ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ วัฒนธรรม ประเพณี พุทธสถานและแหล่งท่องเที่ยวภาคอีสาน => พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และพุทธสถานที่สำคัญภาคอีสาน => ข้อความที่เริ่มโดย: เต้ อุบล ที่ 10 ตุลาคม 2554, 19:13:21



หัวข้อ: หลวงพ่อแก่นเมือง 400ปีเกี่ยวข้องสร้างเมืองอุบล
เริ่มหัวข้อโดย: เต้ อุบล ที่ 10 ตุลาคม 2554, 19:13:21
ประวัติหลวงพ่อแก่นเมือง อายุกว่า ๔๐๐ ปี

หลวงพ่อแก่นเมือง  พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง  เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องกับการเสาะแสวงหา  ที่ตั้งเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช  ภายหลังจากพระปทุมสุรราช (เจ้าคำผง) และ เจ้าทิดพรหม ได้นำไพร่พลเข้าพึ่งบรมโพธิสมภารเป็นขอบขัณฑสีมาแห่ง  พระเจ้ากรุงธนบุรี

หลังจากพระปทุมสุรราชได้ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แห่งพระเจ้ากรุงธนบุรี  จึงโปรดให้นายทหารผู้ใหญ่ คือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และ เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพไปช่วยเจ้าคำผงที่บ้านดู่บ้านแก  เจ้าคำผงร่วมเป็นทัพหน้า ตีเมืองเวียงจันทร์จนแตกพ่าย   ในครั้งนั้นได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตและพระบางลงไปกรุงธนบุรี

พระปทุมสุรราช  จึงได้อพยพไพร่พลกลับมาเพื่อไปอยู่ที่ค่ายบ้านดอนมดแดง  พอมาถึงท่าข้ามน้ำบริเวณแก่งตะนะ จึงได้แยกออกเป็นสองฝ่าย  เพื่อสำรวจ แม่น้ำมูลด้านทิศใต้ และเดินคู่ขนานขึ้นมา  จนมาถึงบริเวณปากห้วยกว้างลำชะโด มีพื้นที่สูงเหมาะสำหรับการตั้งเมืองจึงหยุดพัก เพื่อสำรวจอย่างละเอียดพบว่าเป็นที่ราบสูง มีพื้นที่เหมาะแก่การทำไร่นา  แต่มีข้อเสียคือ มีลำห้วยน้อย ใหญ่ อยู่ระหว่าง ห้วยกว้าง กับ ลำชะโด หลายสาย จึงเกรงว่า  เมื่อมีฝนตกหนักน้ำไหลหลาก อาจทำให้น้ำท่วมไร่นาเสียหายเป็นบริเวณกว้างได้

            จึงได้ให้ไพร่พลที่ประสงค์จะได้สร้างหลักปักฐาน เป็นแนวระวังส่งข่าว เมืองจำปาศักดิ์ และหัวเมืองในละแวก    จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจำนวนหลายองค์  ลงประดิษฐานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ให้ประชาชนกราบไหว้สักการบูชาและเก็บรักษาไว้  ก่อนเดินทางสู่ค่ายดอนมดแดงสถานที่จะตั้งเมือง และได้อัญเชิญหลวงพ่อเงิน พระชัยหลังช้างประจำกองทัพเก็บรักษา  ไว้ที่ดงป่าพระพิฆเนศวรณ์ (ปัจจุบันขุดค้นพบและได้นำออกมาให้ประชาชนกราบไหว้สักการะที่วัดปากน้ำ(บุ่งสระพัง) จังหวัดอุบลราชธานี)

วัดสระปทุมมาลัย  บ้านดอนสำราญ  วัดวิวสวยริมแก่งแม่น้ำมูล
บ้านดอนสำราญ หรือ ดอนกลาง ในอดีตได้มีชาวบ้านอพยพมากจากบ้านแขม บ้านเสียม อำเภอเขื่องใน ชาวบ้านเชือก ตำบลหนองขอน  อำเภอเมือง   และอีกส่วนหนึ่งเดินทางมาจากบ้านโพนเมือง อำเภอเหล่าเสือโก๊ก จังหวัดอุบลราชธานี ได้มาตั้งบ้านเรือนแผ้วถางทำไร่ทำนา เมื่อมีจำนวนประชากรมากขึ้น จึงได้สร้างวัดขึ้นมา ที่ริมหนองผักผีพวย ติดริมแม่น้ำมูล และได้มี     หลวงปู่อู  อินฺทสาโร เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ได้นำพาชาวบ้านสร้างสิมน้ำที่หนองผักผีพวย ในฤดูว่างจากทำนา เมื่อสร้างเสร็จจึงได้นำเรื่อง  เรียนเจ้าคณะปกครองในสมัยนั้นคือ พระครูคัมภีรญาณ    (ยาถ่านกอง) วัดโพธิ์ตาก เจ้าคณะอำเภอพิบูลมังสาหาร จึงได้นำพระพุทธรูปโบราณเนื้อไม้มาประดิษฐานเป็นพระประธานและกำหนดเขตเป็น สิมน้ำ หรือที่เรียกว่า อุทถกเขปสีมา เพื่อทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ และสิมน้ำหลังเก่าได้พังสลายไปตามกาลเวลา  พระสา  กิตฺติญาโณ (บุญยืน)  เจ้าอาวาสในขณะนั้น   จึงได้นำพาชาวบ้านสร้างสิมน้ำขึ้นมาใหม่ ทดแทนหลังเดิม  จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปไม้ไปอยู่บนกุฎีหลังใหญ่เรื่อยมา   จนถึงปัจจุบันได้อัญเชิญมาให้ประชาชนได้กราบสักการะสิมน้ำ   (๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๔)

ปรากฏนามหลวงพ่อแก่นเมืองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
เหตุปรากฏนามเมื่อราวปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ ชาวบ้านได้สร้างสุสานไตรลักษณ์ขึ้น มีแกนนำชาวบ้านไปร่วมทำงานและทำบุญจนวัดบ้าน  ขาดการดูแล พระภิกษุสามเณร อยู่ด้วยความลำบาก  ในวันหนึ่งขณะทำวัตรสวดมนต์  ได้สังเกตว่ามีน้ำไหลออกมาจากตาทั้งสองข้างของพระพุทธรูปไม้ บ่งบอกถึงความเป็นห่วงบ้านเมือง

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๕  ได้เกิดอัศจรรย์บอกเหตุ เมื่ออยู่มาวันหนึ่งได้มีน้ำสีแดงชาดไหลออกจากดวงตาของพระพุทธรูปไม้องค์เดิม  เจ้าอาวาสได้ตรวจสอบดู จึงพบว่าได้มีปลวกกัดกินเนื้อไม้ข้างในดังปรากฏตามที่เห็นฐานพระในปัจจุบัน  จึงได้นำพาผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวบ้านกราบขอขมา และอัญเชิญหลวงพ่อลงแช่น้ำเพื่อกำจัดปลวกและได้เก็บรักษาดูแลอย่างดี

และในปีพุทธศักราช  ๒๕๕๔   คุณยายประมัย  สมจันทร์ มารดาเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้เจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ  ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ชาวบ้านให้ความนับถือ กล่าวมีพระพุทธรูปไม้อยู่บนกุฎีได้มาบอก   ว่าพระภิกษุ สามเณร  ชาวบ้านไม่ได้นำดอกไม้มาบูชาในวันพระ   และนำไปสรงน้ำกับพระพุทธรูปองค์อื่นในวันสงกรานต์ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา  เมื่อได้ทราบสาเหตุจึงได้จัดเครื่องสักการะถวาย  การเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุก็หายไป

เมื่อสืบเรื่องราวประวัติจากบรรพบุรุษบอกเล่าสืบ ๆ กันมาจึงได้ทราบว่าเป็น เป็นพระแก่นเมืองพระพุทธรูป ศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ ที่สร้างขึ้นตามตำนาน  การสร้างเมืองในอดีต เพื่อความเป็นสิริมงคล ความมั่นคง ความอยู่เย็นเป็นสุข  พร้อมกับพระมุมเมือง  พระหลักเมือง และพระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองอีกหลายองค์ที่เจ้าพระวอ  เจ้าพระตา ได้อัญเชิญมาจากเมืองกาบแก้วบัวบานหนองบัวลุ่มภู เมื่อคราวรบกับเมืองเวียงจันทร์  เคลื่อนทัพมาตามลำน้ำพองสู่ ลำน้ำปาว ลำน้ำยัง  ลำน้ำชี ลำน้ำมูล จนลุมาถึงเมืองจำปาศักดิ์ ตั้งค่ายที่บ้านดู่บ้านแก เมื่อสงครามสงบลง  จึงแสวงหาที่ตั้งเมือง  เมื่อเดินทางมาถึงถิ่นพอที่จะสร้างเมืองได้ จึงอัญเชิญหลวงพ่อแก่นเมืองประดิษฐานไว้ที่บ้านห้วยกว้างลำชะโด อันเป็นสัญลักษณ์ที่จะเจริญรุ่งเรืองไปในภายภาคหน้า  เป็นการสร้างรกรากถิ่นฐานของชาวเมืองพิบูลมังสาหาร  หลวงพ่อแก่นเมืองจึงเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกองค์หนึ่ง อันประมาณค่ามิได้        



        ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://watsamranniwet.siam2web.com/?cid=405876&f_action=forum_viewtopic&forum_id=38833&topic_id=115604