ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ วัฒนธรรม ประเพณี พุทธสถานและแหล่งท่องเที่ยวภาคอีสาน => ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ท้องถิ่น => ข้อความที่เริ่มโดย: เต้ อุบล ที่ 20 กันยายน 2554, 19:07:18



หัวข้อ: การปกครองอุบลราชธานีในอดีต
เริ่มหัวข้อโดย: เต้ อุบล ที่ 20 กันยายน 2554, 19:07:18
การปกครองอุบลราชธานีในระยะแรก ยุคก่อนปฏิรูป ยึดแบบล้านช้าง โดยการกำหนดผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นคณะอาญาสี่ ผู้ช่วยอาญาสี่ กรมการสำหรับตำบลและหมู่บ้าน

1. อาญาสี่ หรืออาชญาสี่ เป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีอยู่ 4 ตำแหน่ง ดังนี้

    1. เจ้าเมือง เป็นผู้ปกครองสูงสุดทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของพลเมือง มีอำนาจสิทธิขาด ในการบังคับบัญชาสั่งการโดยทั่วไปยกเว้นอำนาจสิทธิขาดในการบางอย่าง เช่น การตัดสินประหารชีวิตโจรผู้ร้ายในคดีอุกฉกรรจ์ (นอกจากเวลาที่มีศึกสงคราม) เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขตแดนเมือง เรื่องการสงครามหรือการแต่งตั้งกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ เช่น อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร แต่มีอำนาจแต่งตั้งกรมการระดับรองลงมา ตั้งแต่เมืองแสน เมืองจันทร์ ลงไปจนถึงจ่าบ้าน

    2. อุปฮาด มีอำนาจหน้าที่แทนเจ้าเมืองได้ทุกอย่าง ขณะที่เจ้าเมืองไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ส่วนหน้าที่โดยตรงก็คือ รวบรวมสำมะโนครัว ตัวเลข จัดทำรวบรวมบัญชีส่วน อากร เร่งรัด การจัดเก็บส่วนในแต่ละปี พร้อมทั้งจัดส่งส่วยอากรให้เมืองราชธานี ทันตามกำหนด ตลอดจนการเกณฑ์ไพร่ พลเมืองไปทำสงคราม

    3. ราชวงศ์ ยามที่บ้านเมืองเป็นปกติสุข ราชวงศ์ จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของเจ้าเมืองและอุปฮาด และผลัดเปลี่ยนกับราชบุตรในการนำเงินส่วยและสิ่งของส่วยส่งเมืองราชธานี ตลอดจนรวบรวมบัญชีไพร่บ้านพลเมืองที่เป็นชายฉกรรจ์ที่ควรจะจัดเข้าเป็นพล ทหารสำหรับเมืองนั้น ๆ ในยามสงครามราชวงศ์ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพที่สำคัญควบคุมไพร่พลออกทำการศึกหรือ อาจทำหน้าที่เกณฑ์ไพร่พล จัดหาเสบียงอาหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มเติม

    4. ราชบุตร มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับราชวงศ์ กล่าวคือ ทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกับราชวงศ์ ทั้งในการส่งส่วยของหลวง การสงครามอื่น ๆ เป็นต้นว่า ถ้าราชวงศ์เป็นผู้ควบคุมกำลังไพร่พลออกไปทำสงคราม ราชบุตรก็จะทำหน้าที่เกณฑ์ไพร่พลจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ และเสบียงอาหารเพิ่มเติม

2. ตำแหน่งสำหรับหมู่บ้าน มี 4 ตำแหน่ง ซึ่งเทียบได้กับตำแหน่งของการปกครองในปัจจุบัน คือ

    1. ท้าวฝ่าย เทียบได้กับตำแหน่งนายอำเภอ

    2. ตาแสง เทียบได้กับตำแหน่งกำนัน

    3. พ่อบ้าน หรือนายบ้าน เทียบได้กับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

    4. จ่าบ้าน เทียบได้กับตำแหน่งสารวัตรหมู่บ้าน, สารวัตรตำบล

          การปกครองอุบลราชธานีในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปีพุทธศักราช 2424 โปรดเกล้าฯ ให้หลวงจินดารักษ์ มาเป็นข้าหลวงกำกับราชการ ช่วยเจ้าอุปฮาดหนูคำ ที่เมืองอุบลราชธานี เมื่อหลวงจินดารักษ์ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงภักดีณรงค์ (ทัดไกรฤกษ์) ขึ้นมาเป็นข้าหลวงกำกับราชการแทน ปีพุทธศักราช 2434 โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เสด็จขึ้นมาเป็นข้าหลวง สำเร็จราชการต่างพระองค์ หัวเมืองมณฑลลาวกาวซึ่งมีเมืองอุบลราชธานีเป็นเมืองเอก

          ปีพุทธศักราช 2436 โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จขึ้นมาเป็นข้าหลวง กำกับราชการต่างพระองค์ ์ที่เมืองอุบลราชธานี มีการเปลี่ยนชื่อมณฑลลาวกาว เป็น มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ปีพุทธศักราช 2447 เปลี่ยนชื่อมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมณฑลอีสาน

          กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ประทับเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ที่เมืองอุบลราชธานี เป็นเวลานานถึง 17 ปี ได้ชาวเมืองอุบลเป็นชายา คือ หม่อมเจียงคำ หม่อมบุญยืน หม่อมปุก หม่อมเมียง และหม่อมหอม มีพระราชโอรสธิดาหลายท่าน เสด็จกลับกรุงเทพฯ เมื่อปีพุทธศักราช 2453 และพระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ เมื่อปีพุทธศักราช 2465

          พุทธศักราช 2459 เปลี่ยนชื่อคำว่า เมืองอุบลราชธานี เป็น จังหวัดอุบลราชธานี


หัวข้อ: Re: การปกครองอุบลราชธานีในอดีต
เริ่มหัวข้อโดย: aon-ubon ที่ 20 กันยายน 2554, 19:10:10
ได้ความรู้อีกแล้วครับท่าน
 007 007