ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ห้องพระ => พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ => ข้อความที่เริ่มโดย: TeeSakon ที่ 09 พฤษภาคม 2556, 13:41:52



หัวข้อ: พระอาจารย์ กว่า สุมมโน ศิษย์พระอาจารย์มั่น
เริ่มหัวข้อโดย: TeeSakon ที่ 09 พฤษภาคม 2556, 13:41:52
มีเหรียญท่าเก็บไว้นานมากแล้ว รุ่น หนึ่ง จอ. สร้าง ไม่ปรากฎ พ.ศ. อาทิตย์ที่แล้วไปหาเพื่อนส่องพระแถวหน้าวัดท่านมา ทราบประวัติแบบไม่เป็นทางการ จึงสืบค้น ได้จากเวปdharma-gateway.com
จึงขออนุญาตตัดตอนที่เกี่ยวกับท่านมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานครับ
พระอาจารย์กว่า สุมโน
วัดป่ากลางโนนกู่ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร
เรียบเรียงโดย webmaster : dharma-gateway.com
           พระอาจารย์กว่า สุมโน เดิมชื่อ กว่า เกิดในตระกูล สุวรรณรงค์ ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร นับเป็นญาติที่ใกล้ชิดกันบิดาท่านคือ หลวงพรหม (เมฆ สุวรรณรงค์) มารดาชื่อ หล้า สุวรรณรงค์ ท่านเกิดในวันอังคาร แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ท่านมีพี่ชาย คือ พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน แห่งวัดมหาชัย ต. หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเกิดในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ แก่กว่าท่าน ๔ ปี และอ่อนกว่าพระอาจารย์ฝั้นผู้เป็นญาติสนิท ๕ ปี (พระอาจารย์ฝั้นเกิด พ.ศ. ๒๔๔๒)ตระกูลสุวรรณรงค์สืบเชื้อสายมาจากชาวผู้ไทเมืองวังอ่างคำ แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว อพยพเข้ามาในประเทศไทยครั้งสมัยรัชกาลที่สาม มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองพรรณนานิคม และผู้นำการอพยพได้รับพระราชทานยศเป็น พระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพรรณนานิคม ซึ่งยศ ?พระเสนาณรงค์? เป็นชื่อยศประจำตำแหน่งเจ้าเมืองพรรณนานิคม ซึ่งก็มีลูกหลานเจ้าเมืองคนแรกสืบตำแหน่งกันต่อมาจนถึง พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) ท่านที่สี่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น เมืองพรรณนานิคมได้เปลี่ยนเป็น อำเภอพรรณนานิคม เจ้าเมืองพรรณานิคมก็เปลี่ยนเป็นนายอำเภอ พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) จึงเป็นนายอำเภอพรรณนานิคมคนแรก และเมื่อมีประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นใช้ จึงเอานามตัว คือ ?สุวรรณ์? มารวมกับนามบรรดาศักดิ์คือ ?เสนาณรงค์? มาเป็นนามสกุล ?สุวรรณรงค์? น่าสังเกตว่าบิดาของท่านมีบรรดาศักดิ์เป็น ?หลวง? ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่า ?พระ? ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองคือ ?พระเสนาณรงค์? เพียงระดับเดียว ตำแหน่ง พระเสนาณรงค์ เป็นตำแหน่งของเจ้าเมือง ระดับหัวเมืองชั้นตรี ปกครองโดยเจ้าผู้ครองนคร ระดับ ?พระ? และในสมัยก่อนนั้น เมืองพรรณนานิคมยังใช้ระบบอาชญาสี่อยู่ ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น ประกอบด้วย เจ้าเมือง, อุปฮาด (อุปราช), ราชวงศ์ และราชบุตร ซึ่งเทียบตำแหน่งใหม่เมื่อครั้งเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองมาเป็นแบบเทศาภิบาล (มณฑล) ทั่วประเทศ ยกเลิกการปกครองแบบเก่าที่ใช้ระบบอาชญาสี่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ และในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ดังนี้
- เมืองต่าง ๆ ให้เรียกว่าอำเภอ ให้เจ้าเมืองเป็นนายอำเภอ ให้อุปฮาดเป็นปลัดอำเภอ ให้ราชวงศ์เป็นสมุห์อำเภอ ให้ราชบุตรเป็นเสมียนอำเภอ
ดังนั้นพอจะอนุมานได้ว่า บิดาของหลวงปู่กว่าเป็นข้าราชการเทียบได้กับระดับ ?อุปฮาด? หรือในระบบใหม่คือ ?ปลัดอำเภอ? ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างจะมีอำนาจมากในสมัยนั้น
ต่อมาในสมัยที่พระอาจารย์ฝั้น, พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า เจริญวัยเป็นหนุ่มแล้ว เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ผู้เป็นบิดาพระอาจารย์ฝั้น และ หลวงพรหมผู้เป็นบิดาพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่าก็ได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่น ๆ อีกหลายครอบครัว ออกจากบ้านม่วงไข่ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ออกไปประมาณ ๔ กิโลเมตร ไปตั้งบ้านใหม่ขึ้นอีกหมู่หนึ่ง ให้ชื่อว่า บ้านบะทอง เพราะที่นั่นมีต้นทองหลางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันต้นทองหลางใหญ่ดังกล่าวได้ตายและผุพังไปสิ้นแล้ว สาเหตุที่อพยพออกจากบ้านม่วงไข่ก็เพราะเห็นว่า สถานที่ใหม่อุดมสมบูรณ์กว่า เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เช่นวัว ควาย และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงไหม เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำห้วยขนาบอยู่ถึงสองด้าน ด้านหนึ่งคือ ลำห้วยอูนอยู่ทางทิศใต้ ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือลำห้วยปลา อยู่ทางทิศเหนือ
ก่อนอพยพจากบ้านม่วงไข่ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) บิดาของพระอาจารย์ฝั้น ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขมาก่อนแล้ว ครั้นมาตั้งบ้านเรือนกันใหม่ที่บ้านบะทอง ท่านก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไปอีก เพราะลูกบ้านต่างให้ความเคารพนับถือในฐานะที่ท่านเป็นคนที่มีความเมตตาอารี ใจคอกว้างขวางและเยือกเย็นเป็นทีประจักษ์มาช้านาน


หัวข้อ: Re: พระอาจารย์ กว่า สุมมโน ศิษย์พระอาจารย์มั่น
เริ่มหัวข้อโดย: TeeSakon ที่ 09 พฤษภาคม 2556, 13:43:28
การบรรพชาและอุปสมบท
ในพ.ศ. ๒๔๖๒ ขณะที่ท่านอายุได้ ๑๕ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านไร่ (วัดสิทธิบังคม) ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร มีท่านอาญาครูธรรม เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านอาญาครูธรรมนี้เป็นเจ้าอาวาส วัดพระธาตุโพนทอง บ้านบะทอง ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูสกลสมณกิจ เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร และเป็นอุปัชฌาย์ให้กับพระภิกษุกู่ ธัมมทินโน ผู้เป็นพี่ชาย เช่นกัน แต่พระกู่พี่ชายไปบวชที่วัดโพธิ์ชัย (วัดบ้านม่วงไข่) บ้านม่วงไข่ อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร ในปีถัดมา คือปี ๒๔๖๓ ซึ่งเป็นปีที่พระกู่อายุครบ ๒๐ ปี นอกจากนั้น ท่านอาญาครูธรรมผู้นี้ยังถือได้ว่าเป็นอาจารย์กัมมัฏฐานท่านแรกของหลวงปู่ฝั้น อาจาโรอีกด้วย
สำหรับชื่อวัดที่หลวงปู่กว่าบรรพชาเป็นสามเณรคือวัดบ้านไร่นั้น ได้ค้นตามแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไม่พบว่ามีชื่อวัดบ้านไร่ อยู่ในสารบบวัดในจังหวัดสกลนคร สันนิษฐานว่าเป็นชื่อเดิมของ วัดสิทธิบังคม ซึ่งเป็นวัดเดียวกับวัดที่พระอาจารย์ฝั้นบวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งบวชในปีเดียวกับที่หลวงปู่กว่าบวชเป็นเณร
ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ตำบลพรรณนาก็ได้มีทายาทในตระกูลสุวรรณรงค์ถึง ๓ คนได้สละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศสมณะและเป็นพุทธทายาทที่สำคัญในอนาคต คือ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน และ สามเณรกว่า สุมโน
หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว เข้าใจว่าท่านก็อยู่เล่าเรียนหนังสืออยู่ที่วัดสิทธิบังคมนั้น ร่วมกับพระภิกษุฝั้น อาจาโร ผู้เป็นญาติสนิทที่ได้บวชที่วัดนั้น ในปีเดียวกัน แต่หลังจากออกพรรษาในปีนั้นแล้ว ท่านพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ย้ายไปอยู่วัดพระธาตุโพนทอง บ้านบะทอง
พระอาจารย์กว่า และ พระอาจารย์ฝั้น พบพระอาจารย์มั่น
ในปีถัดมาคือ พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของท่านทั้งสาม เนื่องจากเป็นปีที่ทำให้ชีวิตในอนาคตของท่านเปลี่ยนไปตลอดกาล ในเดือน ๓ ข้างขึ้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูป ได้ออกจากเสนาสนะป่าบ้านห้วยทราย กิ่งคำชะอี จังหวัดนครพนม เดินธุดงค์ออกขึ้นไปทางทิศเหนือขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงป่าช้าข้างบ้านม่วงไข่ (ปัจจุบันเป็น วัดภูไทสามัคคี) พักที่วัดป่าภูไทสามัคคี ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ญาติโยมทั้งหลายในบ้านม่วงไข่ ได้พากันไปนมัสการ และขอฟังพระธรรมเทศนาของท่าน สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมฟังด้วย มีท่านอาญาครูดี (เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย หรือ วัดบ้านม่วงไข่) พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น ผู้เป็นญาติของท่าน เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบลง ท่านทั้งสามก็บังเกิดความปีติยินดีและเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ได้พากันปวารณาตัวขอเป็นศิษย์ต่อพระอาจารย์มั่น รับเอาข้อวัตรปฏิบัติ ถือธุดงควัตรโดยเคร่งครัด กับได้ขอติดสอยห้อยตามท่านอาจารย์มั่นไปด้วย
แต่น่าสังเกตว่าสามเณรกว่าไม่ได้รวมอยู่ในผู้ที่ได้ไปฟังธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นด้วย คงด้วยเหตุที่เห็นว่าท่านยังเป็นเณรอายุเพียง ๑๖ ปี และเมื่อพระกู่ผู้เป็นพี่ชายได้ออกธุดงค์ติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปพร้อมด้วยพระอาจารย์ฝั้น และ อาญาครูดี สามเณรกว่าก็ไม่ได้ติดตามไปด้วย
ประวัติของพระอาจารย์กว่าในช่วงนี้ไม่มีแหล่งข้อมูลมากนัก แต่สันนิษฐานว่า เมื่อพระอาจารย์กู่ผู้เป็นพี่ชายได้ออกติดตามพระอาจารย์มั่นไปพร้อมกับพระอาจารย์ฝั้นและอาญาครูดี จนกระทั่งไปทันพระอาจารย์มั่นที่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน พระอาจารย์ทั้งสามได้ศึกษาธรรมอยู่กับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ ที่บ้านหนองดินดำแล้วไปหาพระอาจารย์สิงห์ ที่บ้านหนองหวาย ตำบลเดียวกัน ศึกษาธรรมอยู่กับท่านอีก ๗ วัน จากนั้นก็ได้กลับไปอยู่บ้านตาลเนิ้ง และได้ไปรับฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ ๆ
จากนั้นผู้เรียบเรียงเข้าใจว่า พระอาจารย์กู่ ท่านอาญาครูดีและท่านอาจารย์ฝั้นได้แยกกันออกธุดงค์เพื่อปฏิบัติธรรม ตามวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์มั่นที่มักจะไม่ชอบให้ศิษย์อยู่รวมกันเป็นหมู่มาก หรือ อยู่ติดที่ใดที่หนึ่งนานๆ
พระอาจารย์กู่นำสามเณรกว่ากราบพระอาจารย์มั่น
ท่านพระอาจารย์กู่น่าจะออกธุดงค์เพื่อปฏิบัติธรรมเช่นนั้นจนถึงระยะหนึ่งจึงได้กลับไปบ้านม่วงไข่ และได้นำสามเณรกว่าผู้น้องชายที่พำนักอยู่ที่วัดสิทธิบังคม ออกธุดงค์เพื่อติดตามพระอาจารย์มั่น เพื่อให้สามเณรน้องชายได้มีโอกาสพบและกราบพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และได้ไปทันพระอาจารย์มั่น ณ ที่ใดที่หนึ่งระหว่างทางที่พระอาจารย์มั่นธุดงค์ไปถ้ำผากูด อ.คำชะอี เพื่อไปกราบคารวะพระอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์และเยี่ยมโยมมารดาซึ่งบวชเป็นชี และพักอยู่ในบริเวณใกล้กับที่พระอาจารย์เสาร์จำพรรษาและไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านห้วยทราย กิ่งอำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบัน สถานที่นั้นเป็นวัดชื่อ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร) ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๖๔
บ้านห้วยทรายนี้เป็นบ้านเกิดของ พระอาจารย์จาม มหาปุญโญ ศิษย์พระอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่ง ซึ่งโยมบิดาและโยมมารดาของท่านได้พาท่านไปกราบพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่นตั้งแต่พระอาจารย์จามอายุ ๖ ปี เมื่อครั้งพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาที่ถ้ำผากูด ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ และอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๔๖๔ เมื่อท่านอายุได้ ๑๑ ปี ครั้งนี้ท่านยังจำได้ว่า แม่มะแง้ ผู้มารดาได้ทำแกงขนุนถวายพระป่าที่มาจำพรรษาอยู่ที่นั้น ซึ่งในจำนวนนี้มี พระกู่ ธัมมทินโน และสามเณรกว่ารวมอยู่ด้วย ต่อมาท่านได้กราบถวายตัวกับพระอาจารย์มั่นในปีพ.ศ. ๒๔๖๙ สุดท้ายท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทรายนี้ปี ๒๔๖๕ พระกู่ ธัมมทินโน และสามเณรกว่า


หัวข้อ: Re: พระอาจารย์ กว่า สุมมโน ศิษย์พระอาจารย์มั่น
เริ่มหัวข้อโดย: TeeSakon ที่ 09 พฤษภาคม 2556, 13:49:26
จำพรรษากับพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองลาด
ออกพรรษาปี ๒๔๖๔ จากบ้านห้วยทราย ท่านพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่นได้ธุดงค์มาพักที่ป่าริมหนองน้ำบาก ใกล้บ้านหนองลาด ต.หนองลาด อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร (ต่อมาเป็นวัด ชื่อว่า วัดป่าหนองบาก ต่อมาวัดได้ย้ายออกไป ๒ ก.ม. เปลี่ยนชื่อเป็น วัดป่าราษฎร์สามัคคี ส่วนบริเวณวัดเดิมกลายเป็นโรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านหนองลาดวิทยาคาร) พร้อมกับศิษย์กลุ่มใหญ่ และได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่นี้ในปี ๒๔๖๕ พระกู่ ธัมมทินโน และสามเณรกว่าก็จำพรรษาอยู่ด้วย
ออกพรรษาปี ๒๔๖๕ พระกู่ ธัมมทินโน และสามเณรกว่าก็ได้ติดตามท่านพระอาจารย์เสาร์และท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งได้ธุดงค์มาจำพรรษาปี ๒๔๖๖ ที่วัดป่ามหาชัย บ้านหนองบัวลำภู อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี (ปัจจุบันคือ จ.หนองบัวลำภู) เพื่อรับการอบรมธรรมปฏิบัติและข้อวัตรปฏิบัติ และในปีนี้พระกู่ ธัมมทินโน ผู้เป็นพี่ชายก็ ได้ญัตติเป็นพระภิกษุธรรมยุติกนิกาย โดยมีพระอดิศัยคุณาธาร (คำ อรโก) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ณ วัดมหาชัย ต. หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านพระอาจารย์มั่นได้มาพักจำพรรษา ที่เสนาสนะ วัดป่าบ้านค้อ (ปัจจุบันคือวัดป่าสาระวารี ม. ๓ บ้านค้อ ตำบลบ้านผือ อ.บ้านผือ อุดรธานี คนละวัดกับ วัดบ้านค้อ ม. ๗ บ้านค้อ ตำบลเขือน้ำ บ้านผือ อุดรธานี ซึ่งเป็นวัดที่พระอาจารย์ทูล ขิบปปัญโญสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘) ในปีนี้พระเทสก์ เทสรํสี ซึ่งเพิ่งบวชเป็นพรรษาแรก ได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม มากราบพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งแรก รวมทั้งพระอ่อน ญาณสิริก็ได้กราบถวายตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นในปีนี้เช่นกัน
พ.ศ. ๒๔๖๘ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นปีที่สามเณรกว่าอายุครบบวช ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายธรรมยุติ ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมี เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธโล) เมื่อยังเป็นพระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระรักและพระบุญเย็น เป็นพระกรรมวาจารย์ และก่อนหน้าที่พระอาจารย์กว่าจะอุปสมบทไม่กี่วัน พระอาจารย์ฝั้น ญาติสนิทของท่านก็ได้รับอนุญาตจากพระอาจารย์มั่นให้ญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุติกนิกายได้และได้ญัตติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่วัด และพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกันกับพระกว่าผู้น้องชายคือ เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นที่พระครูสังฆวุฒิกร แต่สำหรับพระอาจารย์ฝั้นมี พระรถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากนั้นพระอาจารย์ฝั้นและพระกว่า ก็เดินทางกลับไปหาพระอาจารย์มั่นที่วัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายและจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นเลย
พระอาจารย์ต่าง ๆ ที่ร่วมจำพรรษาในปีเดียวกันนั้น (พ.ศ. ๒๔๖๘) ได้แก่
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน
พระอาจารย์กว่า สุมโน
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ
พระอาจารย์สาร
และยังมีพระภิกษุสามเณรอีกรวมถึง ๑๖ รูป
เมื่อใกล้จะออกพรรษา พระอาจารย์มั่นได้ประชุมหมู่ศิษย์เพื่อเตรียมออกเที่ยวธุดงค์หาที่วิเวก และได้จัดหมู่ศิษย์ออกไปเป็นพวก ๆ โดยจัดพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นให้ไปเป็นชุดเดียวกัน เพราะเห็นว่ามีนิสัยต้องกันมาก นอกนั้นก็จัดเป็นชุด ๆ อีกหลายชุด ส่วนพระอาจารย์กว่าแหล่งข้อมูลไม่ได้กล่าวว่าท่านอยู่ในชุดใด แต่สันนิษฐานได้ว่าท่านคงอยู่ร่วมคณะพระอาจารย์กู่ ผู้เป็นพี่ชาย เช่นเดียวกับคณะที่ออกธุดงค์ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ตามที่จะกล่าวต่อไป
ก่อนออกธุดงค์ พระอาจารย์มั่นได้สั่งไว้ด้วยว่า แต่ละชุดให้เดินธุดงค์เลียบภูเขา ภาวนาวิเวกไปตามแนวภูเขานั้น และแต่ละชุดก็ไม่จำเป็นต้องเดินธุดงค์ไปด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทาง ท่านใดอยากไปพักวิเวก ณ ที่ใด เช่นตามถ้าซึ่งมีอยู่ตามทางก็ทำได้ เพียงแต่บอกเล่ากันให้ทราบ ในระหว่างพระภิกษุชุดเดียวกัน จะได้นัดหมายไปพบกันข้างหน้าเพื่อเดินธุดงค์ต่อไปได้อีก
ครั้นออกพรรษาแล้ว คณะพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ออกธุดงค์ โดยพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า และพระอาจารย์อ่อน ได้ธุดงค์แยกไปทางภูเขาพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ส่วนพระอาจารย์ฝั้น ออกไปทางบ้านนาบง ตำบลสามขา (ปัจจุบันเป็นตำบลกองนาง) อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โดยได้นัดหมายพบกันที่ พระพุทธบาทบัวบก แต่คณะพระอาจารย์กว่าก็ได้คลาดกันกับพระอาจารย์ฝั้นไม่ได้พบกันที่พระพุทธบาทบัวบกตามที่นัดกันไว้ ท่านจึงออกธุดงค์ต่อไปทางบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ เพื่อติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์มั่นออกเดินธุดงค์มาทางอำเภอสว่างแดนดิน จ.สกลนคร ไปที่ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และที่หนองลาดนี้เองที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้พบกับ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และ พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร 

ช่วงปลายชีวิตขององค์หลวงปู่
ในช่วงปลายชีวิตขององค์หลวงปู่ เข้าใจว่าท่านได้ย้ายจากสถานที่จำพรรษาที่บ้านนาหัวช้างมาอยู่ประจำที่วัดป่ากลางโนนภู่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เมื่อคราวหลวงปู่กู่ผู้เป็นพี่ชายอาพาธหนักอยู่ที่วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า โดยหลวงปู่กู่ผู้เป็นพี่ชายท่านได้อาพาธด้วยโรคฝีฝักบัวที่ต้นคอ ซึ่งเป็นโรคประจำตัวท่าน ซึ่งเคยเป็นแล้วก็หายไป ด้วยการที่ท่านอาศัยการปฏิบัติทางจิตเป็นเครื่องระงับ
ครั้นต่อมาในปี ๒๔๙๖ นี้หลวงปู่กู่ได้พิจารณาเห็นอาการป่วยนี้ว่า คงเป็นวิบากกรรม และคงไม่พ้นจากมรณภัยนี้ไปได้ ท่านจึงเร่งทำความเพียร มิได้ลดละในการปฏิบัติด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ตลอดพรรษา
เมื่อออกพรรษารับกฐินเสร็จแล้ว ท่านก็ได้ลาญาติโยมขึ้นไปปฏิบัติสมณกิจที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า ภูพาน ที่ท่านได้มาบูรณะต่อจากที่พระอาจารย์บุตรได้เริ่มเอาไว้ จนกาลล่วงมาได้ ๓ เดือนเศษ อาการโรคกลับกำเริบขึ้นอีก ญาติโยมได้อาราธนาให้ท่านกลับวัดเพื่อจัดแพทย์มาทำการรักษาพยาบาลให้เต็มที่ แต่ท่านไม่ยอมกลับ คงอาศัยอยู่ที่นั้นโดยมีพระอาจารย์กว่า สุมโน ผู้น้องชาย พระประสาน ขันติกโรและสามเณรหนูผู้เฝ้าปฏิบัติอย่างใกล้ชิด ได้เห็นท่านอาจารย์กู่นั่งสมาธิทำความสงบนิ่งอยู่ โดยมิได้หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อมรณะภัย และสิ้นลมหายใจในอิริยาบถที่นั่งสมาธิอย่างสงบ ณ ถ้ำนั้นเองในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๔๙๖
พระอาจารย์กว่าจึงได้ร่วมกับชาวบ้านเชิญศพของท่านบรรจุหีบนำมาไว้ที่วัดป่ากลางโนนภู่ เพื่อบำเพ็ญกุศลและในงานฌาปนกิจศพ ท่านพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้มาร่วมงานกันมากมาย อาทิเช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโปเป็นต้น
จากนั้นท่านจึงได้อยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่เป็นการถาวร เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๗ หลวงปู่ได้เข้าร่วมในพิธีอุปสมบท พระภิกษุสนธิ์ อนาลโย (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระราชภาวนาพินิจ แห่งวัดพุทธบูชา แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ) ณ พัทธสีมาวัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร โดยมี พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์, องค์ท่าน (พระอาจารย์กว่า สุมโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสนธิ์ ขนฺตยาคโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
        
ในช่วง ๔ ปีสุดท้ายของพระอาจารย์กว่า ได้มีการอนุญาตให้มีการออกวัตถุมงคล โดยรุ่นแรกได้ออกเหรียญที่ระลึกในงานกฐินวัดป่ากลางโนนภู่ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยโรงเรียนจ่าอากาศ ดอนเมืองสร้างถวาย เหรียญตอกโคด ?จ อ? ชื่อวัดในเหรียญใช้ชื่อว่า ?วัดป่าบ้านภู่? เป็นเหรียญรูปน้ำเต้า
ในปี ๒๕๑๗ ก็ได้ออกมา ๒ รุ่น รุ่นหนึ่งเพื่อเป็นที่ระลึกในงานกฐินวัดป่ากลางโนนภู่ ปี ๒๕๑๗ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๗ โดยโรงเรียนจ่าอากาศ ดอนเมืองสร้างถวาย เหรียญตอกโคด ?จ อ? ชื่อวัดในเหรียญใช้ชื่อว่า ?วัดป่าบ้านภู่? เป็นเหรียญรูปน้ำเต้า และอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อเป็นที่ระลึกในการสร้างธุดงคสถานน้ำตกกะอาง จ.นครนายก ชื่อวัดในเหรียญใช้ชื่อว่า ?วัดป่านาภู่? เป็นเหรียญรูปไข่
    
ในปี ๒๕๑๘ ได้ออกเป็นพระผงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อเป็นที่ระลึกในงานทอดกฐิน วันที่ ๙ พ.ย. ๒๕๑๘ โดยโรงเรียนจ่าอากาศ ดอนเมืองสร้างถวายและ
เหรียญสุดท้ายเป็นเหรียญกลม ไม่ระบุวันที่หรือปีที่สร้าง เป็นเหรียญที่ โรงเรียนจ่าอากาศ ดอนเมืองสร้างถวายอีกเช่นกัน ชื่อวัดในเหรียญใช้ชื่อว่า ?วัดป่ากลางโนนภู่? และมีข้อความบนเหรียญระบุว่า ?รุ่นหนึ่ง? ฝีมือการผลิตค่อนข้างประณีตกว่าเหรียญรูปน้ำเต้ามาก
ภายหลังจากงานกฐินปี ๒๕๑๘ ได้ ๒ เดือนเศษท่านก็มรณภาพ
มรณภาพ : ได้มรณภาพ ด้วยโรคหัวใจวาย ที่วัดป่ากลางโนนภู่ อำเภอพรรณานิคม เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ รวมอายุได้ ๗๒ ปี ๕๑ พรรษา
ภายหลังจากงานฌาปนกิจศพท่านแล้ว ก็ได้มีการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้เคียงคู่กับเจดีย์บรรจุอัฐิพระอาจารย์ กู่ ธัมมทินโน ผู้เป็นพี่ชาย ไว้ที่วัดป่ากลางบ้านโนนกู่