้งใจให้เป็นการบวงสรวงเจ้าพ่อพระยาแล จากนั้นก็จัดต่อเนื่องประจำทุกปี และก็ถือว่างานบุณเดือนหกเป็นเวทีแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดเลยก็ว่าได้? พ่อสุทธิ เล่าความเป็นมาของการละเล่นให้ฟัง ซึ่งก็เป็นจังหวะเดียวกับที่เสียงกลองบนเวทีได้ดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้งหลังจากหยุดพักไปเพียงไม่นาน และนั่นก็ทำให้บทสนทนาต้องยุติลงชั่วคราว...

?การแข่งกลองเส็งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเรียกว่า การเดาะ ก็คือการตีกลองให้เป็นจังหวะและท่วงทำนองที่น่าฟัง ประเภทที่สองเรียกว่าการเส็งกลองหรือการตีกลองเพื่อให้มีเสียงดังมากที่สุด แต่ในปีหลังๆมาผู้จัดนิยมให้แข่งกันเฉพาะเส็งกลองเท่านั้นเพราะว่ามันดูสนุกกว่า ส่วนการเดาะก็จะเน้นหนักไปในทางตีเพื่อโชว์เสียมากกว่า? พ่อสุทธิ อธิบายต่อทันทีที่การแข่งขันคู่ที่สองจบลง...

นอกจากจะแบ่งออกเป็นสองประเภทตามที่พ่อสุทธิอธิบายเอาไว้...

การเส็งกลอง ยังแบ่งย่อยออกเป็นสองประเภทคือ ประเภทเดี่ยวและประเภททีมห้าคน ซึ่งทุกๆการแข่งขันจะเริ่มต้นจากประเภทเดี่ยวเสมอ โดยผู้ตีจะผลัดกันตีหมู่บ้านละสามสิบวินาที จึงจะตามมาด้วยการแข่งประเภททีม ซึ่งทั้งสองทีมจะตีพร้อมกันในเวลา นาทีครึ่ง...

 

ในการหาผู้ชนะ ปัจจุบันนี้ ทางคณะกรรมการได้นำเครื่องวัดระดับเสียงมาเป็นอุปกรณ์ช่วยในการตัดสิน ซึ่งแตกต่างไปจากสมัยก่อนที่กรรมการจะต้องอยู่ห่างจากเวทีการแข่งขันไกลๆเพื่อใช้หูฟังว่าเสียงกลองหมู่บ้านใดดังที่สุด

?ก็ด้วยวีธีตัดสินแบบนี้แหละ ที่ทำให้เมื่อก่อนถึงกับมีเรื่องมีราวชกต่อยกันเลยก็มีเพราะไม่ยอมรับคำตัดสิน การเส็งกลองก็เหมือนกับเป็นศักดิ์ศรีของหมู่บ้านนั้นๆนั่นแหละเขาจึงยอมกันไม่ได้ แต่หลังๆมาเราเอาเครื่องวัดมาช่วยก็เลยไม่มีเรื่องอะไรตามมาอีกเลย? พ่อสุทธิเล่าถึงบรรยากาศของการแข่งขันในวันวาน

น้ำเสียงของปราชณ์อาวุโสในทุกถ้อยอธิบายนั้น ยังคงชัดเจนและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา จนดูราวกับว่าเรื่องราวในความทรงจำเพิ่งผ่านพ้นมาเมื่อไม่นานนี้...

เสียงกลองที่ถูกกระหน่ำตีจนจับจังหวะไม่ได้นั้น หาได้สร้างความรำคาญให้กับผู้ที่เฝ้าดูอยู่เบื้องล่างแม้แต่น้อย โดยเฉพาะกับตากุหลาบ สมพงษ์วัย ๗๖ ปีที่เดินทางมาพร้อมกับทีมหมู่บ้านห้วยยางด้วยแล้ว เสียงกังวานที่รัวเร้าดูจะเป็นจังหวะที่แกพึงใจจนต้องพรมนิ้วเบาๆลงไปบนเก้าอี้ตรงหน้า

?เมื่อตอนหนุ่มๆพ่อก็ขึ้นตีเป็นประจำ เรียกว่างานไหนงานนั้นไม่เคยพลาด แต่พออายุเยอะขึ้นก็เปลี่ยนมาช่วยดูแลเรื่องการซ้อมแทน ก็คนมันรักเนาะแค่ได้มาช่วยเท่านี้พ่อก็รู้สึกสนุกแล้ว? ชายชราพูดขึ้นโดยที่ไม่ยอมละสายตาจากเวทีการแข่งขัน

และแม้วันนี้เรี่ยวแรงจะถดถอย แต่หากความรักที่มีต่อการเส็งกลองยังคงเต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อถึงเวลาที่ทีมบ้านห้วยยางของพ่อกุหลาบต้องขึ้นทำการแข่งขัน ชายสูงวัยก็เดินนำหน้าขึ้นไปบนเวทีก่อนที่จะก้มลงจับกลองเส็งไม่ให้เคลื่อนที่จนผู้ตีเสียจังหวะ...


 
ครั้นการแข่งขันเริ่มขึ้น คนเส็งกลองวัยหนุ่มก็กระหน่ำหัวไม้ตะกั่วลงบนหนังกลองสุดแรงโดยไม่ต้องกังวลว่ากลองจะเคลื่อนที่จนเสียจังหวะ ด้วยที่ข้างกายของเขามีพ่อกุหลาบคอยทำหน้าที่ประคับประคองให้กลองเส็งตั้งอยู่บนพื้นได้อย่างมั่นคงนั่นเอง...

3...
สภาพอากาศเพิ่มความระอุอ้าวมากขึ้นตามเวลาที่เปลี่ยนไป แต่นั่นก็หาได้ทำให้ความน่าสนใจในการแข่งขันลดดีกรีลงแม้แต่น้อย โดยเฉพาะเมื่อมาถึงคิวของ ทีมบ้านขี้เหล็กใหญ่ ที่เปรียบเสมือนเป็นทีมเจ้าภาพก็ทำให้ผมต้องสะดุดใจกับนักเส็งกลองหนุ่มน้อยที่กำลังวาดลวดลายลีลาอยู่บนเวที...

?ผมเริ่มต้นจากที่ตาพาไปดูเส็งกลองตามงานต่างๆครับ พอดูบ่อยๆก็รู้สึกชอบและอยากจะลองฝึกดูบ้าง? น้องปอ หรือ ด.ช.แทนวิชย์ ตั้งเพียร ในวัย 11 ปี เด็กชายผู้มีอายุน้อยที่สุดในการแข่งขันคราวนี้เริ่มต้นเรื่องราวของตัวเอง

 

?ผมมาเริ่มหัดอย่างจริงจังในปี พ.ศ.2549 ก็มีตาเป็นคนสอนให้ครับ และก็เริ่มออกไปแข่งตามเวทีที่มีจัดเส็งกลองร่วมกับทีมบ้านขี้เหล็กใหญ่   และก็ชนะที่ ๑ ทั้งประเภทเดี่ยวและทีมเป็นครั้งแรกในงานบุญที่ อ.บ้านเขว้า ครับ? เด็กชายกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

 

?แต่การแข่งวันนี้มีความหวังห้าสิบห้าสิบครับ เพราะทีมเก่งๆมากันเยอะมาก? แม้วันนี้น้องปอจะบอกถึงความหวังของตัวที่มีไม่มาก แต่จากสำเนียงและแววตาที่ปรากฏชัดระหว่างพูดคุยก็ทำให้ผมรับรู้ถึงความตั้งใจอันมหาศาลของเด็กชายวัย ๑๑ ปีผู้นี้ได้เป็นอย่างดี...

?ก่อนแข่งก็ซ้อมมาประมาณเดือนนึงครับ เอาเวลาหลังเลิกเรียนไปซ้อม? น้องปอ บอกถึงการเตรียมตัวก่อนเข้าแข่งขันให้ฟังคร่าวๆ

?ก็เคยชวนเพื่อนมาซ้อมด้วยเหมือนกันครับแต่ก็ไม่มีใครสนใจมา ส่วนมากก็เข้าร้านเกมส์กันหมดครับ? ทันทีที่จบถ้อยความ เสียงประกาศเรียกให้ทีมบ้านขี้เหล็กใหญ่เข้าแข่งขันในรอบต่อไปก็ดังขึ้น น้องปอจึงขอตัวกลับไปพร้อมกับถุงน้ำหวานในมือ และจากที่ได้ฟังความคิดและเรื่องราวของเด็กชายก็ทำให้ผมมั่นใจว่า การเส็งกลองอันเป็นวัฒนธรรมรากเหง้าของคนชัยภูมินั้นมันจะฝังลึกอยู่ในหัวใจของเขาตลอดไป...

4...
เสียงกลองบนเวทียังดังต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ทุกทีมที่ขึ้นแข่งขันต่างก็แสดงออกถึงการร่วมแรงร่วมใจเพื่อรีดเค้นเรี่ยวแรงทั้งหมดออกมา ด้วยมุ่งหมายว่าพลังแห่งความสามัคคีจะทำให้เสียงกลองของบ้านเกิดตนเองดังก้องกังวานไปไกลๆจนกลบเสียงกลองของหมู่บ้านอื่นๆ ดังนั้นไม่ว่าผู้ร่วมทีมจะอายุมากหรือน้อยก็หาได้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันดังเช่น ตาพรม ถนอมศรี ที่แม้จะมีอายุถึง 79 ปีแล้วก็ตามแต่วัยที่มากล้นก็หาได้ทำให้ความมุ่งมั่นในการเส็งกลองลดลงไปตามวัยอันร่วงโรย...

?ตาก็ตีมาตลอด ตีมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆจนทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้สึกเหนื่อยเลยก็ยังสนุกอยู่เหมือนเดิม ปีหน้าก็ว่าจะมาแข่งอีก? ตาพรมบอกกับผมเช่นนั้น และจากท่าทางและเสียงตีที่ดังกระหึ่มก็นับได้ว่าเป็นสิ่งยืนยันถึงเรี่ยวแรงที่ยังมากมายของชายชรา

 

?มันขึ้นอยู่กับเทคนิคหลานเอ้ย เรี่ยวแรงก็เป็นส่วนหนึ่งแต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่าวิธีการตีและจังหวะ รู้มั้ยว่าคนหนุ่มๆที่แรงดีหนะแพ้คนแก่มาหลายแล้ว? ตาพรม กล่าวเมื่อผมถามถึงเรื่องอายุว่ามีผลต่อการตีกลองเช่นไร ซึ่งถ้อยความดังกล่าวก็ได้รับการพิสูจน์ด้วยรอบการแข่งขันที่ผ่านมาเมื่อทีมของตาพรมที่มี ผู้สูงวัย มากกว่าสามารถเอาชนะคู่แข่งขันที่ เยาว์วัย กว่าได้อย่างใสสะอาด...

ระหว่างพักการแข่งขัน ตาพรม ได้เข้ามานั่งอยู่ในเต็นท์เดียวกับ น้องปอ และนั่นก็ทำให้ชายสองวัยได้ร่วมสนทนาถึงการเส็งกลองอย่างออกรส ซึ่งก็ทำให้ผู้ที่นั่งฟังอยู่ใกล้ๆรู้สึกว่าตนเองกำลังอยู่กึ่งกลางระหว่างรากเหง้าและผู้สืบทอดอย่างแท้จริง...

?ดีใจหลายๆที่เห็นเด็กน้อยวัยรุ่นเข้ามาเส็งกลอง อยู่แถวหมู่บ้านก็มีเข้ามาหัดหลายคน แต่ก็บ่รู้ว่าพวกเขาจะเอาจริงแค่ไหน ที่บ้านตามีกลองเส็งอยู่หกคู่ก็ตั้งใจจะเอาไว้สอนลูกๆหลานๆให้เขาได้รู้ว่ากลองเส็งมันตียังไงและมีความเป็นมายังไง? ตาพรม บอกถึงความรู้สึกและความตั้งใจกับเด็กชายที่กำลังน้อมฟังด้วยความเคารพ...

ระหว่างนั้นเสียงกลองเส็งที่ดังเร้าอารมณ์อยู่บนเวทีส่งผลให้ทั้งสองต้องยุติการสนทนาชั่วคราว และในขณะที่ตาพรมและน้องปอกำลังเฝ้าดูการแข่งขัน แววตาของชายสองวัยที่แม้อีกคนจะอายุ  79 ปี หากอีกคนกลับเพิ่งผ่านโลกมาเพียง 11 ปี ต่างก็เปี่ยมล้นไปด้วยความมุ่งมั่นจนดูราวกับว่านั่นเป็นสายตาของคนวัยเดียวกัน...

5...
จากเริ่มการแข่งขันตั้งแต่ช่วงสายและยังดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงเย็นย่ำ ทีมที่เข้าร่วมกว่าสามสิบทีมถึงเวลานี้เหลือเพียงสี่ทีมเท่านั้นได้แก่ ทีมชัยชนะวิหาร 1 ,ทีมหนองสมบูรณ์ 1 ,ทีมห้วยยาง 3 และทีมชัยชนะวิหาร 2

โดยที่ทีมชัยชนะวิหาร 1 ได้สิทธิ์เข้าไปยืนรอในรอบชิงชนะเลิศ เนื่องจากเป็นทีมเดียวในการแข่งขันที่ชนะมาตั้งแต่รอบแรกและยังไม่เคยเสียท่าให้ใคร ดังนั้นทีมที่เหลือทั้งสามจึงต้องมาพบกันเองเพื่อชิงชัยเข้าสู่รอบสุดท้าย

 
เมื่อการแข่งขันผ่านมาถึงรอบที่ ทีมชัยชนะวิหาร 2 ต้องมาดวลกับ ทีมหนองสมบูรณ์1 เพื่อแย่งกันเข้าชิงชนะเลิศบรรยากาศการขับเคี่ยวเป็นไปด้วยความดุเดือด และแม้จะรู้ว่า ทีมชัยชนะวิหาร ทั้ง 1 และ 2 เคยเป็นแชมป์เก่าและรองแชมป์เก่ามาก่อนหากทีมหนองสมบูรณ์ 1 ต่างก็รวมใจกันสู้อย่างสุดความสามารถ

แต่กระนั้นก็ไม่อาจต้านทานความแข็งแกร่งของทีมชัยชนะวิหาร 2 ที่ฝึกซ้อมมาตลอดทั้งปีได้จึงพ่ายไปอย่างเฉียดฉิว ด้วยระดับเสียงที่ใกล้เคียงกันมากคือ 211.2 ต่อ 210.8 เดซิเบลล์ และนั่นก็ส่งผลให้คู่ชิงชนะเลิศการเส็งกลองปีนี้กลายเป็นคู่เดียวกันกับเมื่อปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2551)...


 
หลังจากขับเคี่ยวกันมาอย่างหนักหน่วง ในที่สุดการแข่งเส็งกลองในงานประเพณีบุญเดือนหก ศาลเจ้าพ่อพญาแลประจำปี 2552 ก็ผ่านพ้นไปโดยสมบูรณ์

และแม้แชมป์กับรองแชมป์ในการแข่งคราวนี้จะตกเป็นของทีมชัยชนะวิหารเช่นเดียวกับเมื่อปีที่แล้วก็ตาม แต่นั่นก็คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า การออกแรงกระหน่ำตีของตัวแทนแต่ละชุมชนเพื่อให้กลองของหมู่บ้านตนเองมีเสียงดังมากที่สุดนั้น มันได้กลายมาเป็นการละเล่นที่สามารถเชื่อมร้อยให้ชาวบ้านทั้งในและนอกชุมชนเกิดความสามัคคีต่อกันและกันได้เป็นอย่างดี...

?กลับแล้วพ่อใหญ่ เอาไว้ปีหน้าค่อยมาเจอกันใหม่เด้อ? เสียงร่ำลาผู้อาวุโสที่ส่งผ่านมาจากลูกหลานทีมคู่แข่งนั้นก็คงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า แม้ในเกมส์การแข่งขันพวกเขาอาจจะพ่ายแพ้ แต่นั่นก็หาได้ส่งผลให้มิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างหมู่บ้าน ต้องสูญสลายไปพร้อมกับเสียงกลองเส็งที่เงียบลงไปนานแล้ว...

. . .

...ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสารหญิงไทยฉบับที่ 810 ปักษ์แรก กรกฎาคม 2552..


หัวข้อ: Re: ........กลองเส็ง กลองกิ่ง ........
เริ่มหัวข้อโดย: คนโก้ ที่ 30 ธันวาคม 2554, 09:59:31
ปัจจุบันประเพณีการเส็งกลองนับวันจะถูกลืม แต่ก็มีบางพื้นที่ยังรักษาประเพณีวัฒนธรรมนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น  ยอดเยี่ยมมากครับ 023 023 023


หัวข้อ: Re: ........กลองเส็ง กลองกิ่ง ........
เริ่มหัวข้อโดย: เต้ อุบล ที่ 30 ธันวาคม 2554, 10:27:32
ภาพบางส่วนที่มีการประกวดเส็งกลองในงานเกษตรอีสานใต้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครับ

(http://upic.me/i/65/img_4941.jpg) (http://upic.me/show/31652969)
(http://upic.me/i/98/img_4944.jpg) (http://upic.me/show/31652971)
(http://upic.me/i/e2/img_4948.jpg) (http://upic.me/show/31652974)
(http://upic.me/i/34/img_4960.jpg) (http://upic.me/show/31652976)
(http://upic.me/i/ph/img_4962.jpg) (http://upic.me/show/31652980)
(http://upic.me/i/p1/img_4974.jpg) (http://upic.me/show/31652984)
(http://upic.me/i/0e/img_4996.jpg) (http://upic.me/show/31652993)
(http://upic.me/i/hi/img_5003.jpg) (http://upic.me/show/31652998)
(http://upic.me/i/zu/img_5016.jpg) (http://upic.me/show/31653001)
(http://upic.me/i/em/img_5031.jpg) (http://upic.me/show/31653003)
(http://upic.me/i/5w/0img_5066.jpg) (http://upic.me/show/31653006)
(http://upic.me/i/lu/img_5077.jpg) (http://upic.me/show/31653007)

ภาพทั้งหมด TaeUbon ถ่ายเอง ติขมได้ครับ   :wan-e042:


หัวข้อ: Re: ........กลองเส็ง กลองกิ่ง ........
เริ่มหัวข้อโดย: คนโก้ ที่ 30 ธันวาคม 2554, 12:03:17
ภาพถ่ายสุดยอดมากน้อง หน้าตา  อารมณ์  แต่ละท่านเต็มที่จริงๆ :wan-e002: