หัวข้อ: ย้อนตำนาน "กบฏผีบุญอีสาน" เริ่มหัวข้อโดย: chanatip ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555, 09:47:00 - เห็นว่าเกี่ยวกับจังหวัดอุบลของเรา -
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของ"ผีบุญ"ไว้ว่า ผู้อวดคุณวิเศษว่ามีฤทธิ์ทําได้ต่าง ๆ อย่างผีสางเทวดาให้คนหลงเชื่อ คำพูน บุญทวี เขียนในหนังสือ"เกร็ดประวัติอีสาน ผีบ้า ผีบุญ"ให้นิยาม "ผีบ้า ผีบุญ"ไว้ว่า คือ คนธรรมดาที่อวดอุตริเป็นผู้วิเศษ มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ นานา ทำการชักชวนผู้คนก่อกบฏกับรัฐที่เป็นศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ผีบุญ คนสุดท้าย นามว่า "นายมั่น" เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ2443 ในประวัติศาสตร์มี ผีบ้า ผีบุญ เกิดขึ้นทางภาคอีสานหลายคน แต่ถูกทางการปราบปรามราบคาบทุกคน ในหนังสือศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 สุวิทย์ ธีรศาศวัต ภาควิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขียนเกี่ยวกับเรื่อง "กบฏผีบุญ"หรือเรียกเต็มๆว่า "กบฏผู้มีบุญอีสาน" มีสาระสำคัญดังนี้ ภาคอีสานเป็นภาคที่มีกบฏผู้มีบุญมากกว่าทุกภาคของประเทศไทย นับตั้งแต่กบฏผู้มีบุญครั้งแรกใน พ.ศ. 2242 รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา จนถึง พ.ศ. 2502 มีกบฏผู้มีบุญเกิดขึ้นในภาคอีสานถึง 9 ครั้ง ในช่วงเวลา 260 ปี คือ 1. กบฏบุญกว้าง พ.ศ. 2242 2. กบฏเชียงแก้ว พ.ศ. 2334 (รัชกาลที่ 1) 3. กบฏสาเกียดโง้ง พ.ศ. 2360(รัชกาลที่ 2) 4. กบฏสามโบก ประมาณ พ.ศ. 2442-44 (รัชกาลที่ 5) 5. กบฏผู้มีบุญอีสาน พ.ศ. 2444-45(รัชกาลที่ 5) 6. กบฏหนองหมากแก้ว พ.ศ. 2467 (รัชกาลที่ 6) 7. กบฏหมอลำน้อยชาดา พ.ศ. 2479 (รัชกาลที่ 8) 8. กบฏหมอลำโสภา พลตรี พ.ศ. 2483 (รัชกาลที่ ๘) 9. กบฏศิลา วงศ์สิน พ.ศ. 2502(รัชกาลที่ 9) แต่กบฏผู้มีบุญอีสานที่ขยายความเชื่อได้กว้างขวางที่สุดคือ กบฏผู้มีบุญอีสาน พ.ศ. 2444-2445 โดยมีผู้ตั้งตัวเป็น "ผู้มีบุญ" ถึง 60 คน กระจายอยู่ถึง 13จังหวัด คือ อุบลราชธานี 14 คน ศรีสะเกษ 12คน มหาสารคาม 10 คน นครราชสีมา 5 คน กาฬสินธุ์ สุรินทร์ จังหวัดละ 4 คน ร้อยเอ็ด สกลนคร จังหวัดละ 3 คน ขอนแก่น นครพนม อุดรธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 คน เพราะเหตุใดการกบฏจึงขยายออกไปทั้งเกือบทุกจังหวัดของภาคอีสาน มากกว่ากบฏผีบุญทุกครั้ง พวกกบฏผู้มีบุญน่าจะมีวิธีการขยายความเชื่อเพื่อถึงคนเข้ามาร่วมให้มากที่สุด ความหมายของกบฏผู้มีบุญ กบฏโดยทั่วไป หมายถึงกลุ่มคนที่คิดและกระทำการต่อต้านล้มล้างอำนาจรัฐด้วยกำลัง เช่น กบฏเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ. 2369-2371) กบฏปัตตานี (พ.ศ. 2332) กบฏไทรบุรี (พ.ศ. 2364,2373-75,2381-2382 ) แต่กบฏผู้มีบุญ หัวหน้ากบฏหรือกลุ่มผู้นำฝ่ายกบฏตั้งตัวเป็นผู้มีบุญหรือผู้วิเศษ เช่น เป็นพระศรีอริยเมตไตรย หรือพระศรีอาริย์ ซึ่งตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเชื่อว่า เป็นพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต เมื่อมีคนมาเชื่อเข้าเป็นสมาชิกหรือสานุศิษย์มากพอก็ใช้กำลังโจมตียึดเมือง เพื่อตั้งกลุ่มของตนเข้าปกครองแทน แต่หลายกลุ่มยังไม่โจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ก็ถูกปราบปรามเสียก่อน เช่น ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2444(2445) กลุ่มพระแสงตั้งตัวเป็นพระโพธิสัตว์ นายธรรมาตั้งตัวเป็นท้าวอินแปลง นายสาเป็นท้าวสีโห นายหลักเป็นพระยาธรรมิกราช นายบัวลาเป็นพระเกตุสัตฐา มีราษฎร 160 คน บ้านบาหาด เมืองมหาสารคามเข้ามาเป็นพวก พอเจ้าหน้าที่จับกลุ่มผู้นำบางคนไปขัง ผู้นำที่เหลือพาราษฎร 160 คน มาแย่งตัวผู้ต้องหาหลบหนีไป กลุ่มกบฏก็สลายตัว สาเหตุของกบฏผู้มีบุญอีสาน พ.ศ. 2444-2445 สาเหตุของกบฏผู้มีบุญครั้งนี้ มิได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เกิดจากสาเหตุหลายอย่างประกอบกัน จากเอกสารเป็นจำนวนมาก พอสรุปได้ดังนี้ 1. สาเหตุทางการเมือง อาจจำแนกได้ 2 ประการ คือ การเมืองภายนอกประเทศ ได้แก่ การขยายอำนาจอย่างน่ากลัวของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสสู่อินโดจีน ยึดเวียดนามใต้ไปปกครอง ต่อมาก็เข้ามายึดเขมรซึ่งเป็นประเทศราชของไทยในปลายสมัยรัชกาลที่4 (2410) ต่อมาก็ยึดสิบสองจุไทยในพ.ศ. 2431 สมัยรัชกาลที่ 5 และที่รุนแรงมากคือ ยึดฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (คือประเทศลาวในปัจจุบัน) ใน พ.ศ. 2436 หลังจากนั้นจากช่องโหว่ของสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ฉบับ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 ซึ่งฝรั่งเศสสร้างขึ้น เพื่อจงใจที่จะขยายอำนาจเข้ามาในภาคอีสาน ทำให้ไทยไม่สามารถมีกำลังทหารในเขตรัศมี 25 กิโลเมตรทางฝั่งขวา แม้กระทั่งจะเก็บภาษีในพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ได้ นอกจากนี้ข้าราชการฝรั่งเศสและเอเย่นต์ฝรั่งเศสยังใช้กำลังข่มเหงคนไทยและข้าราชการไทยในภาคอีสานที่อยู่ในเขต 25 กิโลเมตรด้วย ต่อมาก็เกิดข่าวลือว่า "ผู้มีบุญจะมาแต่ตะวันออก เจ้าเก่าหมดอำนาจ ศาสนาก็สิ้นแล้ว...บัดนี้ฝรั่งเศสเข้าไปเต็มกรุงเทพฯ แล้ว กรุงจะเสียแก่ฝรั่งเศสแล้ว" อำนาจที่ถดถอยลงของรัฐบาลไทยในสายตาของชาวอีสานจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะรวมพลังกันต่อต้านจึงได้เกิดขึ้น ส่วนประเด็นสาเหตุจากภายในก็คือ การปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ระบบการปกครองกระชับ ส่วนกลางสามารถควบคุมหัวเมืองได้เต็มที่ โดยการส่งข้าหลวงใหญ่และข้าราชการเป็นจำนวนมากมาทำงานในภาคอีสาน ทำให้ขุนนางท้องถิ่นไม่พอใจ ยิ่งส่วนกลางส่งคนมาเก็บภาษีต่างๆ โดยตรง ยิ่งทำให้ขุนนางท้องถิ่นไม่พอใจยิ่งขึ้น เพราะผลประโยชน์ที่เคยได้รับลดลงมาก เช่น ภาษีส่วย หรือเรียกในตอนนั้นว่า "เงินข้าราชการ" ซึ่งชายฉกรรจ์อีสานจะต้องเสียคนละ 4 บาท ขุนนางท้องถิ่น 7-8 ตำแหน่ง ได้รับรวมกันเพียง 55 สตางค์ หรือร้อยละ 13.67 เท่านั้น ส่วนกลางได้รับถึง 3.45 บาท หรือร้อยละ 86.33 2..สาเหตุด้านสังคมเศรษฐกิจ ประเด็นที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวอีสานเป็นอันมาก คือ ภาษีส่วยหรือเงินข้าราชการที่เก็บจากชายฉกรรจ์คนละ 4 บาท (มูลค่าปัจจุบันประมาณ 3,500-4,000 บาท) ที่เดือดร้อนเพราะคนอีสานสมัยนั้นเกือบทั้งหมดมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เพราะผลิตปัจจัยสี่ได้เอง อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง มีแต่คนที่อยู่ในเมืองซึ่งมีจำนวนน้อยมากที่ต้องใช้เงิน ชายฉกรรจ์อีสานในชนบทจึงลำบากมากในการหาเงินมาเสียภาษีส่วย 4 บาท เช่น ผู้เฒ่าคนหนึ่งอายุเกือบ100 ปี ให้สัมภาษณ์ผู้เขียนเมื่อ 23 ปีที่แล้วว่า ท่านต้องหาบไก่ 16 ตัว เดินทาง140กิโลเมตร จากอำเภอมัญจาคีรี เอาไปขายที่ตลาดเมืองโคราชตัวละ 1 สลึง ได้เงินมาเสียภาษีส่วย 4 บาทดังกล่าว สำหรับคนไม่มีเงินเสียภาษีดังกล่าวก็ถูกเกณฑ์ไปทำงานโยธา 15 วัน เช่น ขุดสระน้ำ (เช่น บึงผลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด) สร้างถนน สนามบิน ถางหญ้าข้างศาล เป็นต้น ประกอบกับช่วงก่อนเกิดกบฏผู้มีบุญเกิดฝนแล้งในมณฑลอีสานติดต่อกัน 2-3 ปี ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับชาวอีสาน เมื่อมีคนมาปลุกระดมในรูปหมอลำ ทำให้ชาวอีสานเกิดความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น (นักการเมืองไทยปัจจุบันก็ทำอย่างนี้) จึงมีชาวอีสานเป็นจำนวนมากเชื่อตาม บางส่วนก็เข้าร่วมกระบวนการไปเลย เป้าหมายของฝ่ายกบฏผู้มีบุญ เมื่อพูดถึงเป้าหมายของฝ่ายกบฏต้องพิจารณาว่าเป้าหมายของใคร เพราะฝ่ายกบฏมีหลายกลุ่มและหลายระดับ หากพิจารณาในกลุ่มผู้นำ อาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มองค์มั่นซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจมากที่สุด มีเขตอิทธิพลอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และบางส่วนของมุกดาหารและลาวใต้ริมแม่น้ำโขงฝั่งซ้ายในปัจจุบัน กลุ่มนี้มีเป้าหมายชัดเจนมากคือขับไล่อำนาจของไทยออกไป โดยเฉพาะการยึดเมืองอุบลราชธานีศูนย์กลางอำนาจของไทยในอีสานตะวันออกแล้วตั้งรัฐขึ้นมาใหม่ โดยจะให้องค์มั่นปกครองอยู่ที่เวียงจันทน์ สมเด็จลุนวัดบานไชยปกครองที่อุบลราชธานี องค์เล็ก (เหล็ก) บ้านหนองซำปกครองที่หนองโสน (เมืองอยุธยา) องค์พระบาทและองค์คุธปกครองที่พระธาตุพนม ส่วนลาวใต้ด้านฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ถ้าขับไล่ฝรั่งเศสออกไปได้ องค์แก้วและองค์กมมะดำ (ผู้นำชาวข่า) จะเป็นผู้ปกครอง ส่วนกลุ่มบุญจัน ลูกเจ้าเมืองขุขันธ์คนก่อนและเป็นน้องชายพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ในขณะนั้น มีเป้าหมายอยู่ที่การยึดเมืองขุขันธ์ เพื่อตั้งตนจะได้เป็นเจ้าเมือง ส่วนผู้นำกบฏกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ เป้าหมายไม่ชัดเจน เช่น กบฏผู้มีบุญบ้านมาย เมืองสกลนคร กลุ่มจารย์เข้มตั้งตัวเป็น "ท้าววิษณุกรรมเทวบุตร" ไม่มีหลักฐานว่าจะล้มล้างหรือต่อต้านอำนาจรัฐ แต่บทบาทที่เขาทำอยู่คือ รดน้ำมนต์และรักษาคนป่วย กบฏผู้มีบุญเมืองกาฬสินธุ์ กลุ่มยายหย่า ยายหยอง อ้างตัวว่าเป็นพระศรีอริยเมตไตรยกลับชาติมาเกิด ก็ไม่มีหลักฐานว่าต่อต้านอำนาจรัฐ หรือเป้าหมายทางการเมืองแต่อย่างใด บทบาทที่ทำอยู่คือ ความสามารถในการทำพิธีเสี่ยงทายและให้โชคลาภแก่ผู้ที่มาขอเสี่ยงทายได้ ส่วนในระดับชาวบ้านเข้าไปร่วมกับฝ่ายกบฏด้วยเหตุผลต่างๆ กัน เช่น อยากเห็นสังคมใหม่ที่อุดมสมบูรณ์บ้าง ต้องการให้ผู้มีบุญเสกกรวดให้เป็นทองบ้าง บ้างก็เข้าไปร่วมเพราะศรัทธาในผู้มีบุญ โดยไม่ทราบว่าเป้าหมายของผู้มีบุญคืออะไร ผู้มีบุญจะพาไปไหน คนที่เข้าไปร่วมกลุ่มผู้มีบุญมีน้อยกว่าคนที่แตกตื่นในคำพยากรณ์และข่าวลือ ซึ่งในเอกสารชั้นต้นระบุว่า "มณฑลอีสานกำลังตื่นผู้มีบุญทุกแห่งทุกตำบล" "ราษฎรทุกเมืองในมณฑลอุดรพากันแตกตื่นฦาว่าผู้มีบุญ" ในอีสานใต้ข่าวลือเรื่องผู้มีบุญขยายทั่วจากมณฑลอีสานถึงมณฑลนครราชสีมา(๑๕) วิธีการของฝ่ายกบฏผู้มีบุญ สำหรับวิธีการของผู้มีบุญส่วนใหญ่ที่ใช้เพื่อระดมผู้คนจนหลายแห่งได้คนมากพอที่จะต่อต้านอำนาจรัฐ แต่หลายแห่งก็ถูกปราบลงเสียก่อนที่จะต่อต้านอำนาจรัฐ สรุปได้ดังนี้ 1.การปล่อยข่าวลือ คำพยากรณ์ ผู้ปล่อยข่าวคือหมอลำและผู้ที่ต่อมาประกาศตัวเป็นผู้มีบุญกับชาวบ้านที่ได้ฟังแล้วบอกต่อ หมอลำเป็นผู้ที่สร้างความบันเทิงให้กับชาวอีสานมานานมากเหมือนกับนักร้องในปัจจุบัน แต่หมอลำทำได้มากกว่านักร้อง เพราะเนื้อหาหรือตัวสาระที่ถูกส่งผ่านไปถึงผู้ฟังไม่ใช่มีแต่การเกี้ยวพาราสีความรัก หรือนิทานสนุกๆ เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ยากของชาวอีสาน โจมตีคนไทยว่าใจร้ายและสาปแช่งคนไทยให้ตาย ("ฝูงไทยใจฮ้าย ตายสิ้นบ่หลอ") หรือไม่ก็ปลุกระดมไล่คนไทย "ไล่ไทยเอาดินคืนมา...ฆ่าไทยเสียให้หมด" ซึ่งเนื้อหาสาระเหล่านี้ เป็นสิ่งปลุกสำนึกให้ชาวอีสานบางส่วนต่อต้านอำนาจรัฐและเกิดความหวังว่าจะมีสังคมใหม่ที่ดีกว่าสังคมที่เขาเป็นอยู่ในขณะนั้น เนื่องจากการแตกตื่นต่อคำพยากรณ์ไปทั้งภาคอีสาน ทางการไทยจึงให้พระยาสุรเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิไชย ข้าหลวงพิเศษช่วยตรวจราชการระงับปราบปรามผู้ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษหรือผู้มีบุญในมณฑลอีสาน รวบรวมข่าวลือ หรือคำพยากรณ์ต่างๆ โดยสอบถามจากผู้ใหญ่บ้านและราษฎรตามระยะทางจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี คำเล่าลือที่กล่าวมานี้ ไม่เพียงแต่เล่าลือกันต่อๆ ไปในวงกว้างเท่านั้น แต่มีคนจำนวนมากเชื่อคำเล่าลือด้วย ที่ศรีสะเกษราษฎรตื่นเต้นในข้อที่ว่า เงินทองจะกลายเป็นเหล็ก จึงเที่ยวซื้อสิ่งของเกือบทั้งเมืองโดยไม่ต่อราคาแต่อย่างใด เงินที่เหลือก็โยนทิ้งและให้พ่อค้าจีนไปทั้งหมด ทำให้พ่อค้าจีนร่ำรวยไปตามๆ กัน เพราะราษฎรพากันเชื่อว่า "ถ้าเอาเงินไว้เมื่อเงินกลายเป็นเหล็กแล้ว กรวดแร่ที่เก็บมาบูชาก็จะกลายเป็นทอง" ความเชื่อเช่นนี้ปรากฏแทบทุกแห่ง ราษฎรพากันเก็บกรวดแร่บูชาแทบทุกบ้านทุกเมือง "จากอุบลฯ ถึงสังฆะ พลอยเป็นบ้าไปตาม พูดแต่เรื่องผีบุญไม่ขาดวัน ไปถึงบ้านใดตำบลใด ผู้ใดมาถามไม่ว่าหญิงชาย เด็กผู้ใหญ่ จนถึงผู้ว่าราชการบ้านเมือง ก็มาถามแต่เรื่องนักบุญ...ทรงทราบข่าวถึงมณฑลนครราชสีมา" บางแห่งนับตั้งแต่ราษฎรไปจนถึงข้าราชการตื่นข่าวเรื่องผีบุญมากจนไม่ทำงาน บางแห่งข้าวในนาก็ไม่เกี่ยว ให้โคกระบือกินเสียเปล่า ไร่สวนที่อ้อยพากันละทิ้งโดยมาก(๒๐) เพราะคิดว่าจะรวยกันแล้วด้วยวิธีง่ายกว่าคือ เก็บกรวดมาบูชาให้กลายเป็นเงินทอง หลายแห่งหญิงสาวที่เชื่อคำเล่าลือ ยอมเสียเงินให้หญิงที่มีสามีเพื่อซื้อสามี เพราะกลัวว่าหากไม่มีสามีจะถูกยักษ์กิน จะเห็นว่าข่าวลือดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวเภทภัยที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือและกลุ่มผู้มีบุญเกิดขึ้นมากมายหลายกลุ่ม เพื่อจะช่วยทำให้ชาวบ้านเกิดความหวังขึ้นมาว่าท้าวธรรมิกราชหรือผู้มีบุญจะมาช่วยปลดเปลื้องเภทภัยและความทุกข์ยาก 2. มีการใช้พิธีกรรม เพื่อสร้างความศรัทธาในตัวผู้มีบุญและช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ของชาวบ้าน หรือไม่ก็สร้างความหวังให้กับชาวบ้าน เช่น การรดน้ำมนต์พร้อมเสกเป่าคาถา ทำโดยพระและผู้มีบุญ ที่เมืองยโสธร พระครูอิน วัดบ้านหนองอีตุ้ม พระครูวิมล วัดอัมพวัน และครูอนันตนิคามเขต วัดสิงห์ท่า เป็นผู้ทำพิธีตัดกรรมจองเวร ด้วยการรดน้ำมนต์เสกเป่าล้างบาปกรรมความชั่วต่างๆ และเอาเงินที่ชาวบ้านถวายมาบูชาพระธาตุคำบุ พิธีกรรมดังกล่าว ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการล้างบาป ทำให้ตัวบริสุทธิ์เพื่อรอคอยเจ้าผู้บุญ หลายแห่งมีพิธีกรรมเกี่ยวกับหินแฮ่ ชาวบ้านหลายพื้นที่เชื่อว่ามีหินแฮ่จะกลายเป็นเงินทอง เช่น ที่บ้านหัวขัว อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กุดแฮ่ อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี พระธาตุคำบุ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร บ้านหนองซำ อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ชาวบ้านพากันไปเก็บหินแฮ่ในที่ดังกล่าวเอามาล้าง เอาของหอมลงใส่หม้อมีผ้าขาวปิดเอาไว้บนหิ้ง ก่อนบูชาทำพิธีบายศรีสู่ขวัญหินแฮ่เสียก่อน ทำพิธีสู่ขวัญเสร็จก็ต้องว่าคาถาสำหรับบูชาหินแฮ่อีก นอกจากนั้นยังมีข้อห้ามมิให้นำควายเขาตู้เข้ามาไว้ใต้ถุนเรือน ห้ามกล่าวคำหยาบทั้งเวลาที่ไปเก็บหินแฮ่และเวลาเอาหินแฮ่มาเก็บไว้ในเรือน มิฉะนั้นหินแฮ่ก็จะไม่กลายเป็นเงินทอง 3. การขยายความเชื่อ และเพิ่มจำนวนคนที่เชื่อเรื่องผู้มีบุญด้วยการคัดลอกคำพยากรณ์ซึ่งปรากฏในรูปของหนังสือผู้มีบุญ หนังสือท้าวพระยาธรรมิกราช หนังสือพระยาอินทร์ และตำนานพื้นเมืองกรุง ซึ่งการคัดลอกคำพยากรณ์ดังกล่าวนี้ก็คือวิธีการของจดหมายลูกโซ่ ในปัจจุบันนั่นเอง การปราบปรามกบฏของรัฐบาล เนื่องจากมีกบฏผู้มีบุญเกิดขึ้นหลายแห่งในภาคอีสาน ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะกลุ่มที่สำคัญๆ เพียง 3 กลุ่มโดยสังเขป 1.กบฏกลุ่มบุญจันเมืองขุขันธ์ กลุ่มนี้เป็นกบฏผู้มีบุญอีสานที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกที่มาเข้าร่วมถึง 6,000 คน หัวหน้ากบฏชื่อบุญจัน เป็นบุตรเจ้าเมืองขุขันธ์คนก่อนและเป็นน้องชายของผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ในขณะนั้น เขาไม่ถูกกับพี่ชายในเรื่องตำแหน่งเจ้าเมืองมากกว่าสาเหตุอื่น ได้ตั้งตัวเป็นผู้มีบุญซ่องสุมกำลังอยู่ที่ภูฝ้าย ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน การก่อตัวของกบฏกลุ่มนี้ทำให้กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสานทรงวิตกกังวลมาก เพราะข่าวการก่อตัวของกบฏผู้มีบุญที่รายงานเข้ามามีหลายที่ แต่กลุ่มนี้ดูจะน่าเกรงขามกว่ากลุ่มอื่น เพราะมีกำลังมาก พระองค์ทรงรีบโทรเลขถวายรายงานให้รัชกาลที่ 5ทรงทราบโดยในทางกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โทรเลขฉบับนั้นทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงเรียกประชุมเสนาบดีเป็นการด่วนและประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องกบฏผู้มีบุญอีสานถึง 2 วัน คือ ในวันที่ 27 และ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 (นับอย่างปัจจุบัน 2445) ที่ประชุมมีมติให้กรมยุทธนาธิการสั่งทหารพร้อมอาวุธครบมือ 100 คนไปปราบกบฏผู้มีบุญเมืองขุขันธ์ และให้ทหารโคราชอีก 200 คน เตรียมพร้อม แต่ก่อนที่กองทหารจากโคราชจะไปถึง กองทหารลาดตระเวนส่วนหน้าที่กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทรงส่งไปสมทบกับกำลังจากเมืองขุขันธ์รวมกันไม่เกิน 50 คน มีร้อยเอกสาย ธรรมานนท์ (ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพลโท พระยาฤทธิเกรียงไกรหาญ) เป็นผู้บังคับบัญชา ได้เกิดปะทะกับกองระวังหน้าของฝ่ายกบฏในวันที่ 11 และ 13 มีนาคม พ.ศ. 2444 (2445) ผลการปะทะกัน บุญจันและลูกน้องถูกยิงตายประมาณ 10 คน ที่เหลือพากันแตกหนีไป บุญจันและลูกน้องถูกตัดศีรษะเอามาเสียบประจานที่เมืองขุขันธ์ เพื่อให้คนทั้งหลายเห็นว่าบุญจันไม่ใช่ผู้วิเศษและเป็นการปรามมิให้ราษฎรก่อการกบฏขึ้นมาอีก 2. กบฏกลุ่มองค์มั่น เป็นกบฏผู้มีบุญอีสานที่โด่งดังที่สุด เพราะมีความเข้มแข็งมากที่สุดถึงขนาดเคลื่อนทัพหมายจะเข้ายึดเมืองอุบลราชธานีซึ่งเป็นกองบัญชาการมณฑลอีสานจนเกิดปะทะกัน ฝ่ายกบฏล้มตายมากมาย หัวหน้ากบฏคือองค์มั่น บ้านกะจีน แขวงโขงเจียม ตอนนั้นขึ้นกับเมืองเขมราฐ เขาได้ตั้งตัวเป็นองค์ปราสาททองหรือพระยาธรรมิกราชมีคนนับถือมากทั้ง 2 ฝั่งโขง เขาได้ร่วมมือกับองค์แก้วผู้นำกบฏผู้มีบุญด้านฝั่งซ้ายที่ตั้งตัวต่อต้านอำนาจฝรั่งเศสร่วมกับองค์ยี่หรือพ่อกระดวด ผู้นำกบฏที่สำคัญมากในพื้นที่ลาวใต้ของฝรั่งเศส(๓๐) นอกจากองค์มั่นแล้วยังมีผู้นำรองๆ อีก 5 คน เป็นแกนนำ คือ องค์เขียว องค์ลิ้นก่าน องค์พระบาท องค์พระเมตไตร และองค์เหลือง ฝ่ายกบฏได้ปลุกระดมราษฎรทั้ง ๒ ฝั่งโขง ในฝั่งขวา (คือฝั่งอีสาน) ได้กำลังจากอำเภอโขงเจียม อำเภอตระการพืชผล ในที่สุด ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2444 ฝ่ายกบฏได้เข้ายึดเมืองเขมราฐ จับเจ้าเมืองไว้เป็นตัวประกันและเป็นเครื่องมือแห่แหนให้คนเข้าเป็นพวก แต่ฆ่าท้าวกุลบุตร ท้าวโพธิสาร กรมการเมืองที่ไม่ยอมเข้ากับฝ่ายกบฏ ตอนนี้กำลังของกลุ่มองค์มั่นเพิ่มจาก200 เป็น 5000 คน และได้เผาเมืองเขมราฐ ปล่อยนักโทษจากคุก แล้วเคลื่อนกำลังมุ่งตรงมายังเมืองอุบลราชธานี มาตั้งทัพระดมพลอีกครั้งที่บ้านสะพือใหญ่ อำเภอตระการพืชผล ถึงตอนนี้มีคนมาเข้ากับองค์มั่น 2,500 คน แต่อาวุธไม่ทันสมัย มีปืนคาบศิลา ปืนแก๊ป มีดพร้า ฝ่ายกบฏได้สะสมเสบียงอาหารด้วย ฝ่ายกบฏได้ฆ่านายอำเภอพนานิคมซึ่งไม่ยอมเข้ากับฝ่ายกบฏด้วย กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ทรงได้รับข่าวการก่อกบฏหลายแห่ง จึงทรงแบ่งกำลังเป็น 5 สาย สายละ 6-15 คน ออกไปลาดตระเวน ปรากฏว่า 2 ใน 5สาย ได้เกิดการปะทะกับกองลาดตระเวนของกลุ่มองค์มั่น โดยสายที่ 4 ซึ่งมีร้อยตรีหลี กับทหาร รวม 15 คน ถูกฝ่ายกบฏฆ่าตาย 11 คน ที่หนองขุหลุ ตำบลขุหลุ ทางใต้ของอำเภอตระการพืชผล สายที่ 5 มีทหาร 12 คน นำโดยร้อยเอก หม่อมราชวงศ์ร้าย ปะทะกับฝ่ายกบฏที่บ้านนาสมัย ตำบลนาสะไม ทางตะวันตกของอำเภอตระการพืชผล สู้กำลังฝ่ายกบฏไม่ได้แตกหนีมา ความพ่ายแพ้ 2 ครั้งติดๆ กัน ทำให้ฝ่ายกบฏมีกำลังใจดีขึ้นมาก มีคนเข้ามาร่วมเพิ่มอีก(๓๒) ความพ่ายแพ้ของกองลาดตระเวนทำให้กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทรงตัดสินพระทัยส่งกองกำลังขนาดใหญ่พร้อมอาวุธหนักคือ ปืนใหญ่สมัยใหม่ 2กระบอก มีร้อยเอก หลวงชิตสรการ (จิตร มัธยมจันทร์) ผู้บังคับกองทหารปืนใหญ่กับทหาร100 คน และมีกำลังจากขุนนางเมืองอุบลอีกหลายร้อยคน กำลังของฝ่ายรัฐบาลยกไปถึงชายเขตของบ้านสะพือใหญ่ ในเย็นวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2445 แล้วนำปืนใหญ่ซุ่มไว้ในป่า กับแบ่งกำลังซุ่มไว้ในป่า 2ด้าน เปิดตรงกลางเอาไว้ การรบเกิดขึ้นในตอน 9 โมง ของวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2445 ฝ่ายกบฏได้เคลื่อนเข้าตีฝ่ายรัฐบาล ทหารฝ่ายรัฐบาลใช้ทหารปืนเล็ก 1 หมวดทำทีเป็นยิงต่อต้านเล็กน้อย แล้วแกล้งถอย แล้วยิงปืนใหญ่ข้ามกำลังของฝ่ายกบฏไป 1 นัด ฝ่ายกบฏดีใจที่กระสุนปืนใหญ่มิได้ทำอันตรายฝ่ายตน จึงเคลื่อนทัพตรงมาข้างหน้า คราวนี้ปืนใหญ่ยิงนัดที่ 2-3 ตกตรงกลางกลุ่มกบฏล้มตายเป็นอันมากที่เหลือแตกหนีไป 2 ข้างก็ถูกทหารปืนเล็กระดมยิง ฝ่ายกบฏตายไป200-300 คน บาดเจ็บ 500 กว่าคน องค์มั่นปลอมตัวเป็นชาวบ้านหนีข้ามไปฝั่งซ้ายได้สำเร็จ แต่ลูกน้องประมาณ 400 คน ถูกจับมาขังไว้ที่เมืองอุบลราชธานี ฝ่ายกบฏถูกศาลตัดสินลงโทษแตกต่างกันไปตามบทบาท พวกที่ถูกเรียกว่า "องค์" ถูกประหารชีวิต ที่เหลือก็ถูกจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึงตลอดชีวิต 3. กบฏกลุ่มจารย์เข้ม บ้านมาย อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ผู้นำกบฏกลุ่มน้อยๆ นี้ ชื่อจารย์เข้ม เป็นคนอุบล แต่มาบวชเรียนเป็นพระที่วัดเจริญบำรุง บ้านมาย และยังธุดงค์ไปเรียนวิชาจากพระที่หนองคายและเพชรบูรณ์อีกหลายสำนัก แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดเจริญบำรุง ชาวบ้านเคารพนับถือท่านมาก เมื่อมีข่าวเรื่องผู้มีบุญ จารย์เข้มได้เดินทางไปที่บ้านหนองซำ เมืองเสลภูมิ ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่ามีหินแฮ่ เป็นหินพิเศษ หากใครนำไปบูชา เมื่อผู้มีบุญมาโปรด จะเสกหินเหล่านี้ให้เป็นเงินเป็นทองได้ หลังจากกลับจากบ้านหนองซำ จารย์เข้มได้ลาสิกขาเป็นฆราวาส รับประทานอาหารมื้อเดียว รับประทานแต่ผัก นุ่งขาวห่มขาว ตั้งตัวเป็นท้าววิษณุกรรมเทวบุตร มีชาวบ้านนับถือมาก มาขอน้ำมนต์บ้าง ให้เป่าหัว ปัดเป่าความเจ็บไข้บ้าง กลางวันมีคนขอให้เป่า วันละประมาณ ๑๐๐ คน กลางคืนประมาณ ๗๐๐ คน มีผู้คนจากอุดรธานี หนองคาย และสกลนคร หลายอำเภอเดินทางมาหาจารย์เข้ม ต่อมาในหมู่บ้านก็เกิดผู้ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษอีกคน ชื่อ ทิดรัน ตั้งตัวเป็นฤาษีตาไฟ ทิดรันประกาศว่า เขาฝังไม้เท้ากายสิทธิ์ไว้ในที่ของตน ไม้เท้านี้กกชี้ตาย ปลายชี้เป็น จารย์เข้มไม่เชื่อ จึงเกิดการท้าทายกันขึ้นระหว่างผู้วิเศษทั้งสองว่า ถ้าทิดรันหาไม้เท้ากายสิทธิ์ไม่พบจะให้จารย์เข้มตัดคอ ถ้าพบจารย์เข้มจะยอมให้ทิดรันตัดคอเช่นเดียวกัน เมื่อถึงเวลานัดทิดรันไม่สามารถหาไม้เท้ากายสิทธิ์มาได้ จารย์เข้มจึงตัดคอทิดรันตรงที่นาริมวัด โดยบอกชาวบ้านว่าถ้าไม่ตัดคอ ทิดรันจะกลายเป็นยักษ์เที่ยวกินชาวบ้าน เมื่อทางการทราบเรื่องการฆ่าทิดรันจึงส่งกำลังเจ้าหน้าที่มาจับจารย์เข้มกับสานุศิษย์ ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2445เจ้าหน้าที่ได้ยิงจารย์เข้ม สานุศิษย์และชาวบ้านราว 100 คน ขณะที่จารย์เข้มนั่งภาวนาแกว่งเทียนไปมา และบอกกับชาวบ้านว่า อาวุธของเจ้าหน้าที่จะไม่เป็นอันตราย แต่จะกลับไปถูกเจ้าหน้าที่เอง แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้ยิงจารย์เข้มกับชาวบ้านตายถึง 48 คน แล้วเอาศพโยนลงบ่อน้ำแล้วกลบบ่อนั้นเสีย ส่วนลูกศิษย์ที่จับไปขังไว้ที่มณฑลอุดร ก็ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา เพราะไม่ได้ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ สรุป กบฏผู้มีบุญอีสาน 2444-2445 เกิดขึ้นเพราะราษฎรไม่พอใจการเก็บภาษีส่วยจากชายฉกรรจ์คนละ 4 บาท มิหนำซ้ำมาเกิดภัยแล้งติดต่อกัน 2-3 ปี ส่วนขุนนางท้องถิ่นไม่พอใจการปฏิรูปการปกครองที่เอาอำนาจไปจากพวกเขาแล้วยังเอาผลประโยชน์ คือ ภาษีที่เขาเคยได้ส่วนแบ่งมากไปจากพวกเขาด้วย ประกอบกับการคุกคามจากฝรั่งเศส ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายไปทั้งหมด และเสียอธิปไตยบางส่วนในเขต 25 กิโลเมตร แล้วยังมีข่าวลือว่า ฝรั่งเข้ามายึดกรุงเทพฯ พวกกบฏได้ใช้วิธีการขยายความเชื่อ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมกระบวนการหลายอย่าง ทั้งใช้หมอลำ การบอกต่อ แต่ที่น่าทึ่งมาก การใช้ "จดหมายลูกโซ่" คัดลอก "คำพยากรณ์" ต่อๆ กันไป ทำให้กบฏขยายตัวอย่างกว้างขวางถึง 13 จังหวัด แต่ด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่า ของรัฐบาลไทยจึงสามารถปราบปรามลงอย่างรวดเร็ว ภายใน 2 เดือน โดยฝ่ายรัฐบาลสูญเสียกำลังเพียงเล็กน้อย หลังกบฏครั้งนั้นรัฐบาลไทยได้ให้ความสนใจในการพัฒนาภาคอีสาน โดยเริ่มจากการปฏิรูปการศึกษา พัฒนาการเกษตร และสร้างตำรวจภูธรขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ที่มา มติชน ขอให้มีสติมีปัญญา อย่าบื้อบ้าบอดใบ้ไร้สมอง รู้ผิดชอบดีงามตามครรลอง รู้ทำนองคลองธรรมคอยย้ำเตือน ขอน้ำมนต์จากกูผู้ศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์เกริกไกรกว่าใครเหมือน เคยลุ่มหลงงมงายคล้ายฟั่นเฟือน สติเยือนคืนกลับมาดั่งว่าพลัน ที่เชื่อถือตลอดมาประสาซื่อ พึงรู้คืออวิชชาที่น่าขัน โอม งึมงำ-งึมงำ ไปวันวัน กูยังขันตัวกูอยู่ไม่รู้วาย หัวข้อ: Re: ย้อนตำนาน "กบฏผีบุญอีสาน" เริ่มหัวข้อโดย: meedee ที่ 12 สิงหาคม 2556, 07:32:49 http://www.youtube.com/watch?v=yRJCE6gU6-E
|